Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เทวรูปพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร

เทวรูปพระอิศวร

พระอิศวร หรืออีกชื่อหนึ่งคือพระศิวะ เป็น 1 ใน 3 เทพเจ้าสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งได้แก่ พระอิศวร (ศิวะ) เป็นผู้ทำลาย พระนารายณ์ (วิษณุ) เป็นผู้รักษา และพระพรหม ในฐานะผู้สร้าง รวมแล้วเรียกว่า “ตรีมูรติ” โดยเรื่องราวของพระอิศวรนั้นปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งก็กล่าวถึงประวัติ และเรื่องราวในปกรณัมที่แตกต่างกันออกไป บางตำนานกล่าวว่า พระองค์ถือกำเนิดเอง บ้างก็กล่าวว่าทรงกำเนิดออกมาจากพระนลาฏของพระพรหม บ้างก็เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นเทพสูงสุด อย่างไศวนิกาย เป็นต้น

ในประเทศไทยได้พบรูปเคารพหรือประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระอิศวรมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยและเป็นที่นิยมนับถือต่อเนื่องกันมาทุกยุคทุกสมัย โดยปรากฏรูปเคารพทั้งในรูปของมนุษย์และ “ศิวลึงค์” อันเป็นรูปแทนสัญลักษณ์ของพระองค์

จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร ทำให้ทราบว่าที่เมืองกำแพงเพชรนั้นปรากฏเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ ศาลพระอิศวร โดยที่แห่งนี้ได้พบเทวรูปพระอิศวร หล่อด้วยสำริด สูง 210 เซนติเมตร เป็นงานประติมากรรมในศิลปะอยุธยาที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรแบบบายน โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ที่รอบฐานมีจารึกระบุถึง มหาศักราช 1432 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2053 อันเป็นปีที่เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชได้ประดิษฐานเทวรูปนี้ขึ้นมา เพื่อให้คุ้มครองมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในเมืองกำแพงเพชร และยังกล่าวถึงการกระทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งซ่อมแซมวัดวาอาราม ขุดลอกคลองชักส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงที่เมืองบางพาน ทั้งนี้เพื่ออุทิศถวายพระมหากษัตริย์อยุธยา 2 พระองค์ คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นพระองค์หนึ่ง ส่วนอีกพระองค์หนึ่งอาจหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรืออาจหมายถึงพระอาทิตยวงศ์ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ถัดมา มีพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร)

เทวรูปองค์นี้ถือเป็นประติมากรรมชิ้นเอก และหนึ่งในโบราณวัตถุที่ต้องชมเมื่อมาเยือนเมืองกำแพงเพชร เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และงานศิลปกรรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาการของการหล่อโลหะในสมัยโบราณเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้วอีกด้วย 

ลักษณะของเทวรูป เป็นเทพบุรุษหล่อด้วยสำริด ประทับยืน มีพระเศียรเดียว และมี 2 พระกร พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงทั้ง 2 ข้างเชื่อมต่อกัน พระเนตรเบิกโต พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง ทั้งยังมีพระทาฐิกะ (เครา) เป็นรูปสามเหลี่ยม ที่กลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สามอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระองค์ ซึ่งตามตำนานเมื่อพระเนตรที่สามเปิด จะเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์ขึ้นมา

สำหรับเครื่องทรงมีการสวมกระบังหน้า เกล้าพระเกศา (ผม) เป็นรูปทรงกระบอกโดยมีอุณาโลมอยู่ด้านหน้า ที่พระกรรณมีกุณฑลทั้ง 2 ข้าง ด้านข้างพระเศียรมีกรรเจียกหรือครีบยื่นออกมาเหนือพระกรรณ อีกทั้งยังสวมกรองศอที่ประดับลายประจำยามและมีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยลงมา ท่อนบนส่วนพระวรกายคล้องสายยัชโญปวีต ซึ่งแสดงถึงความเป็นนักบวชหรือวรรณะพราหมณ์ พระพาหาสวมพาหุรัด โดยทั้งสายยัชโญปวีตและพาหุรัดทำเป็นรูปนาค พระกรสวมทองพระกร รวมทั้งสวมพระธำมรงค์ทุกนิ้ว

ส่วนล่างทรงภูษาโจงกระเบนสั้นจีบเป็นริ้ว คาดทับด้วยเข็มขัดที่ประดับด้วยพวงอุบะขนาดเล็ก และชักขอบผ้านุ่งด้านบนให้แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยม มีชายผ้าห้อยตกลงมาทางด้านหน้า ที่ข้อพระบาททรงสวมทองพระบาท และสวมพระธำมรงค์ที่นิ้วพระบาททุกนิ้วเช่นกัน

สำคัญคือลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏ ทั้งที่กระบังหน้า กรองศอ และภูษา ที่เป็นลายประจำยาม ลายดอกไม้ก้านขด ลายกนก ฯลฯ ล้วนเป็นรูปแบบเฉพาะในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบายนอยู่บ้าง โดยเฉพาะเครื่องทรง เช่น ผ้านุ่งโจงกระเบนแบบสมพต (Sampot) การประดับเครื่องตกแต่งมากมาย รวมทั้งการแสดงออกที่ค่อนข้างแข็งกระด้างเพื่อแสดงถึงอำนาจของเทพเจ้า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะงานประติมากรรมในสมัยอยุธยา ก็มีการพัฒนามาจากอิทธิพลของศิลปะเขมรและอื่นๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

เทวรูปพระอิศวรองค์นี้ ได้เคยถูกนายรัสต์มัน (J.E.Rastman) ชาวเยอรมัน เป็นผู้สังเกตการณ์จากพิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน ได้ลักลอบตัดพระเศียรและพระกรทั้ง 2 ข้าง เพื่อนำออกนอกประเทศในปี พ.ศ.2426 แต่ถูกทางกงสุลเยอรมันจับได้พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายสยามทราบ หลังจากนั้น 1 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ในขณะนั้น) นำพระเศียรและพระกรมาเชื่อมติดกับองค์เทวรูปดังเดิม

จนเมื่อมีการจัดตั้งมิวเซียมหลวงในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ได้มีการเชิญเทวรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ย้ายเทวรูปองค์นี้ไปจัดแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยร่วมกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ กระทั่งปี พ.ศ.2514 จึงได้ย้ายกลับไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร มาจนถึงทุกวันนี้

6