สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวฮือฮาในแวดวงโบราณคดีและวิทยาศาสตร์ เมื่อเมืองโบราณอายุ 3,400 ปี อยู่ทางเหนือของอิรักปรากฎให้เห็นหลังจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแห้งขอด เพราะแล้งจัด
นักโบราณคดีชาวเคิร์ดและชาวเยอรมันร่วมกันขุดค้นอ่างเก็บน้ำโมซุล ริมแม่น้ำไทกริส ในพื้นที่ปกครองของชาวเคิร์ด ทางตอนเหนือของอิรักเมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ตามโครงการความร่วมมือกับคณะกรรมการโบราณคดีและมรดกในเมืองดะฮูก(Duhok) ของอิรัก เพื่ออนุรักษ์แหล่งวัฒนธรรมเพื่อคนรุ่นหลังแหล่งโบราณคดี เคมูเน(Kemune) เชื่อว่าเคยเป็นเมืองซาคีกู(Zakhiku)เมืองสำคัญในยุคสำริด ของอาณาจักรมิตตานี ที่อยู่ช่วง 1550-1350 ปี ก่อนคริสตกาล
ไอวานา พูลจิซ อาจารย์โบราณคดีและอัสซีเรียศึกษา มหาวิทยาลัย ไฟร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่าอาณาจักรครอบคลุมพื้นที่จากทะเล เมดิเตอเรเนียนไปจนถึงตอนเหนือของอิรัก โดยเมืองซาคีกูจมอยู่ใต้บาดาล ตั้งแต่รัฐบาลอิรักสร้างเขื่อนโมซุลในทศวรรษที่ 1980 และแทบจะไม่มีใครเห็นอีกเลย แต่เมื่อพูลจิซได้ยินว่าเมืองปรากฎขึ้นมาอีกครั้ง คณะสำรวจจึงรีบขุดค้น เพราะไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ระดับน้ำจะสูงขึ้นมาอีก ดังนั้น ต้องทำงานแข่งกับเวลาไม่ว่าอากาศหนาว ฝนตก พายุพัด ลูกเห็บตกหรือแดดร้อน
ปัจจุบัน เมืองโบราณจมใต้น้ำอีกครั้ง แต่นักวิจัยจัดทำบัญชีรายชื่อเอาไว้ได้มากแล้ว โดยเฉพาะพระราชวังได้รับการบันทึกในเอกสารเมื่อครั้งที่เมืองโผล่พ้นน้ำมาให้เห็นในช่วงสั้นๆ ปี 2018 (พ.ศ.2561) และการขุดค้นระยะหลังพบโครงสร้างเพิ่มเติมอีกหลายรายการ รวมทั้งป้อมปราการที่มีหอคอยและกำแพง อาคารเก็บของสูงหลายชั้น โครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากก้อนโคลนตากแห้งซึ่งมักรักษาสภาพในใต้น้ำไม่ได้ และเมืองซาคีกู เกิดแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 1350 ปีก่อนคริสตกาลทำให้กำแพงบางส่วนพังทลายและล้มลงมาทับอาคารต่างๆ พูลจิซกล่าวว่าไม่ค่อยมีคนรู้จักชาวเมืองโบราณมิตตานี เพราะนักวิจัยไม่ได้ระบุเหมืองหลวงของอาณาจักรหรือค้นพบหอจดหมายเหตุ แต่สิ่งที่เพิ่งค้นพบระหว่างการขุดค้นครั้งล่าสุดช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น
นักโบราณคดีพบโถเซรามิก 5 ใบ บรรจุแผ่นดินเหนียวอักษรรูปลิ่ม 100 แผ่น ทำขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เชื่อว่าน่าจะอยู่ในยุคอัสซีเรียตอนกลาง ย้อนกลับไป 1350-1100 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการล่มสลายของเมืองและการรุ่งโรจน์ในยุคที่ชาวอัสซีเรียปกครอง
ด้าน ปีเตอร์ เฟลเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี มหาวิทยาลัยทือบิงเงินและหนึ่งในคณะขุดค้น กล่าวว่าคล้ายปาฏิหาริย์ที่แผ่นอักษรรูปลิ่มเหล่านี้ทำจากดินเหนียวที่ไม่ได้เผาไฟและผ่านกาลเวลามาได้หลายสิบปีทั้งที่อยู่ใต้น้ำ ขณะนี้โบราณวัตถุที่ขุดได้ รวมทั้งแผ่นอักษรรูปลิ่มเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติดูฮุก สิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่ขุดได้ รวมทั้งแผ่นจารึก ทีมวิจัยจะนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดะฮูก ก่อนที่เมืองจะหายไปใต้น้ำอีกครั้ง คณะนักวิจัยคลุมซากเมืองด้วยผ้าพลาสติกรัดแน่นและวางก้อนหินและกรวดทับไว้อีกทีซึ่งพูลจิซหวังว่าจะช่วยปกป้องไม่ให้แหล่งโบราณคดีต้องถูกกัดกร่อนและจะหายไปตลอดกาล
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี