เดือนเมษายนเวียนมาบรรจบอีกปี พ.ศ. 2564 ครอบรอบ 254 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาราชธานีไทยต้องแตกพ่ายแก่พม่า นับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่และยับเยินที่สุดที่เคยมีมา กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่เคยลบเลือนไปจากใจคนไทย ศาสตราจารย์ “สุเนตร ชุตินธรานนท์” นักประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง…
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ฝังลึกในจิตใจคนไทย พูดกันไม่จบ เฉพาะตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์อยุธยา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคน เป็นการทำลายล้างโดยสิ้นเชิงของราชธานี ซึ่งสืบเนื่องยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 417 ปี เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชีวิต ผู้คนจำนวนเรือนแสน แม่น้ำเน่าไปหมดด้วยศพที่อยู่ในน้ำ หลักฐานฝรั่งบอกว่าฝูงแมลงวันที่มารุมตอม มันเหมือนเมฆ วัดวาอารามต่างๆ ถูกเผา ถูกทำลายหมด เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์อย่างนี้มันอยู่ในความทรงจำอย่างยิ่ง เพราะว่าพอเราไปอ่านงานวรรณกรรมสมัยหลังจากนี้ลงมา แต่ยังเป็นคนอยุธยาอยู่ เช่น สมเด็จพระพนรัตน์ รัชกาลที่ 1 เขียน สังคีติยวงศ์ ท่านได้ย้อนภาพให้เห็นว่าผู้คนเดินเหมือนผี ร่างกายซูบผอม อดอยาก หลักฐานที่ว่าอดอยากไม่ได้มีเฉพาะในหลักฐานไทย บันทึกชาวต่างประเทศคือพวกมิชชันนารี บาทหลวง ก็มีบันทึกไว้ว่าอดอยากกันรุนแรงสารพัด แต่ความอดอยากที่จริงมันมาก่อนเสียกรุง
การเสียกรุงครั้งที่ 2 พม่าเล่นเสียยับเยิน ไม่เก็บเราเหมือนประเทศราชเหมือนเสียกรุงครั้งที่ 1 ดูจากมุมของไทยเขาเล่นหนัก ดูจากมุมของพม่าสมัยคองบอง พม่ารบกับที่อื่นก็ทำอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นสไตล์ของการทำสงครามในช่วงหลังๆ ไม่ว่าจะตีมอญ หรือเข้าไปรบในมณีปุระก็ประมาณนี้ การที่พม่าทำหนักกับไทยขนาดนี้ ประเด็นแรกเพราะว่ามอญเป็นภัยคุกคามสำคัญ คือพวกมอญถ้าพลาดเข้าปล้นเมาะตะมะ หงสาวดี เลยมาย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของพม่า อาณาจักรพม่ายุคลูกหลานพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเราเรียกว่าตองอูยุคหลังหรือนยองยาน กษัตริย์องค์สุดท้ายชื่อ พระอาทิตย์ มอญกวาดพม่าไปทั้งพุกามประเทศ จับกษัตริย์พม่าเอาตัวไปเลย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในความทรงจำของผู้ตั้งราชวงศ์อย่างมัง ออง ไจยะ นั่นก็คือพระเจ้าอลองพญา ที่สำคัญคือว่าไทยเป็นคนให้ท้าย นี่ยังไม่นับปัญหาอื่นๆ ประกอบกับพระเจ้าอลองพญาอยากแสดงแสนยานุภาพ พม่าเลยต้องรบอย่างนี้ แต่ทีนี้เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่ง คือ พม่ากำลังติดศึกกับจีน จีนยกทัพมากำลังมากกว่าพม่า 2-3 เท่า ทางราชสำนักเรียกตัวเนเมียวสีหบดี กับ มังมหานรธา กลับ แต่มังมหานรธาซึ่งเป็นตัวหลักไม่ยอมกลับ มังมหานรธาคนนี้ตอนหลังมาตายที่ค่ายสีกุก เป็นโรคคอหอยอักเสบ หายใจไม่ออก พอมังมหานรธาตาย เนเมียวสีหบดีก็คุมทัพทั้งสองทัพ คือทัพของตัวเองและทัพของมังมหานรธา
พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ 14 เดือน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาเลยในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ชัยภูมิกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำมาก เพราะฉะนั้นเดือน 11 เดือน 12 น้ำจะท่วมอยู่ 4 เดือน ยุทธศาสตร์ที่เราใช้กับพม่า คือเราจะพยายามป้องกันเมืองไว้ไม่ให้บอบช้ำ ให้พม่าล้อมอยู่จนกระทั่งน้ำหลาก พม่าต้องถอย พอพม่าถอยเราจะตามตี แต่เที่ยวนี้พม่าล้อมอยู่ 14 เดือน แสดงว่าไม่ถอย มังมหานรธาทุบโต๊ะว่าไม่ถอย เพราะถ้าถอยต้องกลับมาทำการเริ่มต้นใหม่ ตอนนั้นในกรุงศรีอยุธยามีประชาชนอยู่ราว 2 แสน แต่เป็นทหารรบได้สัก 7-8 หมื่นคน ไม่ต่ำกว่านี้ ส่วนพม่าที่ล้อมอยู่ก็ประมาณ 7-8 หมื่นคนเหมือนกัน
การยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานับว่ามีการพัฒนาไปอีกขั้น แทนที่จะให้เนเมียวสีหบดียกทัพเข้ามาตีคนเดียว คือเข้ามาทางเชียงใหม่ พระเจ้ามังระบอกว่ารบกับอยุธยามานาน อยุธยาไม่เคยแพ้มาก่อนเลยเพราะฉะนั้นให้เนเมียวสีหบดียกทัพมาทางเดียวเกรงว่าจะตีไม่ได้ จึงส่งมังมหานรธาเข้ามาทางทวายอีกทาง มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในลักษณะคีมปากนกแก้ว แต่อยุธยาก็เป็นใจ เพราะอยุธยาเพียงส่งทัพไปกันๆ ไว้ ไม่ได้หมายความว่าจะรบให้เด็ดขาด เพราะอยุธยาคิดจะให้ข้าศึกลงมาล้อมกรุงแล้วเก็บไว้ให้ถึงฤดูน้ำหลาก ให้พม่าถอยไทยจึงค่อยตามตี เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงยุทธศาสตร์นี้ ประเด็นคือเก็บเมืองยังไงไม่ให้เมืองบอบช้ำ ก็คือไปสร้างค่ายล้อมเมืองไว้ ค่ายแต่ละค่ายเป็นเมืองเล็กๆ ล้อมอยุธยาไว้หมด ทีนี้พอสร้างค่ายล้อมไว้ พม่าขยายกำลังเข้ามาประชิดคูพระนครไม่ได้
เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าหากพม่าเข้ามาประชิดคูพระนครได้ พม่าจะก่อหอรบสูงกว่ากำแพงเมือง เอาปืนใหญ่ยิงระดมลงมา ซึ่งไทยเคยมีบทเรียนมาแล้ว ดังนั้น ก็สร้างค่ายกันไม่ให้พม่าเข้ามาประชิดคูพระนคร พม่าจึงต้องตีเมืองที่เป็นค่ายรายล้อมเหล่านั้นให้แตกก่อนถึงจะเข้ามาได้ ทีนี้พอน้ำหลากพม่ายังไม่สามารถตีค่ายที่ล้อมเมืองได้ แต่ปัญหาใหญ่มากของเรา คือเราเก็บเสบียงไว้แค่ถึงฤดูน้ำหลาก เพราะคิดว่าพอน้ำหลากพม่าก็จะถอย แต่พม่าไม่ถอย เสบียงก็หมด คนก็เยอะด้วย ทำให้ข้าวสารมีราคาแพงมาก ฉะนั้นจึงมีการกักตุนข้าว ขุนนางที่ดูแลเรื่องนี้กักตุนไว้ ประมาณกันว่าไส้ศึกพม่าคนหนึ่ง คือพระยาพลเทพซึ่งเป็นพระยาแรกนากักตุนข้าว ดูในหลักฐานของฝรั่งนี่เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัย ดังนั้น พม่าจึงตีค่ายที่รายรอบอยุธยาแตก ค่ายวัดไชยวัฒนาราม วัดมณฑป สามวิหาร และท่าการ้อง แล้วแปลงค่ายเราเป็นค่ายเขาเข้าประชิดคูพระนคร ตีเข้ามาทางด้านคลองขื่อหน้า พม่ามาตั้งค่ายที่วัดหน้าพระเมรุ การตั้งค่ายที่วัดนี้ทำมาตั้งแต่สมัยอลองพญาแล้ว หลักฐานต่างประเทศบอกว่าบางวัดที่พม่าอาศัยใช้เป็นที่ตั้งค่าย พม่าจะไม่ทำลาย อันนี้จริง
ก่อนถึงวันสุดท้าย พม่าส่งจารชนสงครามคือพวกเราคนไทยนี่แหละเข้าไปก่อวินาศกรรม ลอบวางเพลิงเผาที่ต่างๆ เรารู้จากหลักฐานของฝรั่งซึ่งไม่เคยมีเผยแพร่ที่ไหนเลย เดิมทีเอกสารนี้เป็นภาษาลาติน แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วแปลเป็นภาษาไทย แต่ทางมิชชันนารีเขาเก็บไว้ ไม่เผยแพร่ ในเอกสารระบุว่าจารชนมาลอบวางเพลิง มันถึงมีไฟไหม้บ้านเรือน อีกทางพม่าจะก่อมูลดินสูงแล้วขุดรากกำแพง พอขุดไปถึงราก จะกระจายออกเป็นปีกกาแล้วเอาฟืนเข้าไปสุม หลักฐานทางพม่ากล่าวไว้มีมากกว่านี้อีก มีที่ขุดแล้วไปทะลุอีกฝั่งหนึ่ง แต่ว่ายังไม่เปิดออกไป พอกำแพงเมืองพัง พวกหนึ่งก็เข้าข้างล่าง พวกหนึ่งก็ปืนขึ้นข้างบน ไปถึงตรงไหนก็เผาตรงนั้น ในหลักฐานของฝรั่งบอกว่า ราวๆวันที่ 7 หรือ 8 เมษายนนี่แหละ เวลา 5 ทุ่ม พม่าเข้าเมืองได้
แล้วทำไมถึงพังเสียยับเยิน…บรรยากาศตอนนี้ต้องจับอารมณ์ให้ได้ พวกพม่าที่รั้งรอล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นานเป็นปี ก็จะปล้น เพราะมาอยู่นานมาก มาเสียเวลาอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นคือมาปล้น จึงปล้นดะเลย ปล้นมากมายมหาศาลพอปล้นเสร็จแล้วก็เผา เชลยที่จับมาได้ เป็นพระก็ดี บาทหลวงก็ดี คหบดีก็ดี เอามาทรมานอย่างแสนสาหัส เช่น มัดแขนดึงแขนไปไว้ข้างหลังแล้วเอาไฟนาบเท้าเพื่อให้บอกว่าเก็บสมบัติไว้ไหน
พม่าไม่ได้ทำอย่างนี้กับอยุธยาเท่านั้น มะริดก็เผาเหมือนกัน เผาแล้วเก็บสมบัติทั้งหมด หลังจากเข้าเมืองได้แล้ว พม่าเข้ามาอยู่ในอยุธยาไม่เกินสองสัปดาห์ หลักฐานฝรั่งบอกว่าพอตัดสินใจว่าจะต้องถอนทัพกลับ กลุ่มแรกออกจากเมืองวันที่ 21 เมษายน กลุ่มที่สองออกมาวันที่ 25 เมษายน แล้วก็ค่อยๆ ทยอยกันกลับไป กวาดต้อนผู้คนที่เป็นเชลยไป แต่คนเชลยเหล่านี้เขาจับรวมกันไว้ก่อนแล้ว เช่น พระเจ้าเอกทัศน์ หลักฐานบอกว่าไปตายอยู่ที่วัดโพธิ์สามต้น เข้าใจว่าไม่ใช่แค่พระเจ้าเอกทัศน์เท่านั้น มีเจ้านายอะไรต่ออะไรอีกหลายพระองค์…
ศึกครั้งนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2308 พม่าส่งกองทัพเข้าบุกอยุธยาเป็นสองทาง แม่ทัพพม่า 2 คน คือ เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธา ประสานงานเหนือ-ใต้ เริ่มล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าตีเข้าพระนครได้ ส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงในที่สุด
ภาพจาก : www.silpa-mag.com