คำว่า “ก๊กพระนาง” เป็นคำเรียกขานของหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อรับสั่งหรือทรงกล่าวถึง “สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี” ตลอดจนพระขนิษฐา พระราชธิดา และพระราชโอรส คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในเวลาที่ทั้ง 4 พระองค์ เสด็จไปไหนมาไหนพร้อมกัน
เช่น “…เวลาเย็น ก๊กพระนางเสด็จมาบ้านเราทั้งก๊ก โขลงใหญ่ ทอดพระเนตรบ้าน…”เป็นคำบอกเล่าที่บันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุในหอสมุดแห่งชาติ
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระสนมเอก (สกุลเดิม บุนนาค) เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 (ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404) ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เมื่อแรกประสูติในฐานะพระราชธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี”
พระองค์เป็นพระราชธิดารุ่นกลางเช่นเดียวกันกับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งต่อมาทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน เมื่อพระชนมายุได้ประมาณ 15 พรรษา ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังมีพระประสูติการพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง ในปี 2420 ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) พระองค์แรกที่มีพระชนม์ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากมีพระประสูติการพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น “พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี” ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาล โดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
เมื่อผลัดแผ่นดิน พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงโศกสลดเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่น ๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหม ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังทุกประการ
มีเกร็ดเล่ากันว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 นั้น ทรงครองพระอิสริยยศสูงสุดเหนือบรรดาพระมเหสีทั้งปวง ประกอบกับทรงเป็น “น้องเล็ก” มาก่อน จึงค่อนข้างแต่จะทรงเอาพระราชหฤทัยพระองค์เอง แต่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งทรงครองพระราชอิสริยยศสมเด็จพระอัครมเหสีมาแต่เดิม และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทั้ง 2 พระองค์นั้นในฐานะพระเชษฐภคินี ก็ทรงประทานอภัยให้เสมอ
ในปลายรัชกาลที่ 6 ก่อนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จะเสด็จสวรรคตไม่นานนั้น สมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวร ณ พระราชวังพญาไท สมเด็จพระพันปีหลวงนั้นถึงกับทรงลงไปกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทสมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้ว 3 พระองค์พี่น้องก็ทรงกอดกันทรงพระกันแสง จนนางพระกำนัลนางสนองพระโอษฐ์ที่อยู่แถวนั้นต้องร้องไห้ไปตาม ๆ กัน
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะพิการในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และยังทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
ถึงแม้ว่าตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปก็ตาม แต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ กลับมิเคยได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเลยจนตลอดรัชกาลที่ 5 ซึ่งอาจเป็นเพราะความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ส่งผลกระทบถึงผู้เป็นเชื้อสายสกุลบุนนาคอยู่ไม่น้อย
น่าสังเกตว่าได้ส่งผลกระทบถึงตำแหน่งหรือพระอิสริยยศของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ซึ่งพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศแค่ชั้น “พระราชเทวี” เท่านั้น ขณะที่พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์อื่น ๆ ได้รับสถาปนาอิสริยยศชั้นพระอัครมเหสีเป็น “สมเด็จ” ทั้งสิ้น
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงสืบเชื้อสายจากสกุลบุนนาคทางฝั่งพระมารดา คือเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ทรงเป็นเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งของตระกูลบุนนาคในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ แม้จะเป็นที่โปรดปราน แต่ก็ไม่เคยได้พระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” เลย
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี