(ภาพและข้อมูลจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)
เมืองเพนียดหรือเมืองกาไวเป็นเมืองโบราณในจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เชิงเขาสระบาปติดลำน้ำสาขาซึ่งไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลักษณะผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคันดินล้อมรอบ พื้นที่ราว 1,600 ไร่ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12–18 พบหลักฐานจารึก จำนวน 3 หลัก คือ 1. จารึกวัดทองทั่ว–ไชยชุมพล (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12) 2. จารึกเพนียด 1 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15) 3. จารึกเพนียด 52 (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15) และหลักฐานมากมาย เช่น พระหริหระแบบพนมดา (อายุราว พ.ศ.1080–1150) ทับหลังในสมัยต่างๆ โดยเฉพาะแบบถาลาบริวัต (พ.ศ.1150) ซึ่งเป็นลักษณะทางด้านศิลปกรรมของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอันเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่ 12
แสดงให้เห็นว่า เมืองเพนียดเป็นเมืองท่าในวัฒนธรรมเขมรที่ใกล้ชิดกับอินเดีย และเป็นชัยภูมิสำคัญที่เชื่อมอารยธรรมจากต่างถิ่นเข้าสู่พื้นที่ตอนในแผ่นดิน การสำรวจพบเมืองเพนียดโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เมื่อ พ.ศ.2436–2446 ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2478 ในปี พ.ศ.2542–2545 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี หรือสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรีในปัจจุบัน ได้ดำเนินงานโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานด้านทิศเหนือ หรือคูเพนียด ลักษณะเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 สระ แต่ละสระมีขนาด กว้าง 60 เมตร ยาว 40 เมตร กรุด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้น น่าจะสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
ในปี พ.ศ.2560 กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณเงินกองทุนโบราณคดี จำนวน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ดำเนินโครงการสำรวจทำแผนผังและขุดแต่งโบราณสถานเมืองเพนียด จากการดำเนินงานโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่ายังมีพื้นที่ของเมืองเพนียดและโบราณวัตถุอีกจำนวนมากที่ควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้า เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมต่อสาธารณชน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี