รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ
โลหะปราสาทนับเป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวในประเทศไทย และนับเป็นโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก สำหรับมูลเหตุในการสร้างโลหะปราสาท ณ วัดราชนัดดารามนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการรวบรวม ตรวจสอบชำระคัมภีร์พระพุทธศาสนา และสังคายนาพระไตรปิฏก นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปโรหิต (แก้ว) เจ้ากรมราชบัณฑิตแปลวรรณกรรมบาลีเรื่องสำคัญคือ “มหาวงศ์” (พงศาวดารลังกา) จากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยด้วย ทำให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับพงศาวดารลังกาเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยเวลานั้น ประกอบกับมีพระสงฆ์ไทยเดินทางไปยังลังกาในสมัยรัชกาลที่ 2 – 3 ด้วยเหตุนี้ “โลหะปราสาท” จึงน่าจะเป็นสิ่งที่รับรู้กันในสังคมไทยเวลานั้น และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงสร้างขึ้น
โลหะปราสาท วัดราชนัดดา ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ ทางด้านทิศตะวันตก อยู่ตรงศูนย์กลางของพื้นที่ทั้งหมดของพระอาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดาพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีนั้น เห็นจะได้ทรงพระราชดำริถึงพระเจดีย์ที่จะทรงสร้างประจำวัดอย่างที่ทรงพระราชดำริสร้างสำเภายานนาวา จึงโปรดให้ช่างออกแบบก่อสร้างโลหะปราสาท ใน พ.ศ.2389
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเรื่องเล่าขานกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นายช่างเดินทางไปดูแบบโลหะปราสาทที่ลังกาก็ตาม แต่เมื่อนำแนวคิดเรื่องโลหะปราสาทมาสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดราชนัดดา ก็น่าจะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนไปตามสถาปัตยกรรมของไทย โดยเฉพาะความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในคัมภีร์มหาวงศ์พรรณนาว่า โลหะปราสาทที่สร้างขึ้นในลังกานั้นมี 9 ชั้น แต่โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา มี 7 ชั้น
การก่อสร้างโลหะปราสาท วัดราชนัดดานั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้กำกับการก่อสร้าง โดยใช้ศิลาแลงและอิฐมาใช้ในการก่อสร้าง
วัตถุประสงค์ของการสร้าง “โลหะปราสาท” ในลังกาตามที่ปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์คือ “ให้จัดพระสงฆ์ที่เป็นปุถุชนให้อยู่ในชั้นเป็นประถม ให้จัดพระสงฆ์ปุถุชนที่ทรงพระไตรปิฎกให้อยู่ในชั้นที่ 2 แต่ชั้นที่ 3 ขึ้นไปนั้นให้จัดพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น อันมีคุณวิเศษกว่ากันอยู่เป็นลำดับขึ้นไป ตราบเท่าถึงพระอรหัตปฏิสัมภิทาญาณอยู่ชั้นสุดเบื้องบน”
ลักษณะของ “โลหะปราสาท” วัดราชนัดดานั้น เป็นปราสาท 7 ชั้น ลดหลั่นกัน ดังนี้
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 1 เป็นซุ้มคูหามี 32 ซุ้ม
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 2 เป็นคูหาจัตุรมุขมียอดเป็นบุษบก มี 24 ยอด
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 3 เป็นซุ้มคูหาไม่มียอดบุษบก
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 4 เป็นคูหาจัตุรมุขมียอดเป็นบุษบก มี 12 ยอด
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 5 เป็นซุ้มคูหาไม่มียอดบุษบก
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 6 เป็นระเบียงไม่มียอดบุษบก
📍 โลหะปราสาท ชั้นที่ 7 เป็นปราสาทจัตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ มี 1 ยอด
รวมจำนวนยอดของโลหะปราสาททั้งหมดมี 37 ยอด การขึ้นโลหะปราสาทแต่ละชั้นจะมีบันไดเวียน 67 ขั้น อยู่ตรงแกนกลางของโลหะปราสาท โดยมีซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันได
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี