ยังวนเวียนอยู่แถวจังหวัดลำปาง ยังไม่ไปไหน เหมือนยังไม่จุใจกับสิ่งที่อยากเห็น… ก่อนหน้านี้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แวะเวียนมาตั้งใจไหว้ “พระธาตุลำปางหลวง” แต่ปิดสนิทเพราะโควิดยังไม่จากไปไหน
มาคราวนี้ไม่ผิดหวังแล้ว ทางวัดเปิดพระธาตุลำปางหลวงให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าไปกราบไหว้สักการะตามปกติ แถมยังจัดการสถานที่เรียบร้อย สวยงาม สะอาดสะอ้านตา มีคนไปไหว้พระธาตุ เวียนทักษิณา สวดมนต์กันพอสมควร ใครไปเที่ยวจังหวัดลำปางแล้วไม่ได้ไปกราบพระธาตุลำปางหลวง ถือว่า พลาด!! อย่างมาก
เพราะพระธาตุแห่งนี้ นอกเหนือจากความศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 แล้ว ยังเป็นปฐมบทของการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ประหนึ่งว่าเป็น “ประตูเมืองลำปาง” ก็ไม่ปาน!!
ตำนานการสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงมีหลายตำนานมาก ตั้งแต่ตำนานของพระนางจามเทวี ที่ยกทัพผ่านมาตั้งค่ายใกล้ๆ พระธาตุ แล้วเกิดปาฏิหาริย์เห็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นลูกไฟพวยพุ่งออกมา
กระทั่งพระนางติดตามไปสร้างเป็นพระธาตุขึ้น หรือตำนานคำทำนายของพระพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ไว้จะมีผู้มาสร้างเมือง “ลัมภะกัปปะนคร” จึงมอบพระเกศา 1 เส้นให้ลั๊วะอ้ายกอน ต่อมาได้ช่วยกันขุดหลุมแล้วอัญเชิญผอบบรรจุพระเกศาฝังลงในหลุม ก่อเป็นพระเจดีย์สูง 7 ศอก ทรงพยากรณ์ว่าหลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว 218 ปี จะมีพระอรหันต์ 2 รูป
ชื่อพระกุมาระกัสสะปะเถระ นำเอาอัฐิพระนลาตเบื้องขวา (กระดูกหน้าผาก) และพระเมฆิยะเถระนำอัฐิพระศอ ด้านหน้าและด้านหลัง มาบรรจุเพิ่มไว้ในที่นี้อีก และเจดีย์นี้จะปรากฏเป็นพระเจดีย์ทองคำ ได้ชื่อว่า “ลัมภะกัปปะ”
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็คือตำนานที่เล่าขานต่อๆ กันมา แต่ที่เป็นความจริงก็คือ พระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อีกทั้งสถาปัตยกรรมในวัดยังมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมลำปาง
ซึ่งช่างได้สร้างสรรค์งานที่มีลักษณะเฉพาะตัวของช่างลำปางขึ้น แตกต่างจากงานสถาปัตยกรรมแบบเชียงใหม่
ในทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุลำปางหลวง ระบุว่าเมื่อปี พ.ศ. 2275 นครลำปางว่างลงไม่มีผู้ครองนคร จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น
สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองมายังอาณาจักรล้านนา ยึดครองได้ทั้งหมด ตั้งแต่เชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า
ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น “หนานทิพย์ช้าง” ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอห้างฉัตร) เป็นวีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้าไปในวัด แล้วใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย ตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับการสถาปนาเป็น “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปางต่อมา และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง, เชื้อเจ็ดตน, ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, และ ณ น่าน
เมื่อผ่านซุ้มประตูโขงเข้าไปภายในวัด จะเห็น “ลานทราย” รายรอบวิหารหลวง ซึ่งมีความหมายเปรียบได้กับมหาสมุทรสีทันดร เม็ดทราย ณ ที่วัดนี้ จึงพิเศษกว่าเม็ดทรายทั่วไป และการได้ไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง ก็เปรียบได้กับการได้ไปกราบไหว้ “พระเจดีย์จุฬามณี” อันศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬา พระโมลี และพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า
สถาปัตยกรรมขึ้นชื่อว่างดงามอย่างที่สุด ได้แก่ “ประตูโขง” เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณ ทำเป็นอาคารเรือนยอดซ้อนชั้นแบบยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์
การประดับปลายกรอบซุ้มด้วยกินรและกินนรีฟ้อน น่าจะเป็นอิทธิพลการประดับกรอบซุ้มแบบสุโขทัยที่วัดตระพังทองหลาง และวัดมหาธาตุ สุโขทัย ถือเป็นต้นแบบของงานซุ้มประตูโขงในสมัยต่อมาในพื้นที่ลำปาง
ประตูโขงแห่งนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปางด้วย
ถัดมาคือ “วิหารหลวง” เป็นวิหารประธานของวัด มีหน้าจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยเดิมจะโล่งตามแบบล้านนายุคแรก ภายในวิหารบรรจุ “มณฑปพระเจ้าล้านทอง” ด้านในสองข้างตลอดแนววิหารมีภาพจิตรกรรม เป็นภาพเขียนที่สวยงามและหาดูได้ยาก ฝีมือช่างท้องถิ่น เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักร หรือเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับสำนวนล้านนา
สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาบนแผ่นดินล้านนา มีทั้งสิ้น 24 แผ่น เริ่มจากทศชาติชาดกเรื่องพระเตมีย์บนแผงคอสองแผ่นที่ 1
แผงคอสองแผ่นที่ 2 เขียนเรื่อง พระมหาชนก แผ่นที่ 3-4 เรื่อง สุวรรณสาม แผ่นที่ 5 เรื่อง เนมียราช แผ่นที่ 6-8 เรื่อง พระมโหสถ แผ่นที่ 9-10 เขียนเรื่อง พระภูมิทัตถ์ แผ่นที่ 11 เรื่อง จันทกุมาร และแผ่นที่ 12 เขียนเรื่อง พระนารถ แผ่นที่ 13 เขียนเรื่อง พระเวสสันดร ยาวต่อเนื่องไปจนถึงแผ่นที่ 18 ส่วนแผ่นที่ 19 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนแผงคอสองตั้งแต่แผ่นที่ 20-24 ซึ่งถือเป็นแผ่นสุดท้ายเขียนเรื่อง พรหมจักร
ด้านหลังวิหารหลวงเป็น “องค์พระธาตุเจดีย์” คือเจดีย์ประธานของวัด มีขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ลักษณะสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นสายเดียวกันกับ เจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมที่ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังจากสุโขทัย
ส่วน “วิหารน้ำแต้ม” หรือวิหารภาพเขียนสี เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ ภายในมีภาพเขียนสีโบราณที่ถือกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และยังมี “วิหารพระพุทธ” ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่ง หน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน หากมองผ่านช่องรูเล็กๆ ด้านนอกเข้าไปภายในจะเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารกลับหัว
ถัดไปอีก คือ “ซุ้มพระบาท” เป็นการสร้างอาคารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ซุ้มพระบาทนี้มีข้อห้าม-ไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีกุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275 พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ และ พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า “วัดพระธาตุลำปางหลวง” ได้รับการสถาปนาให้เป็นทั้งศูนย์กลางของอาณาจักรและศาสนจักร ด้วยแนวคิดหรือคติ “จักรวาลวิทยาแบบพุทธ” อันเป็นแนวคิดหลักในการสถาปนาเพื่อวัตถุประสงค์หลักด้านการเมือง การปกครอง และพุทธศาสนา
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี