ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า “พระธาตุช่อแฮ” พระอารามหลวง ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อ่านชื่อภาษาล้านนาว่า “พะทาดจ้อแฮ”
เป็นศาสนสถานสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดแพร่ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า
คำว่า “ช่อแฮ” แปลว่า ช่อ (ธงรูปสามเหลี่ยม) ที่ทำมาจากผ้าแพร
พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บนดอยชื่อ “โกสิยะธชัคคะ” องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะแบบเชียงแสน มีแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง หุ้มทองดอกบวบ
ความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮมีประวัติและตำนานเล่าขานไว้หลายเรื่อง ตั้งแต่พงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ บันทึกไว้ว่า พญาลิไท หรือ พระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อครั้งยังเป็นมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาในแบบลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศ และโปรดให้สร้างศาสนสถานตามที่ปรากฏในพุทธประวัติหลายแห่ง โดยทรงเลือกสถานที่ด้วยพระองค์เอง สำหรับเมืองแพร่ ได้เลือกเอาดอยโกสิยะธชัคคะ เป็นที่ตั้งของพระธาตุช่อแฮ
ส่วนตำนานเมืองสุโขทัย กล่าวว่าพญาลิไทพระราชทานพระบรมธาตุให้แก่ขุนลวะก๊อม นำไปบรรจุในเจดีย์ให้ผู้คนกราบไหว้ ขุนลวะก๊อมเห็นว่าดอยโกสิยะธชัคคะ มีทำเลดี จึงได้ชักชวนหัวเมืองต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นขุนลวะก๊อมเอาผอบพระบรมธาตุ ตั้งไว้บนแท่นทองและเงิน ตั้งสิงห์ทองคำไว้ แล้วโบกปูนทับ ต่อมาเมื่อเมืองแพร่เข้ารวมในอาณาจักรล้านนา กษัตริย์ล้านนาก็ทำนุบำรุงพระธาตุช่อแฮเสมอมาจนหมดอำนาจลง เวลาผ่านไปพระธาตุช่อแฮทรุดโทรมเป็นอันมาก ในปี พ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัยจึงเข้ามาเป็นประธานปฏิสังขรณ์พระธาตุองค์นี้ บูรณะให้มีฐานกว้างขึ้น เสริมยอดให้สูงขึ้น หุ้มทองเสียใหม่ ล้อมรั้ว ทำประตูเข้าออกเป็นซุ้มสลักลายสวยงาม 4 ประตู อยู่ประจำ 4 ทิศ
อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเสด็จมาถึงดอยโกสิยะธชัคคะด้วยพระองค์เอง และประทับอยู่ใต้ต้นหมากบนบรรพตแห่งนี้ ด้วยเป็นชัยภูมิอันร่มรื่น ครั้งนั้นมีขุนลวะนามอ้ายก๊อมมากราบไหว้พระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา พระพุทธองค์ทรงประทานพระเกศาให้อ้ายก๊อมไว้เส้นหนึ่งแล้วรับสั่งว่าต่อไปบริเวณนี้จะเป็นเมืองใหญ่นามว่า “เมืองแพร่” เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานไป 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและบรรดาพระอรหันต์ได้ร่วมกันอธิษฐาน ว่าเมื่อพระองค์ยังพระชนม์ชีพ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังถิ่นสถานหลายแห่ง สมควรอัญเชิญพระบรมธาตุไปบรรจุสถิตไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งดอยโกสิยะธชัคคะ ก็เป็นหนึ่งของสถานที่นั้น ในสมัยพญาลิไท มีการปฏิสังขรณ์เจดีย์ที่ช่อแฮ โดยมีเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย ไพร่ฟ้าประชาชนมาร่วมบุญกัน และมีการบรรจุพระบรมอัฐิธาตุศอกข้างซ้ายและพระเกศา รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ ตามคติความเชื่อของคนล้านนา
วัดพระธาตุช่อแฮได้ชื่อว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ที่สำคัญเป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ปีนักษัตร เล่าขานกันว่าคนที่เกิดปีขาล นักษัตรเสือ ควรไปกราบไหว้บูชาพระธาตุช่อแฮอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต และในปี 2565 เป็นปีนักษัตรปีขาล จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนเกิดปีขาล หรือนักท่องเที่ยวที่เกิดปีขาลที่จะเดินทางไปไหว้สักการะองค์พระธาตุช่อแฮเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามคนที่เกิดปีนักษัตรอื่น
ทำไมคนเกิดปีขาลต้องไปไหว้พระธาตุช่อแฮ???
ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดนั้น ไม่ได้มีหรือระบุวิธีปฏิบัติโดยตรงใด ๆ ในพุทธศาสนา เป็นแต่เพียงการเชื่อมโยงคติความเชื่อของคนในอดีตให้สอดรับกับแนวคำสอนในพุทธศาสนาเท่านั้น โดยชาวล้านนารับรู้กันมาตามที่บันทึกไว้ในตำนานพื้นเมือง ว่า เมื่อคนตายไปแล้ว ก่อนที่วิญญาณจะมาปฎิสนธิในครรภ์มารดา จะมี “ตัวเปิ้ง” ซึ่งเป็นสัตว์ประจำนักษัตรนำวิญญาณผู้ตายไปพักไว้ที่พระธาตุเจดีย์ก่อน เรียกว่า “ชุธาตุ” (ชุ แปลว่าตั้ง, วาง, รวม, สุม) เมื่อได้เวลาวิญญาณผู้ตายจะไปสถิตที่บริเวณกระหม่อมของผู้ที่จะเป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อทุกคนเสียชีวิตลงวิญญาณก็จะกลับไปอยู่ที่องค์พระธาตุที่เคยอยู่ โดยคติล้านนา มีความเชื่อว่า วัดพระธาตุช่อแฮ คือพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีขาล(ปีเสือ ) ดังนั้น คนที่เกิดปีขาลและมีความเชื่อในคติดังกล่าวก็จะพากันไปไหว้พระธาตุช่อแฮ ที่จังหวัดแพร่ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
สำหรับวัดพระธาตุช่อแฮที่แต่เดิมเตรียมจัดงาน “รวมพลคนปีขาล” ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 นั้น มีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ระหว่างการบูรณะองค์พระธาตุใหม่ให้มีความสวยงาม เนื่องจากทองจังโกและทองคำเปลวแท้ที่หุ้มองค์พระธาตุได้แตก กะเทาะ บางจุดเป็นรู ทำให้น้ำฝนสาดเข้าถึงเนื้อในองค์พระธาตุได้รับความเสียหาย จึงจะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยการปิดทองและเพิ่มทองคำใหม่บนยอดฉัตร ซึ่งทางวัดได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว
โดยทางวัดจะรื้อทองจักโกและทองคำเปลวแท้ออกแล้วบูรณะหุ้มทองจังโก 900 ตารางเมตรๆ ละ 16,000 บาท และทองคำเปลวแท้ใหม่ เพิ่มทองคำบนยอดฉัตรดอกหมากเบ็ง แจกันรองรับดอกหมากเบ็ง ปลีบัวพระธาตุช่อแฮ มีเป้าหมาย 123 กิโลกรัม หรือบูชาแผ่นทองคำแท้แผ่นละ 500 บาท พร้อมหล่อพระสิงห์ 2 ช่อแฮ เนื้อเงิน 29 นิ้ว พระประจำปีเกิดปีขาล โดยใช้เงินแท้ประมาณ 300 กิโลกรัม กิโลกรัมๆ ละ 38,000 บาท หรือบูชาแผ่นเงินได้แผ่นละ 300 บาท จะทำการหล่อในวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันชาติกาล 144 ปี พระครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา
พระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสกล่าวว่าการบูรณะองค์พระธาตุในครั้งนี้แล้วอีก 100 ปีถึงจะได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนจะได้มาร่วมกัน ดังนั้น ขอเชิญชวนผู้ที่ศรัทธานับถือร่วมบริจาคทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ เพื่อเพิ่มทองคำบนยอดฉัตรองค์พระธาตุ ได้ที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาแพร่ เลขที่บัญชี 105-2-88255 ชื่อกองทุนบูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และส่งสลิปการโอนเงินเข้าที่ FB เพจ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง
ในวัดพระธาตุช่อแฮ นอกจากองค์พระธาตุช่อแฮแล้วยังมี “หลวงพ่อช่อแฮ” หรือ “พระเจ้าช่อแฮ” พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา-เชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี