ธัชชัย ยอดพิชัย
ภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติ เฉพาะพื้นที่ผนังสกัดด้านในฝั่งตรงข้ามกับพระพุทธรูปประธานปางพระปาลิไลยก์เขียนภาพสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณหน้าวัดกัลยาณมิตร รวมถึงภาพพม่าอาละวาด
ภาพที่เด่นคือภาพผนังตรงกลางเขียนเป็นภาพสะท้อนการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทย ชาวจีน และชาวมุสลิม ซึ่งภาพของชุมชนแถววัดกัลยาณมิตรที่ยังอยู่กันอย่างเอื้ออาทรก็ยังปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน
ส่วนภาพพม่าอาละวาดที่จะกล่าวถึงอยู่ทางด้านซ้ายบนผนังสกัดเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ แสดงความชุลมุนวุ่นวายในสายน้ำเจ้าพระยาหน้าเรือนแพที่ปลูกเรียงรายบริเวณใกล้เคียงหน้าวัดกัลยาณมิตรที่ปรากฏในภาพคือ นักโทษชายสองคนถูกตีตรวนด้วยห่วงเหล็กคล้องคอ และผูกโยงด้วยโซ่ติดกัน พยายามพายเรือเข้าเทียบเรือขายผลไม้ของสองแม่ค้าสาว
นักโทษคนหัวเรือเอื้อมมือซ้ายหยิบตะกร้าใส่ผลไม้ภายในเรือของแม่ค้า ทั้งๆ ที่ในเรือของตนก็มีผลไม้ที่น่าจะขโมยมาอยู่เต็มท้องเรือ แต่สองแม่ค้าสาวคงรู้ตัวว่ามีหัวขโมย คุณเธอที่อยู่หัวเรือจึงอยู่ในท่าทางมือขวายกไม้พายเพื่อจะตีเจ้าหัวขโมย ส่วนมือซ้ายยื้อตะกร้าไว้ อนึ่งใกล้กับเรือแม่ค้าปรากฏเจ๊กสองคนท่าทางเอ็ดตะโรพยายามพายเรือเข้าช่วยเหลือ
เหตุการณ์เช่นนี้คงเป็นเรื่องระทึกมากในอดีต ช่างเขียนจึงนำมาเขียนถ่ายทอดบันทึกผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร
เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ ทูตอังกฤษที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามายังราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ให้ข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจสำหรับเหตุการณ์นี้ เฮนรี่ เบอร์นี่ ได้บันทึกรายงานแนบกับจดหมายที่เป็นเอกสารหารือลับส่งไปยังเลขานุการคณะรัฐบาลในกรมการเมืองและราชการลับ เรื่องที่ราชสำนักสยามได้ประโยชน์จากการกวาดต้อนจับชาวพม่าไปเป็นเชลย ซึ่งเกิดจากชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อพม่าบางส่วน ในรายงานตอนหนึ่งกล่าวว่า
“…คนพม่าที่ถูกจับได้นั้นมีค่ามากยิ่งกว่าคนเกียจคร้านที่เป็นคนของเขาเองงานหลวงเกือบทุกอย่างและแรงงานคนที่ทำในบางกอกนั้นก็เป็นนักโทษชาวพม่า เขาได้รับค่าจ้างจากรัฐบาลน้อยมากจนได้รับอนุญาตให้ขอเรี่ยไรได้จากชาวบ้านสยามที่มาตลาดโดยเรือ และเร่ขายผักผลไม้หรืออาหารต่างๆ ทางแม่น้ำ เราขอย้ำว่าได้เห็นนักโทษพม่าสองสามคนในเรือพายไล่และปล้นเรือหญิงชราชาวสยามที่บางกอก” [เรือเอกหญิงลินจง สุวรรณโภคิน, แปล. เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 4 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540) หน้า 79.]
เอกสารรายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 โดยช่วงเวลาที่เฮนรี่ เบอร์นี่ ลงบันทึกวันที่อยู่ท้ายรายงานแนบกับจดหมาย 2 ธันวาคม ค.ศ.1826 หรือ พ.ศ.2369 นั้น อยู่ในช่วงเวลาที่มีการสร้างวัดกัลยาณมิตร (พ.ศ.2368 ถึง พ.ศ.2370) ซึ่งน่าจะให้คำตอบอธิบายภาพเรื่องระทึกที่ช่างเขียนบันทึกไว้ในจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรได้
พม่าอาละวาดในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นนี้คงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และคงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หน้าวัดกัลยาณมิตรด้วย เพราะเฮนรี่ เบอร์นี่ ยังได้บันทึกถึงการที่ คณะผู้แทนสามารถกดดันให้ราชสำนักสยามยอมปลดปล่อยและส่งกลับพวกเชลยพม่ากว่า 1,400 คน เป็นผลงานที่น่ายินดีของคณะผู้แทน ลองคิดดูซิครับว่าจำนวนชาวพม่าช่วงเวลานั้นที่มีมากในบางกอก เรื่องระทึกก็คงมีมากตามไปด้วยอย่างแน่นอน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี