ก่อนจะมาเป็นกรุงเทพมหานครอย่างในปัจจุบัน พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เรื่องราวจะเป็นอย่างไร “ปรีดี พิศภูมิวิถี” อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงพื้นที่เมืองบางกอก….
พื้นที่เมืองบางกอกเป็นพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ มีความสำคัยอย่างน้อย 2 แง่
แง่แรก คือเรื่องของการค้า อันนี้ชัดเจน เราอาจจะเคยได้ยินที่ว่า “สวนในบางกอก-สวนนอกบางช้าง” แปลว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะปลูกสวนผลไม้ แล้วป้อนเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
แง่ที่สอง คือบางกอกเป็นเมืองยุทธศาสตร์การรบ จึงมี “ป้อมปราการ” มากมาย ป้อมสำคัญของเมืองบางกอก คือ “ป้อมวิชเยนทร์” หรือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” เป็นป้อมที่สร้างอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ตรงที่แม่น้ำไหลออกก็เลยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ขึ้นมา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญของเมืองบางกอกในสองประเด็นนี้สูสีกันมาก เหตุผลคือชาวต่างชาติเเกือบทั้งหมดพูดถึงเมืองบางกอกในสองมิติ ไม่ว่า “ซีมง เดอ ลา ลูแบร์” “นิโกลาส์ แชร์แวส” หรือคนอื่นๆ ร่วมสมัย หรือวันวลิตเอง ทุกคนมองบางกอกเหมือนกันว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาจากกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้ “บางกอก” กลายเป็นเมืองที่เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ฝรั่งเองปรารถนาที่จะได้ จนกระทั่งทำให้สมเด็จพระนารายณ์จำเป็นต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นสากลขึ้น นั่นก็คือ “ป้อมปราการ”
ป้อมที่เราเห็นทุกวันนี้ที่ยังเหลืออยู่ คือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ และป้อมที่หายไปแล้วแต่ว่าเราจะเห็นร่องรอยอยู่ มันมีแผนที่เก่าที่เขียนเนวของป้อมปราการเอาไว้
ป้อมทั้งหมดนี้คือการป้องกันการสู้รบ ซึ่งเกิดเหตุการณ์สาคัญอยู่ 2 ครั้งกับป้อมที่สร้างขึ้นมา นั่นคือ ในปีพ.ศ.2228 ที่เรียกกันว่า “กบฏมักกะสัน” และในปี พ.ศ.2231 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในปีสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สำหรับเหตุการณ์ “กบฏมักกะสัน” เป็นกลุ่มของพวกแขกหรือพวกที่นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ที่คลองตะเคียน อยุธยา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มของมุสลิมที่มาจากเกาะซีลีเบส มาด้วยการค้าหรืออะไรก็ตาม แล้วไปตั้งกลุ่มคนอยู่ที่บริเวณคลองตะเคียน มีเจ้านายเป็นเจ้าชายเข้ามาด้วย ในที่สุดคิดการใหญ่โต อยากรวมกำลังของตนเองแล้วสถาปนาอำนาจพวกที่เป็นมุสลิมขึ้นมา พูดง่ายๆ คือจะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ แล้วอัญเชิญเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งเป็นน้องของสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็จะคว่ำเจ้าฟ้าอภัยทศลงอีก แล้วเอาเจ้าชายตัวเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา
ความนี้หลุดออกเป็นข่าวลือรู้กันทั่วกรุงศรีอยุธยา จึงเกิดการปราบกบฏมักกะสันขึ้น ไล่ล่ากันร่นมาจนถึงเมืองบางกอกแห่งนี้ เพราะเป็นเมืองที่มีป้อมปราการพร้อมอยู่แล้ว คนที่เป็นขุนนางสยามและมีหน้าที่ปราบกบฏ คือ ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งจำป็นจะต้องใช้ทหารต่างชาติกลุ่มหนึ่งในการผลักดันพวกแขกมักกะสันออกไปให้ได้ ช่วงเวลานี้ฝรั่งเศสเองก็เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ตอนนั้นมีเจ้าเมืองบางกอกคนหนึ่ง คือ เรือเอกเดอ ฟอร์แบง (เดินทางมาพร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศส ให้เอาตัวไว้ในเมืองไทยเพื่อควบคุมการสร้างป้อมที่บางกอกและทำแผนที่ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระศักดิ์สงคราม” มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับป้อมและเป็นเจ้าเมืองบางกอกด้วย) ทำหน้าที่ดูแลป้อมและดูแลเมืองบางกอกไปด้วย
ดังนั้น จึงเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่บริเวณที่เราอยู่นี้(มิวเซียมสยาม) ไม่แปลกที่เราจะเจอผี เจอวิญญาณเต็มไปหมดแถวนี้ มีการขุดเจอโครงกระดูกบ้าง จนกระทั่งครั้งหนึ่งตอนบูรณะวัดพระเชตุพนฯ ในส่วนของเขตสังฆาวาส กรมศิลปากรขุดเจอโครงกระดูกจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของสุสานในการฝังศพกลุ่มกบฏกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ปฏิวัติตอนปลายปีครองราชย์ของสมเด็จพระนารายณ์ ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ใกล้สวรรคต
อีกเหตุการณ์คือมีกลุ่มขุนนางทั้งไทยทั้งเทศหาฐานอำนาจกลุ่มตัวเองขึ้นมา แล้วทำยังไงก็ได้ที่จะสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้น ทั้งกลุ่มฟอลคอน(วิชาเยนทร์) พระเพทราชา พระปีย์ เจ้าฟ้าอภัยทศ ต่างก็พยายามหาพื้นที่ของตัวเอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต การแบ่งอำนาจจึงเกิดขึ้น ต่อสู้กันจนร่นลงมาถึงเมืองบางกอก ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน กองทหารฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาพร้อมราชทูต ลาลูแบร์ พร้อมกับกองทหาร 600 กว่าชึวิต แต่พอมาถึงบางกอกเหลือ 400 กว่าชีวิต ก็มาตั้งค่ายอยู่ที่ป้อมเมืองบางกอกทั้งสองฝั่ง และพยายามจะยึดเมืองบางกอกให้ได้ เพื่อจะสถาปนาอำนาจของฝรั่งเศสขึ้นมา แต่เมื่อพระเพทราชารู้เรื่อง จึงเกิดการขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากแผ่นดินไทย กลายเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2231 วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2231 ทหารฝรั่งเศสทั้งหมดก็ต้องถอยออกไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและล่องเรือออกไปจากอ่าวไทยในที่สุด
การต่อสู้ครั้งนั้นมีการยิงกันมากมาย ป้อมขนาดใหญ่ถูกระดมยิง แนวตรงนี้(บริเวณมิวเซียมสยาม) เป็นแนวสำคัญมากของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ตอนที่สู้รบกันที่ป้อมบางกอก ฝั่งสยามให้มีการขึงโซ่กลางแม่น้ำ ดูจากภาพจะเห็นมีการตอกรอ คือไม้เป็นซุงเอาลงไปในน้ำแล้วปลายสุดผูกโซ่ขนาดใหญ่กันไม่ให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หรือเรือรบขนาดใหญ่ออกไปได้(ดูจากภาพ) เรายังมีการค้นพบแผนที่อาคารต่างๆ สมัยพระนารายณ์ ลักษณะตัวอาคารเป็นแบบฝรั่งซึ่งอาคารเหล่านี้ใช้เป็นที่พักของทหาร ที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ตัวอาคารอยู่ที่ไหนไม่แน่ใจ คิดว่าน่าจะอยู่ฝั่งมิวเซียมสยาม
ในการสร้างป้อมเมืองบางกอก จะบอกไว้เลยว่าสูงเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ มีคูน้ำอยู่หน้าป้อม วิธีการสร้างป้อมแบบนี้เป็นมืออาชีพมาก เลยทำให้เมืองบางกอกกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญขึ้นมา (ดูจากภาพ) แนวของตัวป้อม สันป้อม “เดอ ลามาร์ “ (เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์-นายช่างใหญ่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดินทางมาสยามพร้อมกับคณะราชทูต เดอ โชมองต์) และวิศวกรสร้างป้อมเอาความคิดนี้มาจากเมืองในยุโรปทั้งหมด เพราะฉะนั้น บางกอกกับลพบุรีรวมถึงเมืองสงขลา อินทร์บุรี ก็เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์ มีความเป็นตะวันตกค่อนข้างมาก มีภาพปรากฏให้เห็นอยู่ ป้อมเมืองบางกอกที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์มีดำริสร้างขึ้น มีลักษณะเป็นป้อมอิฐสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำระหว่างป้อม มีทหารอาสาต่างชาติและทหารไทยรวมกันอยู่ประจำป้อมประมาณ 400 คน
ป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกสร้างเสร็จเรียบร้อยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2231 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุการณ์ยุ่งยากขึ้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใกล้สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาทรงควบคุมพระราชอำนาจไว้ได้ ไม่โปรดให้มีกองทหารฝรั่งเศสอยู่ในไทย จึงส่งทหารไปขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากป้อมบางกอก กองทหารฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก มารวมกันอยู่ที่ป้อมฟากตะวันออก ข้างทหารไทยก็เข้ายึดป้อมฝั่งตะวันตกไว้ เกิดต่อสู้กัน กองทหารฝรั่งเศสยอมถอนตัวออกไปจากเมืองไทย จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาโปรดให้รื้อป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย ด้วยทรงเห็นว่าสร้างใหญ่โตเกินกำลังทหารไทยจะรักษาไว้ได้ คงเหลือแต่ป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “ป้อมวิไชเยนทร์” กระทั่งในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจัาตากสินโปรดให้ดัดแปลงบริเวณป้อมเป็นพระตำหนักที่ประทับ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อป้อมใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี