พระยาโบราณราชธานินทร์ หรือ พระยาโบราณบุรานุรักษ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ผู้บุกเบิกการค้นคว้าทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ได้เขียนเล่าข้อมูลเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ในหนังสือเรื่องกรุงเก่า ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับสภาพภูมิทัศน์ของกรุงศรีอยุธยาในอดีต โดยกล่าวว่า
“… ตอนที่เดินทางไปสำรวจพื้นที่โบราณสถานของเมืองกรุงเก่า ซึ่งตามโบราณสถานต่างๆ รกไปด้วยต้นไม้และเครือเถาวัลย์ปกคลุม ยิ่งในพระราชวังลวดลายพระที่นั่ง ตำหนักน้อยใหญ่และสถานต่างๆ ก็จมอยู่ในโคกและเนินสูง เหลือที่จะเห็นให้ทั่วถึงได้ มาในรัตนโกสินทรศก 126 นี้ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชวังเป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีรัชมงคล โบราณสถานซึ่งจมดินและรกชัฏมากว่าร้อยปี ก็ผุดขึ้นเห็นรูปทรงลวดลายและเตียนสะอาด…”
ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ในเมืองหลวงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของชาวกรุงเก่าในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
โดยกล่าวว่า “…ตลาดสำคัญที่มีชื่อในพระราชพงศาวดาร คือตลาดยอด พงศาวดารตอนแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาว่า ..เพลิงไหม้พระนคร แต่ท่ากลาโหมลงไปถึงพระราชวังท้ายท่อตลาดยอด ลมหอบเอาลูกเพลิงไปตกตะแลงแกงไหม้ลามลงไปป่าตอง โรงคราม ฉะไกร 3 วันจึงดับ มีบัญชีเรือนโรงศาลากุฎีวิหารไหม้เแสนห้าสิบ จำนวนนี้เห็นจะมากเกินไป ด้วยในที่พระนคร ถ้าจะมีเรือนถึงแสนคน คนคนหนึ่งอยู่เรือนหลังหนึ่ง จำนวนคนคงจะน้อยกว่าจำนวนเรือนมาก ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยแบ่งท้องที่มีความว่า แต่หอกลองถึงเจ้าไสยและตลาดยอดแขวงขุนธรณีบาล แต่ตลาดยอดจะอยู่ที่ใด ในเวลานี้ก็หมดคนที่รู้จักที่เสียแล้ว แต่ได้พบในแผนที่ในหนังสือของมองซิเออร์ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลงไว้กับที่ด้านใต้ต่อศาลพระกาฬลงไป ว่าเป็นตลาด แต่จะเป็นตลาดยอดหรือมิใช่ก็ยังไม่มีใครรับรอง แต่อย่างไรก็ดี ที่นั่นคงเป็นตลาดจริง และตลาดยอดนั้น ถ้าจะคะเนตามตัวหนังสือ ก็คงอยู่ราวด้านตะวันตกเยื้องไปข้างทิศใต้พระราชวัง แต่คงเป็นตลาดโรงร้านเครื่องไม้ ยากที่จะพบหลักฐาน…”
ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ภาพว่าบริเวณสี่แยกตะแลงแกง ย่านกลางเมือง เคยเป็นที่ตั้งศาลพระกาฬและหอกลอง มีบอกในเอกสารจากหอหลวง ยุคอยุธยา ศาลพระกาฬประดิษฐานพระนารายณ์ (เหมือนศาลพระกาฬ ที่เมืองละโว้ จ. ลพบุรี) เคยขุดพบกรพระวิษณุ (พระนารายณ์) และซากเทวสถาน (ที่น่าจะเป็นศาลพระกาฬตามที่บอกไว้ในเอกสารจากหอหลวง) …ส่วนตลาดศาลพระกาฬ อยู่ถนนย่านหน้าศาลพระกาฬ มีร้านชำ ขายหัวไนกับโครงไนปั่นฝ้าย (คำว่า ไน แปลว่า เครื่องมือปั่นฝ้าย) ส่วนหอกลอง อยู่ตะแลงแกง (ใกล้ศาลพระกาฬ) มียอดซุ้ม ทาสีแดง เป็นหอสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีกลอง 1 ใบ ใช้ตีสัญญาณบอกเหตุการณ์ เช่น มีศึก, มีไฟไหม้, และตีบอกเวลา
ไฟไหม้พระนครครั้งนั้นคงจะกินบริเวณกว้าง หากเป็นไปตามที่กล่าวไว้ก็คงเป็นบริเวณตั้งแต่ด้านใต้ต่อศาลพระกาฬไปถึงทิศใต้ของพระราชวัง ใครที่สนใจประวัติศาสตร์อยุธยาคงต้องลงพื้นที่ไปสัมผัสอดีตด้วยตัวเอง ที่สำคัญต้องพกจินตนาการไปด้วยจึงจะเป็นการเที่ยวอยุธยาอย่างสนุก
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี