Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ไขปริศนา..เที่ยวสุโขทัยใน “ศึก 2 โลก” ทำไม “ติโลกราช” จึงปะทะ “บรมไตรโลกนาถ” ??

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในบริเวณพระราชวังจันทน์ ริมแม่น้ำน่าน

"ศึก 2 โลก" คือ สงครามระหว่าง พระเจ้าติโลกราช กับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โลกหนึ่งทางทิศเหนือคือล้านนา อีกโลกหนึ่งเเป็นใหญ่ทางทิศใต้ คือ สยาม

เมื่อ  2 โลกมาปะทะกันเพื่อชิงความเป็นอธิราชเหนือแคว้นสุโขทัย “ศึก 2 โลก” ก็บังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !!  ก่อนอื่นต้องรู้จักตัวละครสําคัญในศึกครั้งนี้ก่อน….

“พระเจ้าติโลกราช” เป็นโอรสองค์ที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกนกับพระนางติโลกจุฑาเทวี (หรือที่ในจารึกเขียนพระนามว่า “แม่พระพิลก”) ประสูติปีพ.ศ. 1952 มีนามเดิมว่า “ท้าวลกหรือพระพิลก”

คำว่า “ลก” เป็นคำโบราณที่หมายถึง 6  ท้าวลกก็คือลูกคนที่ 6 เราไม่ทราบประวัติตอนทรงพระเยาว์มากนัก ทราบแต่ว่าเมื่อโตขึ้นเจ้าสามฝั่งแกนให้ไปครองเมืองพร้าว ต่อมากระทำผิดอาญา(บ้างว่าคิดจะก่อกบฏ) จึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองยวมใต้ (หรือแม่สะเรียงในปัจจุบัน)

ด้วยเหตุที่เป็นโอรสองค์ที่ 6 โอกาสที่จะได้ครองราชย์มีน้อยมาก อีกทั้งถูกเนรเทศไปอยู่ถิ่นกันดารอย่างเมืองยวมใต้ แต่ด้วยความช่วยเหลือของพญาสามเด็กย้อย ซึ่งเป็นขุนนางคนสําคัญของเจ้าสามฝั่งแกน (คำว่า “พญา” หรือ “พญาเด็กหรือพญาเด็กชาย” เป็นตำแหน่ง 1 ใน 4 ของขุนนางระดับสูงของล้านนาที่เรียกว่า “สิงเมือง”  ประกอบด้วยพญาแสนพิงค์ไชยหรือแสนหลวง พญาสามล้าน พญาจ่าบ้านและพญาเด็กชาย) ได้ทำการยึดอำนาจเจ้าสามฝั่งแกน ในปีพ.ศ .1985 แล้วให้ท้าวลกขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า “มหาศรีสุธรรมติโลกราช” หรือที่ส่วนมากรู้จักกันในนาม “พระเจ้าติโลกราช”  ถือเป็นกษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 9

หลังครองราชย์แล้ว พระเจ้าติโลกราชก็ได้แต่งตั้งพญาสามเด็กย้อยให้ขึ้นเป็น “แสนขาน” เพื่อเป็นการตอบแทน ต่อมาแสนขานคนนี้คิดกบฏ พระเจ้าติโลกราชจึงขอร้องหมื่นโลกนครผู้เป็นอา ซึ่งครองเมืองลําปางให้ยกทัพมาช่วยปราบแสนขาน เมื่อกําจัดแสนขานได้แล้ว ตั้งหมื่นโลกนครเป็น “หมื่นโลกสามล้าน” แล้วให้ไปอยู่ช่วยราชการที่เชียงใหม่  จากนั้นก็ตั้งหมื่นแก้วลูกชายของหมื่นโลกนครให้ครองลําปางแทน (หมื่นแก้วคนนี้เดิมชื่อหมื่นหาญแต่ท้องครองเมืองกือ-ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่)

ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชนี้ถือเป็นยุคทองของล้านนา ด้วยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนา โดยเฉพาะทางการเมืองนั้นถือว่ายุคนี้ล้านนามีอาณาเขตกว้างไกลมาก อันเป็นผลมาจากการไปตีบ้านเล็ก เมืองน้อยในรัฐฉาน สิบสองปันนา ล้านช้าง เพื่อขยายอำจาจและสร้างเสริมกําลัง  โดยเฉพาะการไปยึดเมืองน่าน เมืองแพร่ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับสุโขทัย

จะสังเกตได้ว่าหลังจากยึดเมืองน่านเมืองแพร่ได้ใน พ.ศ.  1991 แล้ว (ปีนี้เป็นปีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) อีก 3 ปีต่อมาคือปี พ.ศ. 1994 ล้านนาก็บุก ชากังราว (ของอาณาจักรสุโขทัย) ทันที นี่คือยุทธศาสตร์ครองเหนือแล้วบุกใต้” ของพระเจ้าติโลกราช

ศึกนี้คือการเปิดฉากศึก 2 โลก ซึ่งเป็นศึกที่เกิดขึ้นก่อนที่พระยายุทธิเสถียรหรือยุทธิษฐิระ จะมาเข้ากับฝ่ายล้านนา นี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า จะมีหรือไม่มีพระยายุทธิเสถียรหรือยุทธิษฐิระก็ตาม ศึก 2 โลกก็ต้องเกิดขึ้น เพราะในเวลานั้นบารมีของทั้งสองโลก คือ ติโลกกับบรมไตรโลก ทับซ้อนกันเหนือดินแดนของสุโขทัย โดยที่ต่างต้องการการครอบครอง

ด้านสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เป็นโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) กับชายาซึ่งเป็นราชนิกูลจากวงศ์สุโขทัย ใน โคลงดั้นยวนพ่ายทำให้เราทราบว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 1974 ณ ทุ่งพระอุทัย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชาวบ้านเรียก วัดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราช
พระปรางค์วัดใหญ่ และพระอัฏฐารส

ซึ่งสันนิษฐานว่าคือทุ่งหันตรา ในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่พระราชมารดาไปส่งเสด็จพระราชบิดาที่กําลังจะยกทัพไปตีเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) ตอนทรงพระเยาว์มีนามว่า “พระราเมศวร”

เมื่อพระชนม์ได้ 7 พรรษา  พระราชบิดาส่งไปครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) พงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่า “…ครั้งนั้น เห็นนํ้าพระเนตรพระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกมาเป็นโลหิต”  นักประวัติศาสตร์ตีความประโยคนี้ ว่า แคว้นสุโขทัยมีปัญหาขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง ทางอยุธยาจึงได้ส่งพระราเมศวร ซึ่งเป็นเชื้อสายสุโขทัยขึ้นมาเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา  แต่คิดว่าการขึ้นมาครองสองแควของพระราเมศวรนี้ต่างหากที่ทำให้ฝ่ายสุโขทัยจึงสร้างข่าวลือเรื่องพระพุทธชินราชนํ้าพระเนตรตกเป็นโลหิต เพราะมันเป็นสัญญาณว่าอาณาจักรสุโขทัยกําลังจะสูญ

วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก

การที่สมเด็จเจ้าสามพระยาส่งพระโอรสมาครองเมืองสองแควนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์อยุธยา วงศ์สุพรรณภูมิส่งพระโอรสมาครองเมืองนี้ ก่อนหน้านั้นกษัตริย์วงศ์นี้จะส่งพระโอรสไปครองเมืองสุพรรณบุรีในพระนาม “พระอินทราชาหรือเจ้านครอินทร์”  แต่พอมาถึงรัชสมัยเจ้าสามพระยา พระองค์กลับส่งพระโอรสมาครองที่เมืองสองแควในพระนาม “ราเมศวร” ซึ่งพระนามนี้เดิมเป็นตําแหน่งรัชทายาทของวงศ์อู่ทอง ทั้งๆ ที่ใน ความจริงแล้วพระราเมศวรเป็นเลือดผสมระหว่างสุพรรณภูมิกับสุโขทัย ไม่เกี่ยวกับวงศ์อู่ทองแต่อย่างใด

แต่การที่เจ้าสามพระยาตั้งนามพระโอรสว่า “ราเมศวร” ก็เพื่อจะสื่อว่านี่คือ “โอรสของพระราม”  ซึ่งหมายความว่าพระองค์ คือ รัชทายาทของอยุธยานั่นเอง และการที่กษัตริย์อยุธยาส่งรัชทายาทมาอยู่ที่เมืองสองแคว ก็ทําให้เมืองสองแควกลายเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยาไปในที่สุด  นี่แสดงว่าสมเด็จเจ้าสามพระยาได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากเดิมที่ให้ความสําคัญกับเมืองสุพรรณบุรีมาเป็นเมืองสองแคว  และสร้างเมืองสองแควให้ยิ่งใหญ่กว่าเมืองสุโขทัยและเมืองกําแพงเพชรที่อยุธยามาวางรากฐานไว้ก่อนแล้ว

ต่อมาพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในปี พ.ศ.1991 ด้วยพระชนม์เพียง 17 พรรษา  ทันทีที่ขึ้นครองราชย์ก็ทําการใหญ่โดยการย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือ แล้วสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ ที่ตั้งของพระราชวังเดิม  ออกกฎหมายที่สําคัญ 2 ฉบับคือ พระไอยการตําแหน่งนาพลเรือนและพระไอยการตําแหน่งนาทหารหัวเมือง ซึ่งกฎหมายนี้กําหนดให้ทุกคนมีศักดินาจากตํ่าสุดคือ 5 ไร่ ไปถึงสูงสุดคือ  1 แสนไร่  และ กฎหมายฉบับนี้ก็ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

ที่สําคัญคือการปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมศูนย์อํานาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยแยกหน่วยงานราชการออกเป็น เวียง วัง คลัง นา และที่สําคัญคือแยกพลเรือนให้สังกัดมหาดไทย และทหารให้สังกัดกลาโหม  ด้วยการปฏิรูปนี้ที่ทําให้อาณาจักรสุโขทัย แม้จะเป็นเครือญาติกันก็ตาม ถูกผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงทําให้พระยายุทธิเสถียรไม่พอใจ จากนั้นก็หันไปเข้ากับฝ่ายล้านนา

โดยสรุป “ศึก 2 โลก” นี้เป็นการแข่งบารมีตามคติ “จักรพรรดิราช” ระหว่างพระเจ้าติโลกราช กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ซึ่งมีอาณาจักรสุโขทัยเป็นพื้นที่ทับซ้อนของ “จักรวาทินทั้ง 2 วง” และที่สําคัญคือจักรวาทินทั้ง 2 นี้ เป็นเครือญาติเดียวกันด้วย แต่ในที่สุดฝ่ายอยุธยาก็ได้สุโขทัยไปครองแต่เพียงผู้เดียว

ที่น่าสังเกตอย่าลืมว่า พระนาม “ติโลกราช” กับ “บรมไตรโลกนาถ” นั้น คือพระนามของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

บริเวณของวัดพระพายหลวง ร่มรื่นด้วยเงาไม้ ฟังเรื่องเล่าแบบชิลๆ
บริเวณของวัดพระพายหลวง ร่มรื่นด้วยเงาไม้ ฟังเรื่องเล่าแบบชิลๆ
สมฤทธิ์ ลือชัยบรรยายถึงความเป็นมาของวัดพระพายหลวง
พร้อมหน้าพร้อมตาที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
พร้อมหน้าพร้อมตาที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
พร้อมหน้าพร้อมตาที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
พระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา ที่วัดพระธาตุเชลียง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นศูนย์กลางของเมือง
เริ่มมีการก่อสร้างศาสนสถานในบริเวณนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18
สรีดภงส์ทำนบคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ของเมืองสุโขทัย อายุกว่า 700 ปี
หอเทวาลัยเกษตรพิมาน ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
หอเทวาลัยเกษตรพิมาน ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู
วัดสะพานหิน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย
ทางขึ้นวัดสะพานหินในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
วัดนางพญา ถือเป็นตัวอย่างของงานศิลปกรรมอยุธยาที่ปรากฏอยู่ในเมืองศรีสัชนาลัย
วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกําแพงเมืองศรีสัชนาลัย
เขาพนมเพลิงนั้น เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีบูชาไฟ
วัดป่าแดงมหาวิหาร
พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล พระประธานในวิหารวัดป่าแดงมหาวิหาร
พระพุทธรูปนาคปรก
ประตูแห่งกาลเวลา ขณะเดินผ่านเข้าไปยังภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
ภายในวัดจุฬามณี
พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน
สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง เขื่อนดินขนาดใหญ่ของเมืองสุโขทัย
วัดเจ็ดยอด หรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด
โมเดลจำลองอาณาบริเวณของพระราชวังจันทน์
วัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช ในวัดเจ็ดยอด
วัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่