ติ๊ก แสนบุญ (เขียนรูปและเล่าเรื่อง)
การสร้างสรรค์โดยเฉพาะรูปลวดลาย ผ่านเทคนิคการวาดหรือการขูดขีดเขียนเป็นลายเส้น หรือการแกะควักปั้นก่อเป็นรูปร่างนูนต่ำนูนสูงรวมถึงลอยตัว ถือเป็นทักษะพิเศษอย่างหนึ่งแห่งอารยธรรมของความเป็นมนุษย์ อันเป็นวิธีการหนึ่งของการเขียนบันทึกบอกเล่าด้วยลายมือเป็นภาษาภาพภาษารูปมีทั้งแบบสองมิติ หรือสามมิติ
เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือสื่อกลางในการถ่ายทอดประสบการณ์วิถีความคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเพณีแห่งลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณ หรือจะเป็นเรื่องในการใช้ชีวิตปกติ ผ่านเทคนิคกรรมวิธีด้วยการเขียนเป็นรูปร่าง รูปภาพ รูปอักษร หรือสัญลักษณ์ที่รูปเป็นภาพ เพื่อใช้สื่อความหมายโต้ตอบและบอกเล่า อันมีนัยยะความหมายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างมีเป้าหมายในลักษณะอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ทั้งนี้อาจใช้เทคนิคอื่นๆ มาเสริม เช่น การลงสี มาเสริมเติมแต่งให้เกิดความสวยงามเสมือนจริงตามจินตนาการและนัยยะความหมายที่แฝงเร้น สร้างภาพลักษณ์ สภาวะแห่งความชอบธรรมให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น จากแต่เดิมที่เราอาศัยเพียงเครื่องมือขั้นต้นที่คนเราใช้ในการสื่อสารกันก็คือเสียงและท่าทาง ครั้นเมื่อคนมีพัฒนาการทางความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงเรียนรู้เพื่อจะสื่อสารปะทะสังสรรค์กับบริบทแวดล้อมสิ่งต่างๆ ผ่านรูปรอยสัญญะและรวมถึงสีสันทั้งหมดเพื่อการสื่อสาร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามนุษย์ถือระบบสัญลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญในลัทธิความเชื่อ ที่จะกำหนดความเป็นไป และเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมทางสังคมในแง่ของจิตวิญญาณ โดยในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะราวพุทธศตวรรษที่ 9 ดินแดนในภูมิภาคเอเชียคงรับวัฒนธรรมทางศาสนาเข้ามาแล้ว แต่หลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่พบส่วนใหญ่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 ลงมา ความมีพื้นฐานทางศาสนาร่วมกัน ศิลปกรรมระยะแรกๆ ของดินแดนแถบนี้ที่รับวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่ ลังกา ขอม ชวา พม่า ไทย จาม ซึ่งเป็นชาติโบราณในดินแดนของเวียดนามในปัจจุบัน และจีน จึงมีเค้าโครงเดียวกัน (สันติ เล็กสุขุม. กระหนกในดินแดนไทย. 2545, น. 11.)
จนกระทั่งบ้านเมืองสังคมชุมชนพัฒนาเป็นรัฐชาติ มีพื้นที่การเมืองสังคมวัฒนธรรมที่ชัดเจนขึ้น รูปลวดลายเหล่านั้นก็พัฒนาตัวเองตามบริบทเฉพาะถิ่นแยกแตกหน่อเป็นสกุลช่างของตนเอง เรียกขานตามนิยามให้ล้อกับการเมืองเรื่องวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นลายลาว ลายไทย ลายเขมร ลายญวน ลายมลายู เป็นต้น และเข้มข้นมากขึ้นในบริบททางการเมืองยุคอาณานิคม ที่ช่วงชิงแสวงหาอัตลักษณ์แห่งตัวตนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการต่อรองกับอำนาจทางการเมือง
ศาสนาผี-พุทธ ในแถบถิ่นสุวรรณภูมิ ระบบความเชื่อในการเคารพบูชาผี ถือเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแถบถิ่นนี้ซึ่งมีมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ของคนในยุคปฏิวัติเทคโนโลยี ก่อนรับศาสนาพราหมณ์และพุทธ โดยศาสนาพราหมณ์-พุทธ ทำให้ศาสนาผีที่เชื่อกันมาแต่เดิมถูกปราบปรามลงเป็นบริวาร เช่น ผีนาค ซึ่งกลายมาเป็นบริวารผู้พิทักษ์ศาสดาในศาสนาพราหมณ์และพุทธในที่สุด ดั่งปรากฏคติการสร้างสรรค์งานช่างทางศาสนาที่มีรูปนาค เป็นสัญญะสำคัญอยู่ตามส่วนตกแต่งศาสนาคารในฐานะบริวารผู้ปกป้องคุ้มครอง ฯลฯ
แต่ผีสำคัญบางตนมีอำนาจยั่งยืนมั่นคงจนปราบไม่ได้ก็ถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาจากชมพูทวีป เช่น ผีแถน ถูกทำให้เป็นพระอินทร์หรือเทวดา แล้วเรียกเป็นผีฟ้า เป็นต้น (สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย. 2549, น. 77.)
รูปลวดลายในศาสนาผี ถือเป็นพัฒนาการแรกๆ ในการสร้างสมรูปลวดลาย แม้จะมีจุดมุ่งหมายในการเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสาร เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงผาต่างๆ หรือรูปลวดลายที่อยู่ตามเครื่องหม้อเครื่องปั้นดินเผา ที่ทำเป็นลวดลายขวัญอย่างที่ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้อธิบายว่าลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียงเป็นลายวงๆ วนเวียนซ้อนกันคล้ายก้นหอยเป็นลายขวัญ เสมือนมีขวัญของคนตายอยู่ในหม้อใบนั้น และยังรวมถึงรูปลายเส้น ลายทอผ้า ลายสลัก จักสาน ลายแต้ม ต่างล้วนเกี่ยวข้องกันมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปี โดยผลงานเหล่านี้เป็นงานช่างของสังคมชุมชน ซึ่งแตกต่างจากคติการสร้างสรรค์ในสมัยหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งตรงกับของไทยในยุคสมัยอยุธยาถึงสมัยธนบุรีที่เป็นการสร้างสรรค์ในเชิงปัจเจก
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี