รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนถึงลูกปัดในคำนำเสนอหนังสือ มนต์เสน่ห์แห่งลูกปัด ของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พ.ศ.2550 ตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่ข้าพเจ้าสนใจลูกปัดนั้น ก็มีคนสนใจสะสมลูกปัดกันบ้างแล้ว มีแหล่งโบราณคดี2แห่งที่มีผู้ไปเที่ยวหาลูกปัดโดยซื้อจากชาวบ้าน คือที่เมืองอู่ทอง ในเขตจ.สุพรรณบุรี กับเมืองศรีมโหสถ อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี ทั้ง2แห่งเป็นเมืองในสมัยทวารวดี การสะสมลูกปัดในระยะแรกนี้จึงเป็นเรื่องของการสะสมโบราณวัตถุสมัยทวารวดีเป็นสำคัญ
แต่สำหรับข้าพเจ้าได้ให้ความสนใจในเรื่องอายุไปถึงสมัยก่อนทวารวดี คือ สมัยฟูนัน ด้วยการนำเอาลูกปัดที่พบทั้งที่อู่ทองและศรีมโหสถไปเปรียบเทียบกับรูปแบบที่พบที่เมืองออกแอวอันเป็นเมืองท่าสำคัญของฟูนันแถวปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม
ภายหลังมาก็มีคนสนใจและแสวงหาลูกปัดทวารวดีเพิ่มขึ้นจนมีขบวนการของพ่อค้าและคนเที่ยวขุดของเก่าไปกระตุ้นชาวบ้านให้พากันขุดค้นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอายุแต่สมัยลพบุรีและทวารวดีเพื่อนำมาขาย…ขยายขึ้นไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคก่อนเหล็กและยุคเหล็ก เพราะพื้นที่ในการขุดหานั้นไม่ใช่เมืองโบราณสมัยทวารวดี หากเป็นบรรดาที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ เพราะบรรดาลูกปัดนั้นนับเนื่องเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของคนตาย ผิดกับลูกปัดทวารวดี-ลพบุรี ที่พบกระจายกันอยู่ตามผิวดินและเนินดินอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพื้นที่พิธีกรรมในศาสนา
ภาพจากหนังสืออู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน
ภาพจากหนังสืออู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน
ภาพจากหนังสืออู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน
อ.ศรีศักร กล่าวถึงลูกปัดในพื้นที่อู่ทอง-บ้านดอนตาเพชร ว่า ลูกปัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะยุคเหล็กที่ข้าพเจ้าเรียกว่าสมัยสุวรรณภูมินั้น มีขนาด สีสันและคุณสมบัติดีกว่า สวยกว่าลูกปัดในยุคหลังๆมาก เพราะหลายชนิดทำจากหินกึ่งรัตนชาติเนื้อน้ำงามๆ รวมทั้งมีการตกแต่งผิว ประดิษฐ์เป็นสีสลับในทางที่เป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันในนามว่า Etched Beads สีสวยที่สุดแต่เฮี้ยนที่สุดคือลูกปัดที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร เพราะผู้ใดที่ครอบครองมักประสบกับเหตุภัยถึงขั้นเจ็บป่วยและเสียชีวิตเลยทีเดียว
ด้วยความกลัวในเรื่องอาถรรพ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าเลิกสนใจลูกปัดโบราณเพราะไม่รู้ว่ามาจากหลุมศพหรือเปล่า ที่มีอยู่เล็กน้อยก็ไม่เอาเข้าบ้าน แต่ข้าพเจ้ากลับให้คุณค่าของลูกปัดในเชิงวิชาการมากกว่า เพราะเท่าที่ค้นคว้ามาลูกปัดก็เป็นเครื่องประดับที่เกิดขึ้นทั้งความรู้สึกสวยงามและความเชื่อในเรื่องโชคลางของมนุษย์ในแทบทุกสังคมที่พัฒนาขึ้นทั่วโลก ลูกปัดมักจะเป็นของที่ทำจากวัตถุที่มีคุณค่าและหายากในแต่ละยุคแต่ละสมัยและแต่ละท้องถิ่น
ภาพจากหนังสืออู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน
ภาพจากหนังสืออู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน
เช่นในยุคหิน ก็มักจะทำจากกระดูกสัตว์ เขาสัตว์ หรือเปลือกหอย พอมาถึงยุคก่อนเหล็ก เช่น ในดินแดนประเทศไทยก็นิยมทำจากเปลือกหอยทะเลและกระดูกปลาจากทะเลลึก ครั้งยุคเหล็ก จึงเริ่มทำด้วยแก้ว หินอ่อนและหินกึ่งรัตนชาติ
แต่ที่สำคัญคือ ตั้งแต่ยุคเหล็กลงมา ลูกปัดหาได้มีคุณสมบัติเป็นเครื่องประดับและเครื่องรางอย่างเดียวไม่ หากเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนคล้ายเงินตรา จึงมีการเคลื่อนย้ายข้ามถิ่นข้ามทะเลกัน เห็นได้จากบรรดาลูกปัดที่พบในเขตเมืองอู่ทองและแหล่งโบราณคดีต่างๆในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา