หมู่บ้านโปรตุเกส
วันว่างหนึ่งวันกับอากาศร้อนระอุปรอททะลุ 39 องศา หาที่เที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพฯ ไม่พ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดที่หลายคนบอกว่าไปทีไรไม่เคยเบื่อสักที
เป็นเรื่องจริงทีเดียว! อย่างคราวนี้ไม่มีหมุดหมายว่าจะไปวัดโบราณ แต่อยากไปดูวิถีชีวิตชาวต่างชาติในอยุธยา โดยเฉพาะที่ “หมู่บ้านโปรตุเกส”
แรงจูงใจมาจากกูรูประวัติศาสตร์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เขียนบอกไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ว่าภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่ใช่ภาษาที่รู้จักกันกว้างขวางเมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ เมื่อ 240 ปีที่แล้ว แต่กลับเป็น “ภาษาโปรตุเกส” ที่ชนชั้นสูงของเมืองกรุงคุ้นเคยและใช้งานอย่างกว้างขวาง “…เสนาบดีในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 มีจดหมายเป็นภาษาโปรตุเกสส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐ
เพื่อเชิญชวนทำการค้ากับสยาม เมื่อ พ.ศ.2361(ค.ศ.1818) เรื่องนี้มีในเอกสารทางการของสหรัฐ…” เป็นคำบอกเล่าของสุจิตต์เกี่ยวกับโปรตุเกส
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาในไทย โดย “ปรีดี พิศภูมิวิถี” อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเล่าย้อนอดีตไปสู่ต้นศตวรรษที่ 16
หลังจากที่โปรตุเกสตีมะละกาสำเร็จ และทราบว่ามะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสประจำทวีปเอเชีย ได้ส่งเอกอัครราชทูต ดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส มาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2054) ชาวโปรตุเกสนับเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามามีความสัมพันธ์อันดีกับอยุธยา ตอนนั้นพระราชพงศาวดารฉบับตุรแปง บันทึกไว้ว่ามีชาวโปรตุเกสเข้ามาในอยุธยาประมาณ 130 คน เป็นทหาร 120 คน พอดีเกิดสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ขึ้นในสมัยพระไชยราชา ทหารโปรตุเกสก็เข้าร่วมรบกับอยุธยาจนชนะศึก พระไชยราชาจึงพระราชทานที่ดินให้สร้าง “หมู่บ้านโปรตุเกส” ขึ้นในปี พ.ศ. 2088 ชาวโปรตุเกสที่อยู่ในหมู่บ้านก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 มีจำนวนประมาณ 3,000-4,000 คน
อาจารย์ปรีดี เล่าต่อว่า การจัดการหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นแบบอินเดียน สเตท เหมือนกับการปกครองรัฐกัวบนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ที่เป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ของโปรตุเกส อาณาบริเวณของ “หมู่บ้านโปรตุเกส” มีประมาณ 500 ไร่ ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก ทางใต้ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา อาณาเขตตั้งแต่ย่านบางกะจะลงมาราว 2 กิโลเมตร ทอดยาวไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยอาคารโบสถ์ใหญ่และสุสาน สำหรับส่วนของอาคารเหลือเพียงฐานอิฐ ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร
จุดที่น่าสนใจคือร่องรอยของ “บ่อกลม” หลายบ่อ มีขนาดครึ่งเมตร ก้นลึกคล้ายกระทะขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโรงอาบน้ำหรือบ่อหมักสบู่ ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าไทยรับอารยธรรมการใช้สบู่มาจากชาวโปรตุเกส
โดยชาวอยุธยาสมัยก่อนต้องซื้อสบู่จากหมู่บ้านโปรตุเกส หรือไม่ก็ซื้อสบู่นำเข้าจากเรือสินค้าที่เดินทางมาจากยุโรป
ถัดเข้ามาเป็นอาคารคือส่วนของสุสาน มีโครงกระดูกจำนวนมาก บางโครงพบร่องรอยถูกทำร้ายกะโหลกศีรษะแตก สันนิษฐานว่าเกิดจากการวิวาทระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวมุสลิม บางโครงกระดูกถือลูกประคำอยู่ด้วย เชื่อว่าเป็นบาทหลวง
อย่างไรก็ตาม โบสถ์และสุสานโบราณไม่เหลือสภาพให้เห็น คงมีเพียงฐานรากที่เป็นอิฐ ส่วนโครงกระดูกนั้นหลังน้ำท่วมปี 2554 เสียหายอย่างมาก กรมศิลปากรจึงทำโครงเรซิ่นมาทดแทน ส่วนของจริงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ภายในอาณาบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกสตรงสุสานยังคงมีบ้านเรือนของชาวบ้านอาศัยอยู่เหลือเพียง 7 หลังเท่านั้น คุณลุงคนเฝ้าสุสานบอกว่า ตัวโบสถ์ปัจจุบันที่เห็นอยู่นี้จำลองมาจากโบสถ์เก่า ส่วนศาลนักบุญเปรโตทำคล้ายศาลไทย ตามประวัติระบุว่ามีคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่นับถือคริสต์เป็นคนสร้างขึ้น
เรื่องราวของหมู่บ้านโปรตุเกสยังคงมีความซับซ้อน ไม่ชัดเจน เพราะเกิดข้อโต้แย้งขึ้นใหม่ ว่าโบสถ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านโปรตุเกสเวลานี้และสุสานซึ่งบอกว่าเป็นที่ตั้งของคณะโดมินิกันนั้น มีความเป็นไปได้มากว่า “เป็นที่ตั้งของคณะเยซูอิต” มากกว่า เพราะตามบันทึกของบาทหลวง G.F. De Marini มิชชันนารีในคณะเยซูอิต กล่าวถึงการเดินทางมากรุงศรีอยุธยาของคณะ ว่าเป็นไปเพื่อดูแลจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น เนื่องจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น เวลานั้นถูกต่อต้านอย่างรุนแรง มีแต่สยามที่ให้การต้อนรับคนทุกศาสนา คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์จึงอพยพมาตั้งรกรากที่อยุธยา บาทหลวงคณะนี้เข้ามาดูแลเรื่องการทำพิธีต่างๆ เช่น มิสซา การล้างบาป ฯลฯ จึงมีความเป็นไปได้มากว่า…ที่ตั้งของคณะโดมินิกันปัจจุบันจะเป็นของคณะเยซูอิต
เรื่องราวและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหมู่บ้านโปรตุเกสจะเป็นอย่างไร สุดท้ายคงต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม และรอหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาค้นหาความจริงออกมาให้ได้
อย่างน้อย ก็เพื่อความถูกต้องของประวัติศาสตร์ที่จะบอกเล่าสืบทอดต่อไปในรุ่นลูกหลาน และยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในอนาคต
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี