กรุงเทพมหานคร ปี 2565 แม้จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคไวรัสโควิด แต่ความคลาสสิคของสถานที่หลายแห่งยังคงเป็นนิรันดร์ ไปเดินกี่ครั้งกี่ครั้งก็ยังมีเสน่ห์ เช่นเดียวกับ “ท่าน้ำราชวงศ์” และ “ถนนทรงวาด” ในเวลานี้
ย้อนกลับไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจาก “กรุงธนบุรี” ฝั่งตะวันตก มายัง “บางกอก” ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2325 และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ โดยให้ย้ายชาวจีนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่จะสร้างพระบรมหาราชวังออกไปอยู่นอกกำแพงพระนคร ซึ่งก็คือย่านวัดสามปลื้ม หรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส นั่นเอง และหลายๆ ปีต่อมา บริเวณย่านนี้ได้ขยายออกไปจนถึง คลองวัดสำเพ็ง หรือ คลองวัดปทุมคงคาฯ หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “สำเพ็ง”
รู้กันอยู่ว่าธรรมชาติของคนจีนเก่งกาจในเรื่องค้าขาย เมื่อย้ายมาตั้งบ้านเรืออยู่อาศัยก็ถือโอกาสค้าขายไปด้วย โดยอาศัยคลองรอบกรุงและคลองในบริเวณสำเพ็งในการสัญจรไป-มา และค้าขายขนส่งสินค้าดำเนินวิถีชีวิตผ่านคลอง ผ่านตรอกซอกซอยเล็ก ๆ ที่ลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกัน ชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในย่านนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความแออัด กระทั่งเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็งเมื่อพ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน “ทรงวาด” เพิ่มขึ้นมา ลดความแออัดของสำเพ็ง
ถนนทรงวาด อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายนำเข้า-ส่งออกสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะทางน้ำมี “ท่าน้ำราชวงศ์” ที่เป็น “ท่าเรือ” สำคัญในประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต เนื่องจากท่าน้ำราชวงศ์ เป็นทั้งช่องทางในการขนส่งสินค้าจากสยามออกสู่ตลาดโลก และเป็นท่าเรือที่พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ
หากเดินลัดเลาะชมวิวสองฟากถนนทรงวาด แม้จะคับคั่งด้วยการจราจร ขนส่ง แต่สถาปัตยกรรมของตึกรามบ้านช่อง ตึกแขก ลวดลายฉลุไม้แบบเรือนขนมปังขิง ซุ้มหน้าต่างทรงโค้งแหลมแบบโกธิค ลวดลายปูนปั้น ช่องลม เป็นสิ่งที่น่าดูและเพลิดเพลินตาเป็นอย่างมาก ด้วยปรากฏร่องรอยของอิทธิพลตะวันตกผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวจีน ซึ่ง “ขวัญสรวง อติโพธิ์” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายว่ากลุ่มอาคารและเส้นทางสัญจรในย่านนี้ถูกออกแบบให้สามารถลัดเลาะไปมาถึงกันในลักษณะของโครงข่ายใยแมงมุม ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบสนองกับสถานะความเป็นเมืองการค้า ฉะนั้น เขตชุมชนจากถนนทรงวาดสามารถทะลุสู่ถนนเยาวราช และเต็มไปด้วยตรอก ซอก ซอย จำนวนมาก ทำให้อาคารทุกหลังมีเส้นทางผ่านเชื่อมถึงกัน
เมื่อไปยืนที่หัวมุมถนนทรงวาดฝั่งที่ติดกับถนนราชวงศ์ จะเห็น “วัดจักรวรรดิราชาวาส” หรือ “วัดสามปลื้ม” ส่วนอีกฝั่ง ถนนทรงวาดติดกับถนนเจริญกรุง มี “วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร” หรือ “วัดสำเพ็ง” ล้วนเป็นวัดเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ใจกลางถนนทรงวาดยังมี “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” มัสยิดแห่งเดียวในย่านชุมชนจีน ห่างจากมัสยิดไม่กี่ร้อยเมตร ก็มี “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง” ศาลเจ้าจีนสมัยรัชกาลที่ 5 ศาสนสถานเหล่านี้หลายแห่งมีมาก่อนถนนทรงวาด บางแห่งเกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่ก็สะท้อนเอกลักษณ์สำคัญของถนนทรงวาด นั่นคือ การอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของสังคมที่ยึดโยงกันด้วยการค้าขาย ไม่ว่าชาวจีน แขกเปอร์เซีย หรือชาติตะวันตก
ร้านค้าของชาวจีนในถนนทรงวาดในอดีต จินตนาการตามคำบอกเล่าของ “ณรงค์ แซ่จิว” หรือคนท้องถิ่นเรียกว่า “เฮียกุ๋ย” ระบุถึงภาพของย่านนี้ ว่า โรงสีข้าวในอดีตจะตั้งสำนักงานในซอยที่ชาวจีนเรียกว่า “บีโกยห้วย” ปัจจุบันยังหลงเหลือเพียงชื่อ “ตรอกข้าวสาร” เป็นร่องรอยของความเฟื่องฟูของการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และยังมี “เตี่ยลงถั่ง” หรือ เกาะกระทะ ย่านที่ตั้งของโรงงานกระทะ “หวงโหลวโกย” หรือ ซอยเตา ย่านที่ผลิตและขายเตา ไปจนถึง “ก๊อกเต็ง” คือ ย่านขายโคมไฟ เป็นภาพรวมของธุรกิจที่เกิดขึ้นในย่านนี้
เมื่อเจาะลงไปยังสถานที่แต่ละแห่งในพื้นที่นี้ มีเรื่องราวน่าสนใจ น่าตามไปค้นหามากมาย เริ่มตั้งแต่ “วัดปทุมคงคาฯ “ หรือ “วัดสำเพ็ง” เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีข้อความระบุถึงชื่อ “วัดสามเพ็ง” ว่า “…ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…” คำว่า “สามเพ็ง” เป็นทั้งชื่อคลองและชื่อวัด โดยทั่วไปแล้วคนจะคุ้นกับคำเรียก “วัดสำเพ็ง” มากกว่า แต่เดิมในอดีต วัดปทุมคงคาฯ มีคลองในบริเวณใกล้เคียงเขตวัด กระทั่งเมื่อตัดถนนทรงวาดแล้วช่วงราว พ.ศ. 2450 คลองเขตวัดเริ่มลดบทบาทลงและตื้นเขินไป ในหนังสือประวัติวัดปทุมคงคา พ.ศ. 2514 เขียนเล่าไว้ว่าเมื่อก่อนจะตัดถนนทรงวาด หากจะมาวัด ต้องมาทางถนนราชวงศ์ หรือท้องสำเพ็ง ถ้ามาทางถนนเจริญกรุง ต้องเข้าตรอกข้าวหลาม วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) หรือกรมเจ้าท่า แล้วข้ามคลองวัดปทุมคงคาจึงจะเข้ามาถึงวัด นอกจากนี้ก่อนที่มีถนนทรงวาดยังมีคลองเขตวัดรอบไปจดคลองผดุงกรุงเกษม
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับสำเร็จโทษเจ้านายหลายพระองค์ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ภายในวัดมี “แท่นหินสำเร็จโทษเจ้านาย” อยู่ โดยพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีบันทึกเรื่องการสำเร็จโทษ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ด้วยท่อนจันทน์ที่แท่นหินประหาร เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2391 วัดปทุมคงคายังเป็นจุดที่ลอยพระอังคารของพระบรมศพเจ้านาย ภายหลังจากพระราชพิธีพระบรมศพในสมัยก่อน เมื่อเก็บพระบรมอัฐิแล้ว จะอัญเชิญพระอังคารลงเรือ มีกระบวนแห่มาลอยพระอังคารที่หน้าวัดปทุมคงคา ไม่ใช่แค่ลอยพระอังคารเท่านั้น ในสมัยอยุธยา เมื่อช้างเผือกล้ม จะมีพิธีแห่ลากช้างเผือกมาถ่วงน้ำที่วัดปทุมคงคา ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร กรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) อีกด้วย
วัดจักรวรรดิราชาวาส เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดนางปลื้ม” สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเรียก “วัดสามปลื้ม” ตามประวัติกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร ว่า “…พ.ศ.2343 วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น 8 ค่ำ เวลา 5 โมงเย็น เกิดเพลิงไหม้ ที่วัดสามปลื้ม ตลอดลงไปถึงตลาดน้อยวัดสำเพ็ง” (วัดปทุมคงคา) ตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ต่อมาจนถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น สิงหเสนี) ได้เป็นผู้เริ่มปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม แต่ยังไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน…ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ผู้เป็นบุตร จึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ต่อ โดยมอบให้บุตรชายคนโต ชื่อ นายเกต (เจ้าพระยามุขมนตรี) เป็นผู้อำนวยการสร้าง จากด้านเหนือเข้ามาทางด้านใต้ และให้บุตรชายคนรอง ชื่อ นายแก้ว (เจ้าพระยายมราช) เป็นผู้อำนวยการสร้าง จากด้านใต้เข้าไปหาด้านเหนือ บรรจบกันตรงกลาง มีการสร้างพระอุโบสถ เสนาสนสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ตลอดจนขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาจนถึงสระน้ำซึ่งขุดไว้ใช้ภายในวัด…” (ปัจจุบันคลองถูกถมเป็นถนนเส้นกลางวัดแล้ว)
เมื่อก่อสร้างเสร็จได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดราชบุรณะบ้าง วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์ฯ) ท่าเตียนบ้าง มาจำพรรษา และน้อมเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานนามใหม่ ว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร” สิ่งพิเศษของวัดนี้ คือ พระวิหาร หันหน้าไปทางทิศใต้ หันหลังให้พระอุโบสถผิดกับวัดอื่นๆ ส่วนสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ห้ามพลาดเป็น “วิหารพระบาง” สร้างเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง ซึ่งนำมาจากเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และพระบางถูกนำคืนที่เดิมคือ เมืองหลวงพระบาง ปัจจุบันนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระนาก จากพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ยังมี มณฑปพระพุทธบาท ซึ่งแต่เดิมเมื่อแรกสถาปนาวัด เจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้ขุดสระและสร้างหอไตรลงไว้กลางสระ ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หอไตรชำรุดทรุดโทรม เจ้าอาวาสองค์ที่ 6 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นพระวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เมื่อประมาณปี พ.ศ.2434 ส่วนสระก็ปรับเปลี่ยนเป็นสระจระเข้ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นวัดแห่งเดียวที่เลี้ยงจระเข้
ถัดมาคือ “โบสถ์กาลหว่าร์” เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวนหนึ่ง อพยพมาตั้งบ้านเรือนภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ได้สร้างขึ้นใช้ชื่อตามภูเขาที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ว่า “กาลวารีโอ” และต่อมาเรียกขานว่า “วัดกาลหว่าร์” เรียกว่าเป็นวัดคาทอลิกคู่กรุงรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ ย้อนกลับไปเมื่อสมัยทหารพม่าบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา พวกพระสงฆ์โปรตุเกสยอมมอบตัวแก่ทหารพม่า ส่วนพระสังฆราช และพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสถูกจับเป็นเชลย วัดนักบุญยอแซฟถูกทำลาย ทรัพย์สมบัติถูกยึดไป บรรดาคริสตังชาวโปรตุเกสและชาวญวณจำนวนหนึ่งที่รอดจากการถูกจับพากันอพยพลงมายังบางกอก กลุ่มชาวโปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชประมุขมิสซัง ได้นำเอาทรัพย์สมบัติไปด้วย และในบรรดาสมบัติดังกล่าว มีรูปปั้นมีค่ายิ่ง 2 รูป รูปแรก คือ รูปแม่พระลูกประคำ (คือรูปที่ใช้แห่ทุกๆ ปี ในโอกาสฉลองวัดในปัจจุบันนี้) อีกรูปหนึ่ง คือ รูปพระศพของพระเยซูเจ้า (ซึ่งใช้แห่กันทุกปี ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ จนปัจจุบัน) สำหรับอาคารที่เห็นในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นใหม่ในปี 2434 นับเป็นการบูรณะครั้งที่ 3 โดยผนังของโบสถ์หลังใหม่ยังเป็นการก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ ไม่ใช้เหล็กเส้นและเสาเข็ม ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิคที่งดงามมากแห่งหนึ่ง
อาคารที่ทำการธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย “บุคคลัภย์” (Book Club) เป็นอีกแห่งที่น่าติดตามค้นหา อาคารแห่งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยที่จะให้มีสถาบันการเงินของสยาม เป็นฐานรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจการเงิน จึงทดลองจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ในปี 2447 โดยใช้ชื่อ “บุคคลัภย์”(Book Club) เปิดดำเนินการวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการ ประกอบด้วยพนักงานจำนวน 18 คนรับเงินฝาก ซึ่งกำหนดจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ปรากฏว่ามีเงินฝากที่ระดมได้เป็นจำนวน 80,000 บาทเศษ ในเวลาอันสั้นนี้เมื่อนำมารวมเข้ากับทุนของบุคคลัภย์แล้ว ได้นำไปให้กู้ยืมในธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งก่อสร้างและรับจำนองเป็นส่วนใหญ่ บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจและทางราชการนิยมใช้บริการกันอย่างมาก มื่อกิจการประสบความสำเร็จรุ่งเรือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารในนาม“บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” ต่อมาอาคารเดิมคับแคบจึงซื้อที่ดินย่านตลาดน้อยติดกับสำเพ็ง สร้างอาคารใหม่เปิดทำการใน พ.ศ. 2453 นับเป็นธนาคารแห่งแรกและสาขาแรกของประเทศไทย ต่อมาพัฒนาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ตั้งอยู่ถนนทรงวาด ใช้ชื่อตามผู้ก่อตั้งมัสยิดคือ หลวงโกชาอิศหาก (เกิด บินอับดุลลาห์) และเป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนจีน ก่อตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันหลวงโกชาอิศหาก ชื่อเดิม เกิด บินอับดุลลาห์ เป็นบุตร ของหวันมูซา กับนางจุ้ย ชาวเมืองไทรบุรี (ขณะนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย) หลวงโกชาอิศหากเข้ารับราชการตําแหน่งล่ามมลายู กรมท่าขวา ทําหน้าที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทําการค้าขายกับกรุงสยาม หรือบรรดาประเทศราชแหลมมลายูที่มาถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจําทุกปี
หลวงโกชาอิศหากรู้จักและคุ้นเคยกับบรรดาชาวต่างชาติทั้งหลายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่มาติดต่อค้าขายทางเรือกับประเทศไทย ขณะนั้นท่าจอดเรือในกรุงเทพฯ จะอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มตั้งแต่บางรักไปถึงท่าราชวงศ์ ชาวต่างประเทศที่นับถืออิสลามจึงขอร้องให้จัดหาที่สําหรับทําการละหมาด จะได้ไม่ต้องเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดไกลๆ เนื่องจากการคมนาคมลําบากมาก หลวงโกชาอิศหากจึงจัดหาซื้อที่ดินได้แปลงหนึ่งมีเนือ้ที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเรือที่ชาวต่างชาติจอดเรือขนถ่ายสินค้า จัดสร้างเรือนไม้เล็กๆ เรียกว่า “บ้านแล” พอเป็นที่ละหมาดเท่านั้น ยังไม่มีความสะดวกสบาย ต้องเดินบนสะพานเล็กๆ ข้ามร่องสวนเจ้าไป (เวลานั้นยังไม่มีถนนทรงวาด) ต่อมาบ้านแลเริ่มทรุดโทรม มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงโกชาอิศหากตั้งใจจะสร้างมัสยิดให้มั่นคงถาวร จึงเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองจากลูกหลานที่มีฐานะมั่งคั่ง รวมกับเงินทองส่วนตัว สร้างเป็นอาคารทรงยุโรปตามสมัยนิยมขณะนั้น ส่วนพื้นที่ด้านหลังทำเป็นกุโบร์สำหรับฝังศพประมาณ 1 ไร่ ปัจจุบันการบริหารงานของมัสยิดดำเนินการโดยบุคคลในสกุล “มันตรัฐ” ซึ่งเป็นเชื้อสายของหลวงโกชาอิศหาก ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณสําเพ็งและเยาวราชจะเข้ามาร่วมกันทําละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้
ศาสนสถานที่กล่าวมานี้ สะท้อนถึงความหลากหลายของคนในพื้นที่ย่านถนนทรงวาด สำเพ็ง หรือบริเวณท่าน้ำราชวงศ์ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต คอยให้ผู้คนค้นหา แวะเวียนไปเยี่ยมเยือน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี