วัดแม่นางปลื้ม
บอกได้เลยว่าคนไหนคนนั้น หากได้เห็นซุ้มประตูทางเข้า “วัดแม่นางปลื้ม” วัดโบราณอีกแห่งในพระนครศรีอยุธยา เป็นชะงักเหมือนโดนมนต์ สะกดต้องก้าวข้ามผ่านเข้าไปภายในวัดแบบไม่รู้ตัว ซุ้มประตูแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปยังกรุงศรีอยุธยาในอดีต ช่วงเวลาที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ไพร่ฟ้าหน้าใส ทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมกันอย่างสุข สงบ โบราณสถานในวัดก็ยังคงแบบโบราณเดิมๆ เป็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางยุคสมัย
วัดแม่นางปลื้ม อยู่นอกเกาะเมือง ฝั่งตรงข้ามตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นบริเวณที่กองทัพอังวะมาตั้งทัพ และตั้งปืนใหญ่ยิงข้ามกำแพงเข้าในพระนครศรีอยุธยา แล้วส่งคนข้ามคลองเมืองไปขุดรากกำแพงป้อม ฝังระเบิดเปิดทางเข้าเมืองเป็นแห่งแรก จนกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ตามประวัติที่วัดขึ้นป้ายบันทึกไว้บอกว่า แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านอยู่ริมน้ำชานพระนครคนเดียว ไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงพายเรือพระที่นั่งมาแต่พระองค์เดียว แล้วเจอพายุฝน เมื่อทอดพระเนตรเห็นเรือนแม่ปลื้มหลังนี้ยังสว่างด้วยแสงไฟตะเกียง จึงเสด็จขึ้นท่าน้ำและพักค้างแรมยังเรือนแม่ปลื้ม แม่ปลื้มกล่าวเชื้อเชิญต้อนรับความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านทรงเสียงดังตามบุคลิกของนักรบชายชาตรี แม่ปลื้มได้กล่าวเตือนว่า
ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเสียงดังนักเลย เวลานี้ค่ำมากแล้วเดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงได้ยินจะโกรธเอา พระองค์กลับตรัสด้วยเสียงอันดังขึ้นอีกว่า ข้าอยากดื่มน้ำจันท์ แม่ปลื้มยิ่งตกใจขึ้นมากอีกเพราะเป็นวันพระ แม่ปลื้มได้กล่าวว่า ถ้าจะดื่มจริงๆ เจ้าต้องสัญญาว่า ไม่ให้เรื่องแพร่หลายเดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินรู้จะอันตราย พระนเรศวรรับปาก แม่ปลื้มจึงหยิบน้ำจันท์ให้กิน(เสวย) สมเด็จพระนเรศวรได้ประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้มจนเช้าได้เสด็จกลับวัง ต่อมาได้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หลังจากแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรจัดงานศพให้สมเกียรติ แล้วสร้างวัดให้ชื่อว่า “วัดแม่นางปลื้ม”
ช่วงก่อนเสียกรุงวัดแม่นางปลื้มเป็นที่ตั้งทัพของพม่าจึงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ถูกเผาทำลายเช่นวัดอื่นๆ ในเกาะเมือง สภาพของวัดจึงยังคงความสวยงามของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
ภายในวิหารของวัดมีพระประธาน คือ “หลวงพ่อขาว” หรือ พระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร องค์สีขาวบริสุทธิ์เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธานับถือ ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์สิงห์ล้อมศิลปะอยุธยา เป็นเจดีย์ยังคงความงดงามเช่นกัน
“อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์” ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นเกี่ยวกับเจดีย์องค์นี้ ว่าเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบในศิลปะยุคก่อน และนับเป็นลักษณะพิเศษที่หาได้ยาก
เจดีย์สิงห์ล้อมนี้เป็นหนึ่งในวัดไม่กี่แห่งที่สภาพของสิงห์ยังสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่าเจดีย์สิงห์ล้อมคงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย ใบหน้าและท่าทางของสิงห์วัดแม่นางปลื้มเทียบเคียงได้กับสิงห์เขมร ส่วนเจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้ม นั้นเป็นเจดีย์ทรงระฆังในยุคต้น ยังมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัย และมีอายุใกล้เคียงกับเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์
อย่างไรก็ดี มีความเห็นจาก “สุจิตต์ วงษ์เทศ” นักประวัติศาสตร์ ว่าวัดแม่นางปลื้ม อยุธยา มีโมเดลหรือหุ่นจำลองสันนิษฐาน แสดงแผนผังศิลปะสถาปัตยกรรมของวัดแรกมีตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา มากกว่า 500 ปีมาแล้ว
แต่…สถานที่ตั้งโมเดลหลบอยู่หลังพุ่มไม้ทางเข้าเขตพุทธาวาส อยู่หน้าห้องน้ำ!! เมื่อเดินผ่านไปไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร? จึงไม่มีใครในละแวกนั้นแวะเข้าไปดู แม้นักท่องเที่ยวก็ไม่ดู อีกด้านหนึ่งเป็นลานจอดรถ มีพุ่มไม้หนาทึบ ปลูกล้อมบอร์ดนิทรรศการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของวัดแม่นางปลื้ม ถ้าอยากดูต้องมุดพุ่มไม้เข้าไปจึงเห็น ถ้าไม่มุดเข้าไป ก็ไม่เห็น
วัดแม่นางปลื้มมีแผ่นป้ายข้อความตั้งไว้ในเขตพุทธาวาสข้างวิหาร ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1920 ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดร้างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะวัดนี้ให้กับแม่ปลื้ม แม้เป็นนิทานซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง แต่สะท้อนอายุเก่าแก่และความสำคัญของวัด แต่ทางวัดไม่ให้ความสำคัญคำบอกเล่าความเป็นมาอย่างนี้ เลยไม่มีใครรู้จักของดีมีอยู่ ที่วัดแม่นางปลื้ม
ปัจจุบันมีสะพานเล็กๆ เดินข้ามไปมาระหว่างฝั่งในเมือง ตรงตลาดหัวรอ กับฝั่งนอกเมืองตรงวัดแม่นางปลื้ม ถ้าจะทำเส้นทางทอดน่องท่องเที่ยวโดยมีป้ายและแผงนิทรรศการบอกเล่าเหตุการณ์ย่อๆ ก็จะดีวิเศษยิ่ง !!
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี