พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีเดิมมาอยู่ฝั่งกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์แรงงานขุดคลองคูเมือง คูพระนครด้านทิศตะวันออก พระราชทานชื่อ “คลองรอบกรุง” แล้วขุด “คลองหลอด” เชื่อมต่อจากคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ ทำให้พื้นที่ส่วนขยายภายในพระนครแบ่งออกเป็น 3 ส่วน พื้นที่ตรงกลางซึ่งล้อมรอบด้วยคลองคูเมืองเดิมทางทิศตะวันตก คลองรอบกรุงทางด้านทิศตะวันออก คลองหลอด 2 สายทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ กลายเป็นพื้นที่ตรงกลางกำหนดให้เป็นที่ตั้งของมหาวิหารกลางพระนคร ซึ่งก็คือบริเวณใกล้กับเสาชิงช้า ถือกันว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร และเป็นที่ตั้งของเทวสถานกลางเมืองด้วย
พื้นที่บริเวณนี้เมื่อดูจากผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสร้าง สังเกตได้ว่าอยู่ในพื้นที่ส่วนขยายทางด้านตะวันออกของเมืองธนบุรีเดิม และเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ จะพบว่าเป็นตำแหน่ง “ศูนย์กลางพระนคร” อย่างแท้จริง
ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริให้สร้าง “วัดมหาสุทธาวาส” ขึ้นในบริเวณใกล้กับเสาชิงช้า ให้มีความสูงเท่าวัดพนัญเชิงที่กรุงศรีอยุธยา เพราะมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” จากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานเป็นหลักแก่พระนคร เสมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองดี แต่ครั้งนั้นยังมิได้ถวายพระนาม จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปและชื่อวัดโดยสามัญว่า “วัดพระโต” หรือ “วัดพระใหญ่” หรือ “วัดเสาชิงช้า” แต่มีหลักฐานปรากฏชื่อในหมายกำหนดการก่อรากพระวิหารเป็นปฐมนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” หมายถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลกที่ชื่อ “สุทธาวาส”
การก่อสร้างพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2350 แต่ยังมิได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างต่อโดยรัชกาลที่ 2 เองทรงร่วมแสดงฝีพระหัตถ์สลักภาพลงบนบานประตูพระวิหารหลวง ร่วมกับช่างฝีมือในสมัยนั้น โดยโปรดให้สลักลายขุดด้วยไม้แผ่นเดียวก่อน กรมหมื่นจิตรภักดีเป็นนายงาน เมื่อคิดลายอย่างสำเร็จแล้วให้ยกเข้ามาในท้องพระโรง ทรงสลักด้วยฝีพระหัตถ์ก่อน แล้วจึงให้ช่างทำต่อไป บานประตูพระวิหารของวัดสุทัศน์ฯ จึงเป็นศิลปกรรมงานแกะสลักไม้ที่มีคุณค่าสูงยิ่งทางประวัติศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ทรงนิพนธ์กล่าวถึงบานประตูแกะสลักไม้ที่พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ ว่า “…บานทวารวิหารพระศรีศากยมุนีเป็นลายสลักซับซ้อนกันหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง เคยได้ยินพูดกันมาว่า เดิมได้มาแต่เมืองเหนือคู่หนึ่งต้องพระราชหฤทัยว่าเป็นของงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำเติมขึ้นใหม่อีก 2 คู่ ประดิษฐานขึ้นไว้ประจำพระวิหาร ภายหลังมาปรากฏว่าทรงจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์แห่งพระองค์เอง แจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ เห็นจะฟังสันนิษฐานผสมกันได้ว่า เดิมได้มาแต่เหนือคู่หนึ่งจริง เพราะบานที่เรียกว่าแกะทำนองนี้ เห็นมีข้างเมืองเหนืออยู่บ้าง เช่นที่วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่ไฟไหม้เสียแล้ว และที่เมืองฝางเป็นต้น ในยุคนั้นคงทำประกวดประขันกันมาก ที่เรียกว่าแกะนั้นก็เป็นคำควร เพราะคว้านปรุซับซ้อนกันลงไปหลายชั้นซึ่งจะใช้สิ่วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคมมีดมาก เมื่อได้ลายแกะอันงามมาเช่นนั้นเป็นเหตุเตือนพระราชหฤทัยให้ทรงแกะสู้ เพราะพระองค์ทรงชำนาญการแกะยิ่งนัก…”
“… ทั้งยังกล่าวกันด้วยว่า เมื่อช่างแกะสลักเสร็จแล้วได้ทำลายเครื่องมือทั้งหมดเพื่อไม่ให้ทำขึ้นใหม่ได้อีก ซึ่งคงต้องการหมายความว่า บานประตูแห่งนี้งามเป็นเอกนั่นเอง…”
น่าเสียดายว่าบานประตูกลางคู่หน้าพระวิหารหลวงแห่งนี้ถูกไฟไหม้เสียหายไป 1 บาน จึงได้ถอดเอาบานประตูคู่นั้นไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้วถอดเอาบานประตูจากด้านหลังพระวิหารหลวงมาใส่ไว้แทนที่ ทำบานประตูเขียนลายปิดทองรดน้ำคู่ใหม่ไปติดแทนที่ด้านหลังพระวิหาร
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี