พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือพระวชิรญาณเถระ ทรงเป็นผู้นำในการปฏิรูปพุทธศาสนาในนามธรรมยุติกนิกาย ได้ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างงานพุทธศิลป์ขึ้นตามแนวคิดใหม่ ที่เห็นได้ชัดคือจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์ที่เรียกได้ว่ามีรูปแบบและเนื้อหาที่ฉีกจารีตเดิมลงอย่างสิ้นเชิง อาทิ พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นเมฆฝน พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นนายสารถี-ผู้ฝึกม้า พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นศัลยแพทย์ พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นหมอยาผู้ฉลาด พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นพระอาทิตย์ ฯลฯ
ยกตัวอย่าง จิตรกรรมฝาผนัง วัดบรมนิวาส ตอนพระพุทธเจ้าเปรียบเป็นพระอาทิตย์ ที่ผนังสกัดหลังหรือผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธาน ประกอบด้วย ภาพพระอาทิตย์กำลังส่องแสงเจิดจ้าอยู่กลางท้องฟ้า ทางด้านซ้ายเป็นภาพอาคารหลายชั้น ขนาดใหญ่ ด้านบนมีหอนาฬิกาตั้งอยู่โดยที่ลานหน้าอาคารมีกลุ่มคนกำลังใช้กล้องดูดาวส่องไปยังท้องฟ้า ส่วนภาพทางด้านขวา เป็นภาพสถานีรถไฟ มีรถไฟกำลังลอดใต้สถานี มีคนยืนรออยู่ที่ชานชาลา
สาระสำคัญของอุปมาข้อนี้ คือ การเปรียบเทียบพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนพระอาทิตย์ คือเป็นผู้ขับไล่ความมืดหรืออวิชชา ด้วยการนำแสงสว่างหรือปัญญามาสู่โลก ซึ่งเป็นสาระทำนองเดียวกับอุปมาบนผนังสกัดหน้า ที่อยู่ตรงกันข้าม และตรงกับอุปมาเรื่องพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่ผนังสกัดหน้าของวัดบวรนิเวศด้วยเช่นกัน แต่ภาพอุปมาที่วัดบรมนิวาสตอนนี้ มีความแตกต่างไปจากที่วัดบวรนิเวศ ตรงที่มีการอุปมาอุปไมยที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดของภาพมากกว่า โดยให้ความสำคัญด้วยการวาดภาพจนเต็มผนังด้านหลังของพระพุทธรูปประธาน หรือที่เรียกว่า “ผนังสกัดหลัง”
“ผนังสกัดหลัง” ดังกล่าวนี้ เดิมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-2 ภาพที่วาดบนผนังส่วนนี้ มักเป็นภาพภูมิศาสตร์ของจักรวาลแบบโบราณตามคติพุทธศาสนา เป็นฉากใหญ่ที่มีเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาลอยู่ตรงกลางภาพ ลดหลั่นด้วยทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ และมีแม่น้ำมหานทีสีทันดร พระอาทิตย์ พระจันทร์ สวรรค์ ทวีปต่างๆ และนรก เป็นองค์ประกอบสำคัญ
คาดว่าการวาดภาพปริศนาธรรมที่มีฉากเป็นเมืองอันเจริญรุ่งเรืองภายใต้พระอาทิตย์เจิดจ้าบนผนังสกัดหลังเช่นนี้ คงเป็นการ “ล้อ”หรือ “เทียบเคียง” กับคติเรื่องจักรวาลแบบโบราณ ในลักษณะ “เนื้อหาใหม่ในโครงเดิม” ด้วยการวาดภาพภูมิศาสตร์จักรวาล “แบบใหม่” ที่มีอยู่จริงบนโลก อันแสดงถึง “ความจริงเชิงประจักษ์” หาใช่โลกในจินตนาการแบบ “เขาพระสุเมรุ” ที่เคยเชื่อกันมาแต่โบราณ
โดยผู้ออกแบบภาพกำหนดให้ภาพ “พระอาทิตย์” วางอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางผนังแทนภาพ “เขาพระสุเมรุ” สื่อถึงการยอมรับความรู้จากตะวันตกที่พิสูจน์ได้ว่าพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล ขณะที่ภาพวิมานหรือสวรรค์ชั้นฟ้าที่เคยวาดไว้บนท้องฟ้าตามแนวจิตรกรรมแบบประเพณี ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยจักรวาล ซึ่งสื่อผ่านภาพกลุ่มบุคคลที่กำลังใช้ “กล้องดูดาว” ส่องไปยังท้องฟ้าเพื่อศึกษาตามแนวทางของนักดาราศาสตร์สมัยใหม่
ส่วนภาพนรกภูมิที่ในจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณ มักวาดไว้บริเวณตอนล่างของผนังตามมโนทัศน์ของคนทั่วไปว่านรกควรอยู่ใต้พื้นดินในภาพปริศนาธรรมตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนพื้นที่ “ใต้ดิน” ให้กลายเป็นภาพทางรถไฟที่เจาะลงไปในพื้นดิน ซึ่งเป็นวิทยาการอันทันสมัยที่เกิดขึ้นจริงในโลกตะวันตกเวลานั้น
นอกจากภาพพระอาทิตย์ที่วาดอยู่กลางผนังสกัดด้านหลังอย่างโดดเด่นแล้ว จิตรกรรมฝาผนัง วัดบรมนิวาส ยังมีภาพดวงดาวต่างๆอีก 8 ดวง วาดไว้ในส่วนท้องฟ้าของภาพต่างๆด้วย จึงนับภาพดวงดาวรวมได้ทั้งสิ้น 9 ดวง เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความสนพระทัยด้านดาราศาสตร์ของพระวชิรญาณเถระอย่างชัดเจน
ความสนพระทัยศาสตร์แห่งดวงดาวของพระองค์ สามารถแยกออกได้เป็น 2 ทาง คือ “โหราศาสตร์” อันเป็นวิชาดั้งเดิมเพื่อการพยากรณ์โดยอาศัยการสังเกต “ดาวนพเคราะห์” หรือ “เทพนพเคราะห์” ที่อยู่รอบจักรราศี จนเมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยังมีความสนพระทัยโหราศาสตร์อยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงกับตรัสเรียกพระองค์ว่าเป็น “โหร”(astroioger) ส่วนศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งคือ “ดาราศาสตร์”ซึ่งเป็นความรู้เรื่องดวงดาวตามแนววิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของชาวตะวันตก ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยอย่างมากเช่นกัน
ภาพและเนื้อหาจาก หนังสือถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง งานสร้างสรรค์ศิลปกรรมชิ้นสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
_____________________________________
วัดบรมนิวาส หนึ่งในสถานที่สำคัญที่ ทัวร์ Back to History คิงมงกุฎ พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ของมติชนอคาเดมี จะพาไปชมพร้อมถอดรหัสภาพสัญลักษณ์ ปริศนาธรรม นัยแฝงเร้นในงานศิลปกรรมของพระอารามแห่งรัชสมัย โดยมี ผศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร
โดยวัดบรมนิวาส เป็นวัดป่าในเมืองประจำรัชกาล สัมผัสภาพเขียน “จักรวาลวิทยา” ตามหลักดาราศาสตร์สมัยใหม่ผสมผสานสยามประเพณี ปริศนาธรรม จากภาพชาวฝรั่งและดวงดาว
คลิกดูโปรแกรม >>> https://bit.ly/333EgYL
เดินทาง วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2562
ราคา 2,000 บาท
สอบถามรายละเอียดหรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี
โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour หรือ line : @matichonacademy