เรียกว่าเป็น “ข้อน่าสังเกต” หรือ “ข้อคิด” จาก “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเทพาอารักษ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งของเดิมนั้นมีอยู่ 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง และ เจ้าพ่อเจตคุปต์
พระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง หมายถึงผีบรรพชน มีฐานะเป็นเทพารักษ์หรือเทวดาผู้รักษาเมืองทั้งสององค์ ดูเหมือนว่าฐานะและหน้าที่ของพระเสื้อเมืองและพระทรงเมืองซ้ำซ้อนกัน คือรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากศัตรูมารุกราน
ที่น่าสนใจคือ “พระกาฬไชยศรี” เป็นเทพเกี่ยวกับความตาย และ “พระเจตคุปต์” ก็เหมือนกันเกี่ยวข้องกับความตาย ส่วน “เจ้าพ่อหอกลอง” เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่คอยรักษาเวลา คอยดูแลการเกิดเหตุอัคคีภัย หรือศัตรูยกมาประชิดพระนคร
สำหรับ “พระกาฬไชยศรี” และ “พระเจตคุปต์” ถ้าไปดูในคติอินเดีย ชื่อเทพารักษ์ทั้งสององค์มาจากแขก แต่ตัวเป็นไทย เกิดคำถาม “เอ๊ะ!..ท่านเกี่ยวกับวิญญาณในนรก เกี่ยวข้องกับความตาย ทำไมมาเป็นอารักษ์ของเมือง” เรื่องนี้น่าสนใจ
เหตุใดจึงเอาเทพเจ้าเกี่ยวข้องกับความตาย เกี่ยวข้องกับดวงวิญญาณ การควบคุมผี เกี่ยวข้องกับนรกมาอารักษ์เมือง
ด้วยเหตุว่าเทวดาเหล่านี้มิได้มีหน้าที่ปกป้องมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้ดวงวิญญาณที่ชั่วร้ายเข้ามาอยู่ในเมืองด้วย
ที่น่าสนใจไปอีก คือ เทพารักษ์เจตคุปต์ ย้ายที่ทำการ ไม่ได้อยู่ในศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ว่าสถานที่หลักอยู่ที่เรือนจำ ใครเคยเข้าไปทำธุระที่เรือนจำคงได้พบศาลเทพารักษ์ประจำเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่พระภูมิเจ้าที่ทั่วๆ ไป เรือนจำหลายแห่งในไทยรวมทั้งเรือนจำกรุงเทพก็มีเทพเจตคุปต์ประจำเรือนจำ
“เจ้าพ่อหอกลอง” นอกจาก “กลอง” จะเป็นสัญญาณสำคัญในเมืองแล้ว เจ้าพ่อหอกลองมาจากวัฒนธรรมการบูชาเคารพ เครื่องดนตรีในวัฒนธรรมโบราณในอุษาคเนย์เอง “กลอง” เป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนโบราณ เพราะฉะนั้น แน่นอนจะต้องมีผีซึ่งเป็นอารักษ์ดูแลกลองด้วย รูปอารักษ์ส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปเจว็ด เป็นใบเสมา ทำไมถึงคล้ายกันในหลายสถานที่ ทำไมเป็นแบบนี้ คิดว่าคงมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง
นอกจากกรุงเทพฯ จะมีอารักษ์แบบผีพื้นเมืองแล้ว ยังมีแบบจีนด้วย เรียกว่า “เซี้ยอึ้งกง” เป็นศาลหลักเมืองอย่างจีน อยู่ที่สำเพ็ง คนจีนมีความเชื่อคล้ายๆ กัน ถึงแม้ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีความเชื่อเรื่องหลักเมือง เซี้ยอึ้งกงเป็นเทพระดับเมือง ไม่เหมือนแปะกงหรือเจ้าที่ที่เราเห็นทั่วไป
แต่หน้าที่สำคัญของเซี้ยอึ้งกงก็คือดูแลผีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น โดยสรุปไม่ว่าจีน ไทย หรือแขก เทพที่เกี่ยวข้องกับเมืองส่วนมากทำหน้าที่ดูแล “ผี” เป็นส่วนใหญ่ ที่ประเทศอินเดียก็มีตามหมู่บ้าน จะเห็นอารักษ์พวกนี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะดุร้าย
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เราไม่ได้มีเพียงอารักษ์ของเมือง ที่เป็นพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ตามคติดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสถาปนา “เทวดาองค์ใหม่” ขึ้นมา คือ พระสยามเทวาธิราช ในฐานะที่ไม่ได้ดูแลแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ดูแลทั้งประเทศ จึงได้ชื่อ “พระสยามเทวาธิราช”
พระสยามเทวาธิราชองค์แรกเป็นองค์ที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 องค์ที่ 2 สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในหมายเรียกว่า “พระป้าย” ดูจากคติความเชื่อแล้วตรงกันแม้เรียกพระป้ายก็ตาม จะเห็นว่าเบื้องหลังเทวรูปนี้มีป้ายแบบจีน บ้านใครถ้าเป็นคนจีนอยู่ก็จะเห็นป้ายแบบนี้เรียก “ซินจู้” คือป้ายวิญญาณนั่นเอง
พระสยามเทวาธิราชที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระพักตร์ชัดเจน เป็นพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งคิดว่าน่าสนใจ
เพราะว่าเป็นการสร้างรูปเหมือนบุคคลขึ้นในฐานะเทวรูป แต่เดิมก็มีการสร้างรูปเแทนบุคคล แต่ไม่มีการทำลักษณะเหมือนจริง แต่พระสยามเทวาธิราชองค์นี้เหมือนจริง แล้วอยู่ในฐานะทั้งพระราชบรรพชนและอารักษ์ประจำเมือง ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือมาก ปัจจุบันอยู่ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ส่วนองค์เดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง แต่เดิมอยู่ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ กลุ่มพระราชมนเทียรซึ่งสร้างขึ้นใหม่แบบตะวันตก
พระสยามเทวาธิราช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าเป็นเทวดารักษาพระเศวตฉัตร หรือเทวดาเหมือนพระขพุงผี สมัยสุโขทัย ผมก็ตอบไม่ได้ หรือจริงๆ เป็นเทวดาคติใหม่?
อยากให้ดูรูปเทวดาฝรั่ง “เทพีบริแทนเนีย” เป็นเทวีมีเค้าเดิมมาตั้งแต่สมัยกรีก ถูกสร้างขึ้นหลายครั้ง สร้างเป็นเหรียญกษาปณ์ครั้งแรกน่าจะคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ เรียกว่าเป็นเทวีประจำประเทศอังกฤษ ลองเปรียบเทียบดูกับรูปพระสยามเทวาธิราช ซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
ลองเทียบดูเอง แล้วดูว่าคล้ายกันมากน้อยแค่ไหน
นอกจากเหรียญกษาปณ์ พระสยามเทวาธิราชยังปรากฏอยู่ในอีกหลายลักษณะ เช่น เหรียญดุษฏีมาลา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน รูปพระสยามเทวาธิราชถือช่อมะกอกคล้ายเทวีบริแทนเนีย หรือเทวรูปประจำธนาคารแห่งประเทศไทย
สุดท้ายเป็นฝากไว้ให้คิด พระสยามเทวาธิราชอารักษ์ใหม่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 กำลังจะย้ายไปอยู่บนอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
“ผมทิ้งท้ายไว้ว่าพระสยามเทวาธิราช ควรจะเสด็จไปอยู่บนนั้นหรือไม่ เราคิดเห็นกันยังไง ฝากให้คิดกันด้วยครับ”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี