"หลวงพ่อโสธร" หรือ พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
กรมศิลปากรได้ทำการตรวจสอบภายในองค์หลวงพ่อโสธรก่อนจะมีการอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถหลังใหม่หลายปีมาแล้วนั้น
ข้อมูลจากการตรวจสอบพบว่า หลวงพ่อโสธรประกอบขึ้นจากหินทราย 11 ชิ้น แล้วพอกปูนทับเป็นองค์ ทำให้กลายเป็นพุทธศิลป์ล้านช้าง โดยกลุ่มช่างที่บูรณะมาจากเมืองพนมสารคาม
อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาจากวัสดุที่ใช้ทำองค์พระและพุทธศิลป์ สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น (อู่ทองรุ่นที่ 2 ) และน่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ในราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ประมาณ 500-600 ปี มาแล้ว แต่เดิมประทับบนพุทธบังลังก์ 4 ชั้น ปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในช่วงอยุธยาตอนปลาย รวมถึงพระพุทธรูปบริวารอีก10 องค์ ที่ประดิษฐานรวมกันบนฐานชุกชี ก็มีพุทธลักษณะแบบอยุธยาเช่นเดียวกัน โดยจำนวน 2 ใน 10 องค์นั้น เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างขึ้นจากไม้มงคล มีพุทธลักษณะค่อนมาทางอยุธยาตอนปลายต่างจากพระพุทธรูปบริวารอีก 8 องค์ ที่สร้างขึ้นจากหินทราย ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในช่วงอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดโสธร และองค์หลวงพ่อโสธร น่าจะตั้งอยู่บริเวณบ้านโสธรนี้มาเป็นเวลาช้านาน และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยต่อมา และที่เรียกชื่อหลวงพ่อโสธรก็เป็นการเรียกตามชื่อวัดโสธร
สำหรับชื่อวัดนั้น ก็ชื่อ “โสธร” ตามชื่อ “คลองโสธร” มานานแล้ว ไม่มีหลักฐานที่บอกว่าชื่อ “วัดหงส์” เพราะมีเสาหงส์อยู่ในวัด ซึ่งต่อมาเสาหงส์หักเป็นท่อน เลยเรียกชื่อ วัดเสาธงทอน แล้วเพี้ยนมาเป็น โสธร อันนี้น่าจะเป็นตำนานมากกว่า เพราะแม้แต่ในนิราศฉะเชิงเทราและโคลงนิราศปราจีนบุรี ที่แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกวีเดินทางผ่าน “บ้านโสธร” ก็ยังกล่าวถึงเพียงวัดโสธรเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงตำนานหลวงพ่อโสธรเลย
“วัดโสธร” มีชื่อเต็มว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เดิมเป็นวัดราษฏร์คู่เมืองแปดริ้ว ต่อมาได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 ยกเป็นพระอารามหลวง จากข้อมูลในประวัติศาสตร์ระบุว่าแรกเดิมทีเดียวชื่อ “วัดศรีโสทร” สะกดว่า “โสทร” ไม่ใช่ “โสธร” ดังที่เห็นในปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสวัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2451 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อยังทรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงได้เล่าถึง “วัดโสทร” ..แต่เดี๋ยวนี้ชื่อวัดเปลี่ยนตัวสะกดเป็น “โสธร” แล้ว คำนี้มีความหมายว่า “บริสุทธิ์” หรือ “ศักด์สิทธิ์” คงจะเนื่องมาจากการที่หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีรูปทรงสวยงามนั่นเอง
มีผู้รู้บางท่านยังกล่าวอีกว่า “โสธร” เป็นนามศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “โส” เป็นอักษรสำเร็จรูป ป้องกันสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัยทั้งปวง ส่วน ” ธ “ เป็นพยัญชนะอำนาจ มีตบะเดชานุภาพ และ ” ร ” เป็นอักษรมหานิยม อันเป็นที่ชื่นชมของเหล่าเทวดาและมนุษย์ แม้เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จไปตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.2458 และได้เสด็จที่วัดโสธร ก็ยังได้วินิจฉัยว่า ผู้ที่ให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดโสธร” นั้น ไม่ใช่เป็นคนไม่มีความรู้ เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ไพเราะ ทั้งแปลก็ได้ความหมายดีด้วย
ยิ่งถ้าพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง จะเห็นว่าวัดโสธรวรารามวรวิหารเป็นวัดที่มีลักษณะดี เพราะตั้งอยู่บนแหลม สถานที่ตั้งของวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ธรณีสงฆ์ในการรักษาพระศาสนาสืบต่อไป ตามธรรมเนียมจีน สถานที่ตั้งที่ดีเช่นนี้เรียกว่า “ที่มังกร” มีคำทำนายทายทักว่า …หากพระพุทธรูปได้ประทับ ณ สถานที่แห่งนี้ จะเกิดรัศมีบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ในการที่จะรักษาบ้านเมืองและสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไป คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อพุทธโสธร จึงได้ตัดสินใจขึ้นประทับ ณ วัดหงส์ในเดือนยี่ติดต่อเดือนสามตามตำนาน ซึ่งตำนานที่เล่าว่าหลวงพ่อโสธรลอยน้ำมานั้น น่าจะมาจากกลุ่มชาวมอญแถววัดโสธรที่นำตำนานพระลอยน้ำจากพระราชพงศาวดารเหนือ มาอธิบายประวัติหลวงพ่อโสธร
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี