เก๋งนุกิจราชบริหารสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่ประทับแบบจีน แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงดำเนินการต่อจนเสร็จสมบูรณ์ และทรงใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จมาค้างแรมในวังหน้า
ปัจจุบันเก๋งจีนนี้ตั้งอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ติดกับพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์วัติ พระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งภายในตำหนักได้จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ เครื่องที่ประทับของพระองค์ และมรดกทรงคุณค่า โดยลักษณะเก๋งจีนจะเป็นหลังเล็กสีขาวเรียบง่าย แต่ด้านในอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดของจิตรกรรมภาพเขียนจีน เรื่อง “ห้องสิน” ที่บอกเล่าถึงอิทธิพลจีนต่อราชสำนักสยามในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมจีนอิงพงศาวดาลอย่าง สามก๊ก และ ห้องสิน ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
จิตรกรรมฝาผนังภายในเก๋งจีน มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ห้องสิน ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ เฟิงเฉิน เป็นนวนิยายของประวัติศาสตร์จีน ซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วงราชวงศ์หมิง จัดอยู่ในประเภทนิยายเทพปกรณัมจีน มีการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อโค่นล้มพระเจ้าติวอ๋อง (โจ้วหวัง) กษัตริย์ราชวงศ์ชางแห่งราชธานีจิวโก๋ (เฉาเกอ) ซึ่งปกครองอย่างโหดร้าย โดยเจ้าเมืองไซรกี (ชีฉี) ได้แข็งเมืองตั้งตนเป็นพระเจ้าบูอ๋อง (อู่หวัง) แห่งราชวงศ์โจว โดยมีเมืองต่าง ๆ มาเข้าร่วมจำนวนมาก และได้บัณฑิตเกียงจูแหย (เจียงจื่อหยา) มาเป็นผู้นำทัพในการรบกับติวอ๋อง อีกทั้งมีเทวดาและเทพปกรณัมจีนมากมายมาช่วยรบทั้งสองฝ่าย ก่อนศึกครั้งนั้นอาจารย์เทพของเกียงจูแหยได้มอบบัญชี “ห้องสินปัง” เป็นรายชื่อผู้ที่จะต้องตายในการรบ 365 คน โดยให้เกียงจูแหยนำไปตั้งศาลรักษาไว้ เรียกว่า “ห้องสินไต้” เมื่อผู้ใดตายลง ดวงวิญญาณ ก็ไปสถิตอยู่ ณ ที่นั้น และเมื่อครั้นสงครามสิ้นสุดด้วยชัยชนะของบูอ๋อง เกียงจูแหยจึงทำพิธีสถาปนาดวงวิญญาณทั้ง 365 ดวงขึ้นเป็นเทวดา โดยถ้าเป็นฝ่ายติวอ๋องถือว่ามีความซื่อสัตย์ต่อเจ้านายเป็นความชอบ แต่ถ้าเป็นฝ่ายบูอ๋องถือว่ามีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเป็นความชอบ
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี