Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ปริศนา ‘พระยืน’ ของเหล่าจอมพล

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา มติชนอคาเดมีได้จัดทริป ‘เที่ยวพระอารามคณะราษฎร วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน’ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่ถูกเรียกอย่างติดปากว่า ‘วัดพระศรีฯ’ ซึ่งถือเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะช่วงหลังการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ.2475 นำชมโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักกิจกรรม นักเขียน และนักค้นคว้าอิสระด้านประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร

นอกจากงานสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของศาสนสถานต่างๆ ภายในวัด จะแฝงคติและแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก หรือที่เรียกโดยรวมว่าเป็น “ศิลปะคณะราษฎร”  ไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ, พระอุโบสถ และหอระฆัง ยังมีจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การเข้าไปชม นั่นคือ ‘ระเบียงคด’ นั่นเอง

ระเบียงคดของวัดพระศรีฯ แห่งนี้ มีการตั้งพระพุทธรูปไว้โดยรอบเช่นเดียวกับที่วัดเบญจมบพิตร แต่ของที่นี่ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญมาจากที่อื่น แต่เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยที่ฐานของพระพุทธรูปหลายองค์มีจารึกที่ระบุชื่อและตระกูลผู้สร้างและผู้อุทิศส่วนกุศลไปให้ พร้อมปี พ.ศ. กำกับ โดยที่เก่าที่สุดคือ พ.ศ.2484

ความน่าสนใจของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในระเบียงคดแห่งนี้คือ มีพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นของบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่สร้างและนำมาถวายที่วัดแห่งนี้ เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยเป็นพระพุทธรูปทำจากโลหะ ปางสมาธิ เป็นต้น

ที่น่าสังเกตก็คือจะมีกลุ่มของพระพุทธรูปยืน 5 องค์ ซึ่งเป็นของทหารชั้นสูงและผู้มีบทบาททางการเมืองไทยในยุคสมัยนั้น เช่น

  1. จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพระพุทธรูปปางลีลา
  2. จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
  3. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
  4. พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง
  5. จอมพลผิน ชุณหะวัน เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพระพุทธรูปปางลีลา
จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง
จอมพลผิน ชุณหะวัน เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน

นอกจากพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ จะเป็นปางยืนเหมือนกันทั้งหมดแล้ว ที่ฐานขององค์พระที่มีจารึกระบุชื่อของผู้สร้างแล้ว ยังระบุวันที่ถวายเป็นวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2497 เหมือนกันทั้ง 5 องค์

ทำไมพระพุทธรูปของบรรดาจอมพลและผู้มีบทบาททางการเมืองของไทยถึงมารวมกันที่วัดแห่งนี้? ทำไมถึงต้องเป็นปางยืนทั้งหมด? (เว้นของพระยาพหลพลพยุหเสนา) ทั้งๆ ปางของพระพุทธรูปบางองค์ก็ไม่ได้ตรงกับวันเกิดของผู้สร้าง ตามความเชื่อเรื่องพระประจำวันเกิด และทำไมถึงต้องเป็นวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2497? วัดนี้มีนัยยะสำคัญอะไรกันแน่? เรื่องนี้วิทยากรทั้งสองท่านบอกว่ายังต้องหาคำตอบกันต่อไป…..

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี