‘ป้อมวังหน้า’ ที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็น!!
ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพที่แสดงถึงแนวกำแพงด้านทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประกอบด้วยป้อมและซุ้มประตู ซึ่งต่อมาถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่5 ภาพที่เห็นป้อมและซุ้มประตูแบบนี้ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายอื่นๆ เท่าไหร่นัก จะหาดูได้ยาก ส่วนบริเวณถัดมาด้านหน้านั้นคือ สนามหลวง หรือเรียกชื่อว่า “ทุ่งพระเมรุ” ในนอดีต
รอบๆ พระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) เป็นที่ประทับหรือเป็นพระราชมณเฑยรของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีป้อมทั้งหมด 10 ป้อม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ป้อมที่ตั้งบริเวณหัวมุมของวังทำเป็นรูปแปดเหลี่ยมหลังคากระโจม นอกนั้นทำเป็นรูปหอรบ
มีป้อมซึ่งเป็นตำนานอยู่ป้อมหนึ่งชื่อ “ป้อมไพฑูรย์” ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นรูปหอรบยาวตามกำแพงวัง ตั้งปืนใหญ่หันปากกระบอกปืนไปทางวังหลวง ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดจึงสร้างป้อมแบบนี้ มีปรากฏในพระราชพงศาวดารเพียงว่าเคยเป็นเหตุใหญ่โตครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2339 คราวนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงไม่เสด็จลงมาเฝ้าฯ
ความปรากฎในหนังสือนิพพานวังหน้า ว่ามีข้าราชการวังหน้ากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ ว่าพวกวังหลวงให้เอาปืนใหญ่ขึ้นป้อมจะยิงวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้นักองค์อีแต่งข้าหลวงลอบลงมาสืบพวกเขมรที่ลากปืนที่วังหลวง ก็ได้ความว่าเอาปืนขึ้นป้อมเพื่อจะยิงอาฏานาพิธีตรุษ กรมพระราชวังบวร ฯ จะมีรับสั่งอย่างไรไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีปรากฏแต่ว่าพวกข้าราชการวังหน้า มีพระยาเกษตร( บุญรอด ) เป็นต้น ให้เอาปืนขึ้นป้อมไพฑูรย์นี้เตรียมจะต่อสู้กับวังหลวง
พวกข้าราชการวังหลวงเห็นข้างวังหน้าเตรียมกำลัง ก็เตรียมบ้าง เกือบจะเกิดรบกันขึ้น ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์) จึงเสด็จขึ้นไปวังหน้าพูดปลอบประโลมสมเด็จพระอนุชาธิราชจนสิ้นทิษฐิมานะ แล้าพาลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไปได้
ส่วนสนามหลวงแต่เดิมนั้นมีเนื้อที่เพียงครึ่งเดียวของเนื้อที่ปัจจุบัน เห็นได้จากแนวถนนผ่ากลางที่ตรงกับแนวถนนระหว่างกำแพงวัดมหาธาตุ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเขตวังหน้าเดิม เมื่อยกเลิกวังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิมออกไปยังพื้นที่วังหน้า จนมีขนาดเท่าที่เห็นในปัจจุบัน
มีการรื้อพลับพลาต่างๆ ปลูกต้นไม้รอบสนามหลวง ซึ่งได้แบบอย่างมาจากสนามทิศเหนือ-ใต้ พระราชวังของสุลต่านเมืองย็อกยาการ์ตาและเมืองโซโล ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสุลต่านออกพระราชพิธีสนาม จึงนำแบบอย่างมาปรับปรุงทุ่งพระเมรุในพระนคร ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่ง แล้วแต่งเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน มีการปลูกต้นมะขามสองแถวโดยรอบ
สนามหลวงเคยใช้เป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งว่าว สนามแข่งม้า และเป็นที่สวนสนามในวันพะราชพิธีต่างๆ กระทั่งในสมัยหลังๆ เคยใช้เป็นที่จัดตลาดนัด และยังเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการไฮด์ปาร์คของพรรคการเมืองต่างๆ
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” เป็นโบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นโบราณสถานระดับชาติ ประเภทสวนสาธารณะ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2520 สมัยที่นายเดโช สวนานนท์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร