วัดเทวราชกุญชร
เดิมทีเคยนึกสงสัยว่าทำไมวัดนี้จึงมีชื่อ “เทวราชกุญชร” ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าเข้าไปสำรวจภายในวัด จากประวัติของวัดทำให้ทราบว่า “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” อยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ติดกับตอนโค้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตท่าวาสุกรี ยังมีส่วนที่ติดกับปากคลองผดุงกรุงเกษม และตลาดเทวราชของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกด้วย รวมๆแล้วที่ดินที่ตั้งวัดมีทั้งหมด 20 ไร่
ในสมัยรัชกาลที่ 1 วัดแห่งนี้เป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสมอแครง” เล่ากันว่าเพราะมี “ต้นสมอ” มาก บ้างก็สันนิษฐานว่า “สมอ” เพี้ยนมาจากคําว่า “ถมอ” (ถะมอ) เป็นภาษาเขมรแปลว่า หิน คงเรียกกันครั้งแรกว่า “ถมอแครง” แปลว่า “หินแกร่ง” สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมาสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของรัชกาลที่ 1 (ต้นสกุลมนตรีกุล) ทรงบูรณะต่อ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 (ต้นราชสกุลกุญชร) ทรงอุปถัมภ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระโอรสทรงอุปถัมภ์ต่อ หลังจากนั้นเจ้านายผู้สืบสกุล “กุญชร” ให้ความอุปถัมภ์กันมาอย่างต่อเนื่อง
เอกสารในหอสมุดแห่งชาติ มีข้อความว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏชัดว่าวัดสมอแครงใช้เป็นสถานที่ฌาปนกิจศพของขุนนางฝ่ายวังหน้า เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตกําแพงพระนคร และเป็นวัดในเขตความรับผิดชอบของวังหน้า ดังมีข้อความว่า “…ด้วยพระยาธารมารับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าจะได้ชักศพจมื่นจงขวา บ้านอยู่ ณ คลองบางลําพู บ้านพระอาลักษณ์วังหน้าไป ณ เมรุวัดสมอแครง ณ วันแรม 6 ค่ํา เดือน 6 เพลาเช้า ครั้นเพลาบ่าย จะพระราชทานเพลิงนั้นให้ชาวพระคลังวิเสทรับเลกต่อพระสัสดี ต่อพันพุฒ พันเทพราช 20 คน ถอยเอาเรือขนานลําหนึ่งไปรับศพที่บ้าน….”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณะซ่อมแซมวัดสมอแครงอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏหลักฐานในราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่าเจ้าพระยาจักรีมีสารตราไปถึงพระยาพิษณุโลก พระยาสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิชัย พระยาพิจิตร พระยาแก้วกําแพงเพชร พระยาตาก พระยานครสวรรค์ พระยาเถิน ให้เกณฑ์ตัดไม้ขอนสักซ่อมแซมวัดมหาธาตุ วัดพรหมสุรินทร์ และวัดสมอแครง สาเหตุที่ต้องบูรณะวัดสมอแครง เนื่องจากพระอุโบสถเดิมมีขนาดไม่เพียงพอต่อการทําสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ จึงโปรดเกล้าให้ขยายพระอุโบสถให้กว้างขึ้น
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยคําว่า “เทวราช” แปลว่า “พระอินทร์” มานําหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งแปลว่า ช้าง รวมความแล้วแปลว่า “ช้างพระอินทร์” ต่อมารัชกาลที่ 9 พระราชทานนามพระประธานในพระอุโบสถว่า “พระพุทธเทวราชปฏิมากร”
หากใครมีเวลาว่างสักหนึ่งวัน อยากชวนไปละเลียดความงามของสถาปัตยกรรมที่วัดนี้และทำบุญทำกุศลกัน เนื่องจากเป็นวัดที่สวยงามและทรงคุณค่ามากมาย พอจะไกด์เป็นตัวอย่าง ดังนี้
1.พระอุโบสถสง่างามผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและอยู่ในสภาพที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี ตกแต่งด้วยสีน้ำเงินทะเลเป็นหลัก พระอุโบสถมีกําแพงแก้วล้อมรอบ ที่มุมกําแพงมีเจดีย์ทั้ง 4 มุม ด้านทิศเหนือมีวิหาร ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นศาลาราย
2.พระประธานในพระอุโบสถ “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมาวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดีผสมอู่ทอง หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร สูงตั้งแต่พระเพลาถึงยอดเปลวรัศมี 5.65 เมตร ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธรูปองค์นี้ เล่าว่าในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงทราบมาว่ากรุงศรีอยุธยาพบพระทององค์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิทักษ์เทวศรไปอัญเชิญลงมายังพระนคร เมื่อต่อแพเชิญพระพุทธรูปล่องลงมา ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์ แพเกิดดื้อ ฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตําหนักแพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธรูปนี้ขึ้นที่วัดสมอแครง สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยที่มาของพระพุทธรูปนี้ว่า สังเกตเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปหล่อที่เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นลักษณะแบบพระสมัยทวารวดี แต่องค์พระเป็นแบบกรุงรัตนโกสินทร์ สืบตามได้ความว่า
พระประธานองค์นั้น กรมพระพิทักษ์เทเวศรเชิญลงมาจากเมืองลพบุรี เข้าใจว่าคงได้แต่เศียร มาหล่อองค์ที่ในกรุงเทพฯ “…หม่อมฉันจําขนาดไปตรวจดูที่เมืองลพบุรี เมื่อภายหลัง ก็พบกับแหล่งเดิมว่าเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ วัดอื่นหามีที่ตั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่านั้นไม่…”
3.พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างสมัย จํานวน 9 องค์ ดังนี้ พระปางสมาธิ ศิลปะสมัยทวารวดี, พระปางสมาธิ ศิลปสมัยลพบุรี, พระปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน, พระปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง, พระปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย, พระปางลีลา ศิลปะสมัยสุโขทัย, พระปางสมาธิ ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, พระปางสมาธิ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง และพระคันธารราษฎร์
4.ศาลาราย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระอุโบสถ มีความสวยงามของสถาปัตยกรรม ภายในมีจิตรกรรมที่เพดานและฝาผนัง บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำ ด้านในเป็นรูปเทวดา ปัจจุบันใช้เป็นศาลารับรองและสถานที่สวดมนต์ อบรมวิปัสสนากรรมฐาน แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ส่วนศาลารายด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์
6.อาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง อาคารทรงปั้นหยาประยุกต์สองชั้นสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส ใช้เสาไม้สักทองทั้งหลัง เพราะเป็นศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์ไม้สักทอง และเผยแพร่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา ภายในยังจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
7.เทวราชธรรมศาลา หรือ ศาลาการเปรียญ ชั้นล่างใช้เป็นที่ทำบุญเลี้ยงพระในเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ส่วนชั้นบนใช้เป็นสถานที่ทำบุญในงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทําบุญวันเกิด ทอดผ้าป่า เป็นต้น
8.เทวราชบรรณศาลา(โรงเรียนพระปริยัติธรรม) เป็นอาคารอนุรักษ์ มีชั้นเดียว สวยงามสะดุดตามาก
9.เทวราชกุญชร กุฏิทรงปั้นหยาสองชั้น สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2475 ใช้เป็นกุฏิของเจ้าอาวาส รูปทรงและโครงสร้างงดงามหาได้ยาก
10.พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นประติมากรรมหล่อด้วยสัมฤทธิ์ สูง 2.50 เมตร ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง มีประชาชนมากราบไหว้บูชาขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลทุกวัน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี