ฟ้าแดดสงยาง
“อ่านหนังสือหมื่นเล่ม มิสู้เดินทางหมื่นลี้” ยังเป็นสำนวนที่ใช้ได้เสมอไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเท่าใด ยิ่งโลกเปลี่ยนเรายิ่งต้องออกเดินทางค้นหา ก็เหมือนกับการเดินทางครั้งนี้ ที่มี ฐากร ตัณฑสิทธิ์ หรือ ‘เลขาฯฐากร’ อดีตเลขาธิการคนแรกของกสทช. หรือชื่อเต็มๆ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
แปลงร่างเป็นมัคคุเทศก์พาไปดูสิ่งมหัศจรรย์ซุกซ่อนอยู่ที่เมือง “กมลาไสย” จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าอยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิดบ้าง เลยช่วยประชาสัมพันธ์ให้อำเภอกมลาไสยและจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วประเทศ
“กมลาไสย” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในกาฬสินธุ์ ขณะเดียวกันก็เป็นบ้านเกิดของฐากรด้วย หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอำเภอแห่งนี้ในอดีตเป็นเมืองโบราณ “ฟ้าแดดสงยาง” ยุคทวารวดี มีอายุกว่า 1,400 ปีล่วงมาแล้ว
คนพื้นบ้านมักเรียกกันอีกชื่อว่า “บ้านเสมา” หลักฐานกำแพงเมืองและคูน้ำสองชั้น ผังเมืองที่เป็นวงรี ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ฉายภาพให้เห็นคร่าวๆ กาฬสินธุ์ไม่ได้แห้งแล้งอย่างอีสานใต้ทั่วไปแม้จะอยู่ภาคเดียวกัน แต่มีความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำลำปาว ซ้ำยังมีบึง หนองน้ำธรรมชาติหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วไป
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือเกลือสินเธาว์ และไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้เต็ง รัง ตะแบก และยางนา อันที่จริงมีร่องรอยการอยู่อาศัยของคนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กระทั่งเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยทวารวดี มีการพบร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ตั้งแต่ใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติ, พระพิมพ์จารึกอักษร, เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น เมืองแห่งนี้จึงอยู่ในลิสต์ ไม่ควรพลาด!! ในการไปเยือน
การเดินทางเริ่มต้นที่ “พระธาตุยาคู” ซึ่งกำลังจัดงานวันวิสาขปุรณมีบูชา งานประจำปีที่จัดขึ้นถวาย “ธุง” เป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล คำว่า “ธุง” ก็คือ “ตุง” ในภาษาเหนือ คน สปป.ลาว เรียก “ทง” หรือ “ทุง” ส่วนภาคกลางเรียก “ธง” เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของคนอีสาน เชื่อกันว่าสามารถป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดี ภูตผีวิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญ และยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ ว่ามีการทำบุญและมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
“พระธาตุยาคู” นี้ แต่เดิมเรียกว่าพระธาตุใหญ่เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยาง (ฟ้าแดดสูงยาง ก็เรียก) เป็นเจดีย์ที่มีศิลปะสมัยทวารวดี ก่อนการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบว่าก่อนจะถึงองค์เจดีย์มีฐานเดิมลึกลงไปจากสถูปปัจจุบัน 1 ชั้น ก่อด้วยอิฐมีผังคล้ายรูปกากบาท ย่อมุม ต่อจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นการบูรณะขึ้นมาใหม่ มีเพียงองค์ระฆังเท่านั้นที่ยังเป็นของดั้งเดิมอยู่ กรมศิลปากรเข้ามาขุดค้นพบใบเสมาหินทรายปักอยู่รอบองค์พระธาตุ ในสภาพที่มีทั้งสมบูรณ์และแตกหัก ลวดลายบนใบเสมาเป็นภาพเกี่ยวกับชาดกและพุทธประวัติ รวมทั้งหมด 131 ใบ นอกจากนี้ ยังพบซากกองอิฐเจดีย์รายอยู่ 6 องค์ ปัจจุบันใบเสมาบางส่วนนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามในตัวอำเภอกมลาไสย การขุดค้นพบใบเสมาจำนวนมากในบริเวณนี้ จึงอนุมานได้ว่าไม่ใช่เพียงเก็บอัฐิของพระผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นการสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมืองฟ้าแดดสงยางจึงนับเป็นแหล่งเสมาหินใหญ่ที่สำคัญที่สุดในภาคอีสาน
ปราชญ์ชาวบ้านอาจารย์ ดร.เกสร แสนศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวโจดดงลิงวิทยา ที่ปรึกษาวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ อธิบายว่าพระธาตุใหญ่ หรือพระธาตุญาคู-ญาซา (คำอีสาน) เป็นโบราณสถานของเมืองฟ้าแดดสงยาง คาดว่าสร้างในสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน “…คำว่า ญาคู หมายถึงพระผู้ใหญ่ ญา คือยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น ญาคู-ญาซา หมายถึงพระผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่”
ดร.เกสรอธิบายเสริมว่า สำหรับ “ธุง” ที่นำมาถวายบูชามีทั้ง 4 เหลี่ยม 6 เหลี่ยม 8 เหลี่ยม มีความหมายว่า 4 เหลี่ยมหมายถึงอริยสัจสี่ ส่วน 6 เหลี่ยมจะเป็นทิศทั้งหกที่ควรบูชา และ 8 เหลี่ยมคือมรรคแปด ทุกอย่างล้วนอิงเข้ากับพุทธศาสนา
จากพระธาตุยาคูมุ่งต่อไปยัง “วัดเกษมาคม” หรือ “วัดเหนือ” 1 ใน 3 วัดสำคัญของกมลาไสย วัดเหนือสังกัดมหานิกาย แต่ปฏิบัติเคร่งครัดแบบธรรมยุต ปัจจุบันมีพระมหาอนันต์ นิมฺมโล อายุ 77 พรรษา (ป.ธ.เป็นเจ้าอาวาส และยังมีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์อีกตำแหน่ง
หลวงพ่ออนันต์เล่าว่า ก่อนจะมาอยู่ที่วัดเหนือเมื่อปี 2535 เคยอยู่วัดเทพธิดา กรุงเทพฯ “… วัดนี้เดิมชื่อวัดศรีบุญเรือง สร้างเมื่อปี 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาไชยสุนทร บรรพบุรุษของคนที่นี่เป็นลาวมาจากเวียงจันทน์ ส่วนบริเวณพระธาตุยาคูเป็นเมืองโบราณ อยู่กึ่งกลางระหว่างพระธาตุนาดูนและพระธาตุพนม สมัยโบราณเวลาพระภิกษุและชาวบ้านจากมหาสารคามจะเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมก็ต้องมาพักค้างคืนที่นี่ เลยเรียกเมืองฟ้าแดดสูงยั้ง ไม่ใช่สูงยาง ‘ยั้ง’ คือยั้งอยู่หรือหยุดพักที่เมืองนี้ก่อน คนภาคกลางไปเรียกว่าสูงยาง ประวัติศาสตร์อีสานให้คนภาคกลางเอาไปเขียนมันเลยเป็นอย่างนี้ อย่างพระธาตุยาคู ที่จริงคือ ญ หญิง ไม่ใช่ ย ยักษ์ ญาคู เป็นชั้นยศพระของทางลาว…” เป็นความรู้ที่ได้จากหลวงพ่อก่อนจะเดินทางต่อไป
ไม่ห่างจากวัดเกษมาคมเป็น “วัดปฐมเกษาราม” หรือวัดกลาง ที่หน้าพระอุโบสถมีแผ่นจารึกข้อความนามผู้สร้างคือ พระราษฎรบริหาร (ท้าวเกษ) เจ้าเมืองกมลาไสย ได้อุทิศที่ดินสร้างขึ้น โดยเมื่อครั้งพระราษฎรบริหารแยกออกจากเมืองกาฬสินธุ์มาตั้งเมืองกมลาไสย เป็นเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯราว พ.ศ.2405-2506 จึงสร้างวัดนี้เป็นวัดแรก เลยชื่อวัดปฐมเกษาราม จากนั้นสร้างอุโบสถขึ้นแบบทรงโบราณ แล้วสร้าง “พระเจ้าใหญ่” ขึ้นกลางวัดเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองกมลาไสย วัดนี้นอกจากใช้เป็นที่ทำบุญของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้านายในสมัยนั้น
จากตัวอำเภอกมลาไสยไปทางอำเภอสหัสขันธ์ มี “พระพุทธไสยาสน์” สมัยทวารวดี อยู่ที่ “วัดพุทธนิมิตภูค่าว” พระนอนองค์นี้สลักติดกับหินแผ่นใหญ่ ขนาดจากพระเศียรถึงพระบาทยาว 2.25 เมตร นอนตะแคงซ้าย ไม่มีเกตุมาลา ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์ และกษัตริย์ของขอมได้ต่อยอดพระธาตุพนมสำเร็จ จะมีพิธีฉลองสมโภช จึงได้แจ้งแก่ขอมทั่วไปให้มาร่วมงาน ฝ่ายขอมทางเขมรต่ำพากันรวบรวมทรัพย์สมบัติและผู้คนเดินทางมาร่วมงาน พอมาถึงบ่อคำม่วง ห่างจากภูค่าวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือก็พากันหยุดพัก ได้ทราบข่าวว่าการสมโภชพระธาตุพนมเสร็จสิ้นแล้ว จึงตกลงกันว่าให้ฝังสมบัติที่นำมาไว้ที่ภูค่าว และสลักรูปพระโมคคัลลานะไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ ตั้งปริศนาไว้ว่า “พระหลงหมู่อยู่ภูถ้ำบก แสงตาตกมีเงินเป็นแสน ไผหาได้กินทานหาแหน่ เหลือจากนั้นกินเลี้ยงบ่หลอ” พระนอนองค์นี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวสหัสขันธ์ พากันจัดพิธีสรงน้ำ ปิดทองในวันสงกรานต์ทุกปี
ทัวร์กิตติมศักดิ์ได้ตระเวนสถานที่โบราณอีกหลายแห่ง ก่อนจะปิดท้ายการเดินทางที่ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร”อุทยานโลกไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว วัดป่าสักกะวัน เนื้อที่ร้อยกว่าไร่ นับเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องของไดโนเสาร์ไว้อย่างครบถ้วน และเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ อีกทั้งพิพิธภัณฑ์สิรินธรยังเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
คนอีสานเรียกไดโนเสาร์ว่า “กะปอมยักษ์” การที่พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากนี้ สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณบริเวณนี้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีแม่น้ำไหลผ่านจนเป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ เมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลงจึงถูกตะกอนแม่น้ำกลบฝังไว้ กลายเป็นซากฟอสซิลในที่สุด ภายในพิพิธภัณฑ์สร้างอย่างอลังการดีเยี่ยม มีส่วนแสดงเรื่องของไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ โครงกระดูกของไดโนเสาร์ การจำลองการขุดค้นซากไดโนเสาร์โดยจัดที่ให้คนเดินที่ด้านบนแล้วมองลงไปเห็นซากไดโนเสาร์เบื้องล่างได้อย่างเพลิดเพลิน
การเกิดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาจากการพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ที่ภูกุ้มข้าว ตั้งชื่อว่า “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เป็นไดโนเสาร์กินพืช เดิน 4 เท้า ถือเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวันเป็นผู้พบ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา คณะสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณีจึงเริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่าภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งที่พบโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และยังพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่างๆ มากกว่า 700 ชิ้น ที่สำคัญคือพบชิ้นส่วนของหัวกะโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่ร้อยเรียงต่อกันแล้วเกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัว
กระทั่งปี พ.ศ.2539 กรมทรัพยากรธรณีได้สร้างอาคารวิจัยขึ้นใช้เป็นที่ทำการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และเก็บรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ที่สำรวจพบในประเทศไทย เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์สิรินธรร้อยพันหมื่นตัวอักษรบรรยายอย่างไรก็ไม่เท่าตาเห็น บอกเลยว่าต้องไปดูด้วยตาตัวเอง จะได้ทั้งความรู้และบรรยากาศโลกดึกดำบรรพ์เสมือนจริง
ระยะเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพียงหนึ่งวัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถเที่ยวชมกาฬสินธุ์ได้อย่างทั่วถึง ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจและน่าไปค้นหา ถึงกระนั้นสิ่งแปลกใหม่ที่ได้พบเห็นของเมืองฟ้าแดดสงยาง-กาฬสินธุ์ นับเป็นความรู้และความบันเทิงที่ทำให้ประจักษ์ว่า มี “ของดี” ที่กาฬสินธุ์อีกมากมายรอให้ไปชม และเที่ยวแบบต้องหยุดพัก ไม่ใช่แค่ผ่านอีกต่อไป
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี