Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

คำ “สแลง” เกิดมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และข้าราชบริพารเสด็จประพาสต้นย่านจังหวัดสิงห์บุรี-ชัยนาท

เวลาสำรวจเส้นทางทัวร์เรื่องเล่าที่เราได้ยินได้ฟังมากที่สุด มักเป็นเรื่องเล่าสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาจเป็นเพราะว่าในรัชสมัยของพระองค์ท่าน โปรดปรานการเสด็จ “ประพาสต้น” มาก  ซึ่งหมายถึงการเดินทางท่องเที่ยวแบบสามัญชน หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ คือ การไปเที่ยวแบบส่วนพระองค์หรือส่วนตัวนั่นเอง ไม่ใช่ไปแบบขบวนเสด็จเต็มรูปแบบ

ด้วยความที่ทรงเที่ยวไปด้วย ไต่ถามทุกข์สุขไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ไปด้วย จึงทำให้ทรงได้รับทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฏรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ระหว่างการเสด็จประพาสต้น ก็ยังมีเรื่องสนุกๆ เกิดขึ้นมากมาย เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ได้ยินมาคือการเกิดขึ้นของ “คำสแลง” หรือ “ศัพท์แผลง” ทั้งมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเสด็จประพาสต้น และมาจากศัพท์ภาษาต่างประเทศ

เหตุการณ์แรกเกิดคำสแลงคำว่า “เที่ยวนายายกรุด” มีความหมายว่า “ถูกหลอก”… มาจากการที่ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน มีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในตามเสด็จด้วย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ตามเสด็จนี้  นิยมประทับเรือออกไปเที่ยวเล่นตากอากาศและเก็บดอกบัวในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามสถานที่ต่างๆ  ตั้งแต่ย่านบ้านแป้งไปจนถึงวัดวิเวกวายุพัด  เป็นที่สนุกสนานกันมาก

พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เสด็จประพาสบางปะอิน ที่มา หอจดหมายเหตุ

ในแถบบางปะอินนั้นมีเจ้าของนาบัวอยู่คนหนึ่งชื่อ  “ยายกรุด” เห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในโปรดเสด็จประพาสในนาบัว จึงไปเพ็ดทูลว่า นาบัวของตนมีดอกบัวจำนวนมาก พายเรือเที่ยวเล่นทั้งวันก็ไม่เบื่อ  พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในหลายพระองค์ทรงได้ฟังเช่นนั้นก็ชักชวนกันไปประพาสที่นาบัวของยายกรุดทันที  ซึ่งเมื่อเสด็จไปถึงก็ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวบานสะพรั่งจำนวนมากตามที่บอกจริงๆ จึงพากันพายเรือเล่นหวังจะเก็บดอกบัวกัน การณ์กลับปรากฏว่าเมื่อดึงดอกบัวขึ้นมา ทรง“ถูกหลอก” ยับเยิน เพราะที่แท้เป็นดอกบัวที่ยายกุดนำเอามาผูกติดไว้ตบตาให้นาบัวดูเหมือนมีดอกบัวเป็นจำนวนมากนั่นเอง

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่ไปเที่ยวนายายกรุดในคราวนั้นจึงถูกเรียกว่า “พวกเที่ยวนายายกรุด” แปลว่า พวกที่ “ถูกหลอก”  คำๆ นี้จึงกลายเป็นคำแสลงต่อๆ กันมา

อีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นที่มาของคำว่า “โคมลอย” คำว่าโคมก็คือโคมไฟที่จุดแล้วปล่อยลอยไปในอากาศ เหมือนกับที่เราเห็นในงานท่องเที่ยวทางเชียงใหม่ หรือในซีรีส์จีนนั่นแหละ ความหมายของคำว่าโคมลอยก็คือ เหลวไหล ไม่มีข้อมูล หรือพูดเรื่อยเปื่อยไม่มีหลักฐาน เช่น พูดโคมลอย  ข่าวโคมลอย เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายที่มาและความหมาย“โคมลอย” ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีความว่า  “…เกิดจากหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งชื่อฟัน มีรูปโคมลอยอยู่ชื่อหน้าต้นของหนังสือนั้น และหนังสือพิมพ์นี้มักมีความซึ่งกล่าวตามอย่างตลกๆ ในภาษาอังกฤษ ดูไม่ใคร่จะเข้ากับเรื่อง…”

หมายความว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งชื่อ พันช์ (Punch) ที่หน้าแรกของหนังสือมีรูปโคมลอยอยู่ ในหนังสือนั้นมักมีเรื่องตลกแบบฝรั่ง แต่คนไทยเห็นว่าไม่เข้ากับเรื่อง ก็มักเรียกว่า “โคมลอย”

เป็นเรื่องเล่าระหว่างสำรวจเส้นทางทัวร์ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี