คณะนักโบราณคดี สำนักศิลปากรเชียงใหม่ ที่ 7 นำโดยนายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ ร่วมเดินทางกับคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่ลาน้อย และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 และหมู่ 6 ตำบลแม่ลาหลวง กำลังพลกองร้อย อส. ไปยังพื้นที่บ้านห้วยกู่ป๊ะ หมู่ที่ 4 ต.แม่ลาหลวง เพื่อร่วมกันตรวจสอบ "กลองมโหระทึก" ที่เพิ่งมีการขุดค้นพบใหม่ ในพื้นที่ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
การตรวจสอบพบว่า กลองมโหระทึก ชิ้นนี้หล่อด้วยโลหะสำริด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากลอง 80 เซนติเมตร ฐานกลองผุกร่อนชำรุดบางส่วน มีความสูงจากหน้ากลองถึงฐาน 55 เซนติเมตร หล่อหนา 1 มิลลิเมตร หน้ากลองปรากฏลายดวงอาทิตย์ 12 แฉก ที่กึ่งกลาง และประติมากรรมลอยตัวรูปกบ เรียงในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา 4 ตัว ที่ลำตัวกลองบริเวณช่วงต่อระหว่างส่วนบนและส่วนกลาง มีหูกลอง จำนวน 4 หู
กลองมโหระทึกชิ้นนี้กำหนดอายุได้ราว 2,000-1,500 ปีมาแล้ว คาดว่าเป็นกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ 1 ซึ่งใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีขอฝน พิธีกรรมหลังความตายในอดีต นอกจากนี้การค้นพบกลองมโหระทึกชิ้นนี้ ถือเป็นการค้นพบกลองมโหระทึกชิ้นแรกของพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย จึงนับเป็นสมบัติที่มีค่าของแผ่นดิน มีความสำคัญในฐานะหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและปฏิสัมพันธ์กับดินแดนภายนอก ของกลุ่มคนยุคโลหะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นอย่างดี
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่จะต้องตรวจสอบประวัติความเป็นมาให้ชัดเจนอีกครั้ง และถ้าหากเป็นกลองโบราณและพื้นที่ของหมู่บ้าน เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคดึกดำบรรพ์จริง ก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากดินแดนประวัติศาสตร์ยุคหิน ในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า ที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี