ช่วงปีเสือที่กำลังโจนทะยานเข้ามาใน พ.ศ.2565 นี้ ใครท่านไหนมีโอกาสไปเที่ยวและทำบุญรับปีใหม่ อยากแนะนำให้ไปที่ “วัดไหล่หินหลวง” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
วัดแห่งนี้จัดว่าเป็นวัดศิลปะ “ล้านนา” ที่งดงามอย่างยิ่ง และหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
วัดไหล่หินหลวง หรือ วัดเสลารัตนปัพพตาราม เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดลำปางอายุหลายร้อยปี ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน จากหลักฐานบันทึกไว้บนแผ่นไม้ที่ท้องขื่อในวิหารโถง กล่าวว่า “…ในปี จ.ศ.1045 (พ.ศ.2226) พระมหาป่าเกสร ปัญโญ เป็นประธานพร้อมด้วยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงและศิษยานุศิษย์ได้สร้างวิหารนี้ขึ้นในปีกดไก๊ เดือน 5 เป็งไทย เต่าสง้า…”
จากรูปทรงสันนิษฐานว่าคงมีการปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมาหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากชาวบ้านสมัยนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามในการรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้างทางศาสนา หากผู้ใดละเมิดจะพบกับความหายนะ จึงทำให้วิหารหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ตลอดมา
วัดไหล่หินยังเป็นอารามที่มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียนจำนวนมาก ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา เนื่องจากพระมหาเกสรปัญโญนี้เป็นพระนักปฏิบัติ ศึกษาศาสนธรรมคำสั่งสอน มีความรู้แตกฉานสามารถเขียนและแต่งธรรมได้วันละมากๆ เล่ากันว่าจารวันหนึ่งได้มูลเหล็กจารเต็มกะลามะพร้าว หาใครเสมอเหมือนมิได้ นอกจากนี้ ท่านได้ปฏิบัติอย่างจริงจังโดยไปปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำฮางฮุ้งจนจิตเป็นสมาธิได้ญาณสมาบัติอภินิหารเป็นอัจฉริยะ
ความสำคัญของวัดไหล่หิน นอกจากเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางแล้ว ยังเป็นสถานที่เก็บ “คัมภีร์โบราณ” ที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาศึกษาและคัดลอก ปัจจุบันคัมภีร์ส่วนหนึ่งชำรุดเสียหายไป แต่ยังมีบางส่วนที่คงสภาพดีและได้เก็บรักษาไว้ในโรงธรรมของวัด
คัมภีร์โบราณของวัดเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดไหล่หินในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพระธรรมในสมัยโบราณ พบว่ามีเอกสารโบราณที่มีอายุเก่ากว่า 700 ปีเศษ จารเป็นภาษาบาลี ตัวอักษรล้านนา ซึ่งจารไว้เมื่อปี จ.ศ.601 หรือ พ.ศ.1782 ชื่อคัมภีร์ “สกาวกณณี” มีทั้งสิ้น 7 ผูก จำนวน 364 หน้า
ในวัดไหล่หินยังมีโบราณสำคัญต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิหารโถง โบสถ์ เจดีย์ ซุ้มประตูโขงและโรงธรรม ซึ่งนับว่ามีคุณค่าทางด้านศิลปะที่แสดงออกถึงความสามารถในเชิงช่าง การสร้างสรรค์ความงามในด้านสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งตามคติความเชื่อและการใช้ประโยชน์ของชุมชน
วัดไหล่หินหลวงขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรเมื่อปี 2523 และมีการบูรณะในปี 2552 บริเวณวัดประกอบด้วยกำแพงชั้นในที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ข่วงแก้ว” มีศาลาบาตรล้อมรอบ (ศาลาบาตร-ลักษณะเป็นโรงยาว มีฐานสำหรับตั้งบาตรได้หลายลูก มักปลูกไว้ในย่านกลางหมู่บ้านที่อยู่ไกลวัด ในเวลาเทศกาลที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็จะตั้งบาตรเรียงไว้ที่ศาลานั้น เพื่อให้ประชาชนได้ตักบาตร)
ซุ้มประตูโขง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูเข้าในพื้นที่ข่วงแก้ว มีประตูรอบวัดอีกสามทิศ ด้านในข่วงแก้วมีวิหารโบราณที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2226 เป็นวิหารขนาดเล็ก ลวดลายสวยงาม ด้านในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย และรูปปั้นพระมหาป่าเกสรปัญโญ ตนบุญที่สร้างวิหารหลังนี้ขึ้นพร้อมเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ด้านหลังวิหารเป็นที่ตั้งองค์เจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ด้านใน รายล้อมด้วยรูป 12 ตัวเปิ้ง (12ราศี) นอกจากนั้นยังมีโบสถ์ขนาดเล็กสร้างขึ้นในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางในขณะนั้น
ภายในวิหารโถง มีสิ่งสำคัญคือ 1.ภาพเขียนสี เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ ที่บริเวณส่วนบนของโครงสร้างหลังคาเป็นภาพพระพุทธรูปประทับยืน 2.ภาพลายคำ เป็นภาพที่ทำด้วยเทคนิคการพิมพ์เป็นลวดลายลงบนพื้นสีทอง ลายประดับบนวิหารนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถา ลายช่อดอกไม้ ลายดอกบัวและกลีบบัว นอกจากนั้นก็มีภาพบุคคลเช่น ภาพพระพุทธเจ้า ภาพเทวดา นางฟ้า และภาพสัตว์หลากหลายชนิด
ซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูบริเวณด้านหน้าวิหาร ลักษณะเป็นซุ้มทรงปราสาทสกุลช่างลำปาง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ที่ตัวอาคารเป็นลายบัวคอเสื้อ ลายประจำยามและลายบัวเชิงล่าง ชั้นหลังคาตกแต่งปูนปั้นด้วยลายพญานาค รูปหงส์ ตัวเหงาและลายพันธุ์พฤกษา ด้านข้างประตูทั้งสองมีรูปกินนรีแบบนูนต่ำประดับอยู่ ส่วนหน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นแบบนูนต่ำตกแต่งด้วยภาพเขียนสี ลักษณะเด่นของซุ้มประตูโขงวัดไหล่หินที่แปลกกว่าวัดอื่น คือ การประดับชั้นหลังคาด้วยรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินเผาเคลือบ
ส่วนโบสถ์ ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส เป็นโบสถ์ขนาดเล็กแบบเปิดโล่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก พระอุตตะมะอาราธิบดีและเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย เป็นประธานในการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2459 รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบยุคหลังสร้างเป็นอาคารโถงมีผนังกั้นด้านหลัง มีราวลูกกรงไม้กั้นเตี้ย ๆ ล้อมรอบ พื้นยกสูงเล็กน้อย หน้าบันเป็นลายแกะสลักกระจกสี ส่วนของค้ำยันเป็น “นาคตัน” หลังคามุมด้วยกระเบื้องเคลือบ ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันทั่วไปในเมืองลำปางขณะนั้น
ถัดมาเป็นโรงธรรม อยู่ในเขตสังฆาวาสใกล้ประตูทางเข้าทิศเหนือ พระอุตตะมะอารามะธิบดี พร้อมด้วยหนานมณีวรรณ หนานวงศ์ พญาศรีวิเลิศและพญาแสนต้าร่วมกันสร้างในปี จ.ศ.1281 (พ.ศ.2462) แต่เดิมใช้เป็นกุฏิ ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณ โรงธรรมหลังนี้สร้างขึ้นตามแบบแผนกุฏิเก่าของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีจารึกบนแผ่นไม้ว่าสร้างในปี พ.ศ.2027 นับว่าเป็นอาคารที่สร้างตามแบบกุฏิโบราณของล้านนา
วัดไหล่หินหลวง ปัจจุบันยังคงใช้ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังรักษาคุณค่าความงดงามของศิลปกรรมล้านนาให้คงอยู่ หากมีโอกาสผ่านไปจังหวัดลำปาง ลองแวะไปอำเภอเกาะคาชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ในสไตล์แบบล้านนาเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี