ปราสาทพิมาย ท่านางสระผม กุฏิฤาษี ไทรงาม และปราสาทพนมวัน
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรก ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจทางรถไฟหลวงสายกรุงเทพ – นครราชสีมา หลังจากการสร้างเสร็จและเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการแล้ว ในปี พ.ศ.2446 นอกจากเป็นการตรวจราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตอนนั้นมีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมา เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียงเป็นมณฑลแรกของประเทศ นอกเหนือจากเมืองโบราณเสมา ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ แล้ว ยังได้ทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย ท่านางสระผม กุฏิฤาษี ไทรงาม และปราสาทพนมวันอีกด้วย
รัชกาลที่ 5 เสด็จไปยัง “ปราสาทหินพิมาย” ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2446 โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปราสาทหินและพลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งปัจจุบันปราสาทหินพิมาย ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นศาสนาสถานที่สร้างขึ้นกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เชื่อว่าสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด ส่วนยอดหรือหลังคาปราสาทพิมายเป็นต้นแบบของการก่อสร้างปราสาทนครวัดของเขมร
ส่วนชื่อ “พิมาย” ว่ากันว่าน่าจะเป็นคำเดียวกับชื่อ “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินกรอบประตูโคปุระ ระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท
คำว่าพิมายยังปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึก พบในประเทศกัมพูชาหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันว่าเมืองวิมายหรือวิมายะปุระ แต่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมาเมืองพิมายรวม 17 แห่ง ก็แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเมืองพิมายกับอาณาจักรเขมร บริเวณที่ตั้งของปราสาทพิมายเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัดว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคู และกำแพงเมืองล้อมรอบ มีศาสนสถานอยู่กลางเมือง แวดล้อมด้วยชุมชนใหญ่น้อยรายรอบเป็นกลุ่มใหญ่ ตัวเมืองพิมายเองตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและอุดมสมบูรณ์ เพราะมีลำน้ำไหล บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำการกสิกรรมได้ดี แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคภายในเมือง ได้แก่ สระแก้ว สระพลุ่ง และสระขวัญ ส่วนสระน้ำที่ขุดขึ้นภายนอกเมืองคือ สระเพลง สระโบสถ์ และบารายขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน
ตัวเมืองโบราณมีประตูเมือง 4 ทิศก่อด้วยศิลา ที่สำคัญคือประตูเมืองด้านทิศใต้หันหน้าไปทางเมืองพระนคร ประเทศเขมร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทอดพระเนตรสระเพลงและเมรุพรหมทัต ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนเนินดินสูงภายในกำแพงเมืองพิมายด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย ข้อมูลจากตำนานเมืองพิมายเล่าว่าเหตุที่เรียกว่า เมรุพรหมทัต มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวปาจิตกับนางอรพิม” ซึ่งเล่าว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ถวายพระเพลิงของท้าวพรหมทัต ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นหลังศิลปะเขมร
วันถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จไปยัง “ท่านางสระผม” ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงเมืองพิมาย มีลำน้ำเค็มไหลผ่าน ปัจจุบันติดชลประทาน ถือเป็นแหล่งสำคัญทางโบราณคดี สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรบูรณะและขุดแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531-2532 สถานที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นฐานศิลาแลงผังรูปกากบาท มีบันไดทางขึ้น-ลง 3 ด้าน คือด้านริมน้ำ และด้านข้าง 2 ข้าง สันนิษฐานว่าเป็นฐานของพลับพลาท่าน้ำ ปัจจุบันเหลือเพียงแผนผังรูปกากบาท เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจากลำน้ำเค็มจะไหลผ่านท่านางสระผม จึงเปรียบเสมือนเป็นท่าน้ำแห่งหนึ่ง
ต่อจากท่านางสระผม ได้ทอดพระเนตร “กุฏิฤาษี” เป็นอโรคยศาลา หรือ สุคตาลัย ก่อขึ้นด้วยศิลาแลงที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะขอมแบบบายน ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้รักษาผู้เจ็บป่วย และส่วนที่เป็น ศาสนสถานประจำอโรคยาศาลา ในส่วนที่ใช้รักษาผู้ป่วยนั้นคาดว่าสร้างขึ้นด้วยไม้ ปัจจุบันจึงพังทลายลงไปไม่เหลือเค้าโครงใดๆ แต่ในส่วนของอโรคยาศาลานั้นยังคงหลงเหลือซากและหลักฐานอื่นๆ ไว้ให้เห็น ได้แก่
ปราสาทประธาน บรรณาลัยหรือหอคัมภีร์ ตั้งหันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน มีโคปุระด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว และนอกแนวกำแพงมีสระน้ำผังรูปสี่เหลี่ยม ศิลปะวัตถุที่ค้นพบระหว่างการบูรณะปราสาทแห่งนี้ เป็นประติมากรรมหินทรายรูปสลักพระวัชรธร
จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง “ไทรงาม” ซึ่งเป็นป่าต้นไทรที่เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงามามาแต่โบราณ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “ไทรงาม” นอกจากนามที่ไพเราะแล้ว ไทรงามยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าประทับใจแก่ผู้พบเห็น รากต้นไทรขนาดใหญ่พันทับซ้อนกันเป็นโครงข่ายขนาดยักษ์เชื่อมต่อกันตลอดแนว จนดูเหมือนเป็นหลังคากันฝนกันแดดได้เลยทีเดียว นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของอำเภอพิมายในปัจจุบัน
แห่งสุดท้าย “ปราสาทพนมวัน” เป็นปราสาทหินที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ต่อมามีการบูรณะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 รูปแบบศิลปะแบบบาปวน ภายหลังได้แปลงเป็นพุทธสถาน ภายในปราสาทค้นพบ “จารึกปราสาทพนมวัน” โบราณสถานหลักของปราสาทพนมวันประกอบด้วย มณฑป และ ปรางค์จตุรมุขก่อด้วยหินทรายแดงต่อมามีการบูรณะในภายหลังได้ใช้หินทรายขาวเพิ่มเติม ภายในปรางค์ประดิษฐาน พระพุทธรูปหินทรายแดงปางประธานอภัย ยอดปรางค์ได้ทลายลง คงเหลือเฉพาะส่วนฐานและเรือนธาตุ
นอกจากนี้มีปรางค์น้อย เป็นปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านข้างมณฑปและปรางค์จตุรมุข รอบปราสาทมีระเบียงคตก่อด้วยหินทราย มีทางเข้าออกทั้งสี่ทิศ รูปแบบการจัดวางผังคล้ายปราสาทหินพิมาย ด้านนอกปราสาทพนมวันทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของเนินอรพิม ปัจจุบันปราฏเพียงฐาน ถัดออกไปเป็นบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชน
ช่วงก่อนหน้านี้ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ค้นพบจารึกพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาระบุข้อความตัวหนังสือขนาดใหญ่ เป็นพระปรมาภิไธยอักษรย่อ จ.ป.ร. ถัดมาเป็นตัวอักษรข้อความยาวประมาณ 7 บรรทัด รายละเอียดมีว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาส เมื่อ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ แสลงวันตามจันทรคติ วัน ๒ เดือน ๒ ขึ้น ๔ ค่ำ พุทธศักราช ๒๔๔๓ จุลศักราช ๑๒๖๒” ซึ่งจารึกนี้เป็นจารึกเก่าแก่ที่อยู่คู่ปราสาทหินพนมวันมานานแล้ว ย่อมเป็นพยานหลักฐานได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังปราสาทแห่งนี้
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี