หนึ่งในสถานที่สำคัญในการเสด็จฯ เลียบพระนคร ของรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการเสด็จฯไปยัง “วัดบวรนิเวศวิหาร” ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่พระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ จะต้องทรงผนวชและประทับอยู่ ภายในวัดบวร นอกเหนือจาก “พระพุทธชินสีห์” พระประธานภายในพระอุโบสถ ซึ่งงดงามด้วยศิลปะสุโขทัย และนับถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ครั้งอดีต และยังเป็นพระประจำผู้ที่เกิดในเดือนหกไทย คือเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและถือเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา คือ “เสี้ยวกาง” ทวารบาลผู้รักษาประตูทางเข้า-ออก หน้าพระอุโบสถวัด
“เสี้ยวกาง” หรือบางครั้งเรียก “เซี่ยวกาง” ใครเดินผ่านไป-มา จะเห็นชัดเจน อยู่บนบานประตูปัจจุบันทาสีทองอร่ามไปทั้งตน ไม่มีรอบคราบดำๆที่ปากให้เห็น เรื่องของเสี้ยวกาง ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ทั้งที่เป็นไม้สลักปิดทอง และเขียนเป็นภาพจิตรกรรมไว้บนบานประตูหรือหน้าต่าง ไปจนถึงลายรดน้ำบนบานประตูตู้พระธรรมก็มีเหมือนกัน สำหรับเสี้ยวกางที่อยู่ประตูทางเข้าหน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร นี้ มี 4 ตน ที่สำคัญคนมักไปแก้บน คือตนแรกที่ยืนบนหลังจระเข้ มือหนึ่งถือสามง่าม อีกมือถือกริช อีกตนยืนบนหลังมังกร สองมือถือดาบกับโล่ คนนิยมนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมักไปอธิษฐานขอพรหรือขอสิ่งต่างๆ เมื่อได้สมความปรารถนาก็มักไปแก้บนด้วยการนำฝิ่นไปป้ายที่ปาก
ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” เล่ม 26 มีลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าทรงพบเห็นร่องรอยการแก้บนเสี้ยวกางที่บานประตูหน้าพระอุโบสถวัดบวรฯ มาตั้งแต่ปี 2486 เมื่อเสด็จกลับจากเกาะปีนัง มายังกรุงเทพฯ ไม่นาน ลายพระหัตถ์ตรัสเล่าไว้ว่า “..ได้ความว่าแก้บนกันเป็นอย่างใหม่ คือเอาฝิ่นไปทาที่ปากเซี่ยวกางที่บานประตู แลดูก็เห็นปากมอมทั้ง 2 ตัว…ดูก็ประหลาดนักหนา..” มีความเข้าใจกันว่าชาวบ้านคงเห็นรูปเสี้ยวกางดูเหมือนคนจีนแก่ๆ มีหนวดเครา สมัยนั้นคนจีนแก่ๆ ชอบสูบฝิ่น เลยไปคิดเอาว่าเส้ยวกางคือ อาแปะ ของคนจีน คงชอบสูบฝิ่นด้วย เลยไปตั้งจิตอธิษฐานขอพอได้สำเร็จตามต้องการเลยต้องไปแก้บนด้วยการนำเอาฝิ่นที่เป็นยางดำๆ เหนียวๆ ไปป้ายปาก
ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ให้เลิกโรงยาฝิ่นในกรุงเทพฯ และเผากล้องสูบฝิ่นทิ้งกลางสนามหลวง ทำให้ฝิ่นกลายเป็นของผิดกฎหมายร้ายแรง หาได้ยาก การแก้บนกับเสี้ยวกางที่ประตูวัดบวรฯ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ของดำ” อย่างอื่นแทน นั่นคือ “กาแฟดำ” หรือ “โอยัวะ” นั่นเอง มาถึงวันนี้ ไม่มีให้เห็นแล้วทั้งฝิ่นและกาแฟดำ ทางวัดไม่อนุญาตให้มีการแก้บนเช่นนั้นอีก
สำหรับความเป็นมาของ “เสี้ยวกาง” มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของ “กรมหลวงนรินทรเทวี” ว่า ในปีจุลศักราช 1158 (พ.ศ. 2339) สมัยรัชกาลที่ 1 ได้สร้างพระเมรุและมีเสี้ยวกางประจำประตู ส่วนในหนังสือ “ภาษาไทย ภาษาจีน” ของ “เฉลิม ยงบุญเกิด” อธิบายว่า “..เซี่ยวกาง เข้าใจว่ามาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว อ่านว่า เซ่ากัง แปลว่า ยืนยาม ตู้ยาม ซุ้มยาม ทวารบาลของจีนจึงเป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เชื่อกันว่าจะป้องกันภูตผีปีศาจ ไม่ให้ล่วงล้ำเข้าไปได้ ต่อมาจึงนิยมวาดรูปอวยซีจงและซินซกโป๊ เป็นทวารบาลวัดหรือศาลเจ้า เล่ากันว่าเมื่อพระเจ้าไท่จง (Emperor Taizong) แห่งราชวงศ์ถัง ทรงพระประชวร ในขณะที่ทรงพระประชวรได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ปีศาจ จึงให้นายทหารเอกชั้นผู้ใหญ่ 2 นาย คือ อวยซีจง (Yuchi Gong) และ ซินซกโป๊ (Qin Shubao) มายืนเฝ้าที่หน้าห้องบรรทม จนเป็นประเพณีนิยมในการวาดรูปอวยซีจงและซินซกโป๊ไว้สองข้างประตูวัดและศาลเจ้า
ลักษณะของเสี้ยวกางไม่เหมือนเทวดาไทย คือมีหนวดเครายาว ถืออาวุธด้ามยาว การแต่งกายผิดไปจากของไทย กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ว่าการแต่งตัวท่วงทีไปทางแขกหรือจีนมากว่าจะคล้ายไทย และเสี้ยวกางที่คนนับถือและเป็นที่นิยมไปบนมากที่สุดก็คือ เสี้ยวกางที่ประตูวัดบวร