นนทพร อยู่มั่งมี
เอกสารสำคัญในช่วงนี้คือ กฎหมายงานพระบรมศพ เป็นจดหมายเหตุเรื่องงานพระศพเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระมเหสีของพระเพทราชา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2278 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลักฐานชิ้นนี้แสดงถึงแบบแผนในการพระเมรุเกี่ยวกับขั้นตอนการพระราชพิธี กับทั้งมีแผนผังของพระเมรุและแสดงสถานที่ประดิษฐานพระศพอย่างชัดเจน การที่ระบุแบบแผนของพระเมรุแสดงถึงประโยชน์ใช้สอยในด้านการเป็นตำราพระราชพิธีที่ได้รับถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาซึ่งตำราที่เป็นแม่แบบเล่มอื่นนั้นได้กระจัดกระจายสูญหายไปหลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2310
คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นบันทึกปากคำจากเชลยศึกหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 รายละเอียดของข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ที่รู้แบบแผนการพระราชพิธีช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาอย่างดี ได้กล่าวถึงรายละเอียดของพระเมรุมาศและพระเมรุแบ่งตามฐานานุศักดิ์เป็นพระเมรุเอก โท ตรี โดยเฉพาะพระเมรุเอกหรือพระเมรุมาศสำหรับพระมหากษัตริย์แวดล้อมไปด้วยเครื่องประกอบต่างๆอย่างวิจิตรอลังการประดุจดั่งเขาพระสุเมรุสมกับสถานะองค์สมมติเทพตามคติศาสนาพราหมณ์ ดังนี้
“พระเมรุเอกเสายาว 20 วา ขื่อยาว 7 วา ทรงตั้งแต่ฐานบัตถึงยอดตรี 40 วา มียอดปรางค์ใหญ่ 1 ฐานปรางค์มีชั้นแว่นฟ้ารับสองชั้น ถัดชั้นแว่นฟ้าลงมามีรูปพรหมพักตรประดับยอดฐาน ถัดมามีรูปเทพนมรอบ ถัดลงมามีรูปอสุรแบกถานบัดรอบถานตามช่องซุ้มคฤหกุฎาคารน้อยๆ นั้นมีรูปเทพสถิตยประจำอยู่ทุกช่อง และมุขคฤหกุฎาคารใหญ่ เปนหน้ามุขซ้อน 2 ชั้นทั้ง 4 มุขๆนั้นมียอดปรางค์ย่อมๆ ตั้งอยู่บนหลังคามุขทั้ง 4 ทิศซึ่งเรียกว่าเมรุซีก นั้นที่ระหว่างมุขใหญ่ในร่วมมณฑปที่ย่อเก็จนั้นมียอดปรางค์ย่อมๆตั้งอยู่ตามระหว่างมุขนั้นทั้ง 4 ทิศที่เรียกว่าเมรุแซก แล้วมีหลังคาใหญ่ซ้อนสองชั้นรองหลังคามุขเมรซีกนั้นๆ เปนมุขยาวออกมาทั้ง 4 ทิศ ที่อกไก่บนหลังคามุขยาวทั้ง 4 ทิศมียอดบราลีตั้งเปนระยะห่างกันศอกหนึ่งเปนแถวไปทั่วทุกมุข ใต้หน้าบรรณนั้นเปนซุ้มคูหา ตามอกไก่และเชิงกลอนมีครีบสิงห์ครีบครุฑทับหลังคาทั้งสิ้น ตามเชิงกลอนน้ำตกมีพวงมะโหดโคมเพ็ชรห้อยตามมุขใหญ่เล็กและมณฑปมีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์นาคสดุ้งพร้อมสารพางค์ ที่ฝาเมรุมีช่องบัญชรทุกห้อง หลังบัญชรมีซุ้มเปนยอดมณฑปนพศูล หว่างบัญชรมีเสาย่อเก็จประกอบนอกฝา ต้นเสามีกาบพรหมศร กลางเสามีตาบประจำยามรัด ปลายเสา เปนกาบกลีบบัวทรงเครื่อง บนปลายเสามีทวยนาครับเชิงกลอนยอดปรางค์และหลังคาหน้ามุขช่อฟ้าใบระกาบราลีฝาหน้าบัญชรจรนำลำยอง ล้วนแต่หุ้มดีบุกทองน้ำตะโกทั้งสิ้น”
ภายในพระเมรุเขียนลายธงข้าวบิณฑ์เทพพนม เพดานดาดผ้าขาวเขียนลายดาวทอง บานพระบัญชรภายนอกเขียนลายรดน้ำทองน้ำตะโก กลางพระเมรุเอกมีพระเมรุทองยอดมณฑปนพศูลสูง 10 วาตั้งพระเบญจาทองคำรับพระบรมโกศ ที่เพดานพระเมรุทองแขวนนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตามชั้นพระเบญจาตั้งเครื่องสักการบูชาทำด้วยทองคำทั้งสิ้น รอบฐานพระเบญจามีภาพปักเป็นเทวดาถือเครื่องสูง ภายนอกพระเมรุเอกระหว่างมุขทั้งสี่มีซุ้มรูปกินรและเทวดา ถัดลงมาเป็นชั้นราชวัตรเขียนรูปรามเกียรติ์ ที่มุมพระเมรุมีสำซ่าง (สำหรับพระภิกษุนั่งสวดพระอภิธรรม) ตรงกลางสำซ่างมีเมรุยอดปรางค์ทั้ง 4 ทิศหรือเรียกว่าเมรุทิศ กลางสำซ่างระหว่างเมรุทิศมีประตูยอดปรางค์ทั้ง 4 ด้าน นอกประตูมีรูปยักษ์ถือกระบองเฝ้าประตูละ 1 คู่ ภายนอกสำซ่างมีโรงรูปสัตว์รับบุษบกสังเค็ด ถัดออกมาเป็นรั้วราชวัติมีฉัตรเบญจรงค์ปักรายรอบพระเมรุ และมีตุ่มน้ำให้ทานนอกราชวัติ จากนั้นจึงเป็นต้นพุ่มดอกไม้เพลิง ต้นกัลปพฤกษ์สำหรับโปรยทาน และระทาดอกไม้เพลิงสลับด้วยโรงมหรสพนานาชนิด
สำหรับพระเมรุลำดับอื่นนั้นมีขนาดและความวิจิตรลดหย่อนอย่างมาก พระเมรุโท มีขื่อ 5 วา เสายาว 12 วา ไม่มียอดปรางค์เป็นเมรุซีกเมรุแทรก ไม่มีหลังคา 4 มุขประดับบราลี รวมทั้งหน้าหน้าพรหมพักตร์ที่ยอดปรางค์ ส่วนภายในพระเมรุใหญ่มีพระเมรุทองสูง 7 วา ส่วนพระเมรุตรี มีขื่อ 4 วา เสายาว 15 วา ไม่มีสิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ ยอดปรางค์เมรุซีกเมรุแทรก พรหมพักตร์ประดับยอด รูปสัตว์ต่างๆ ยักษ์ที่ประตู และพระเมรุทอง ส่วนเมรุทิศกับซุ้มประตูทำเป็นยอดนพศูล ไม่มีซุ้มเทวดาประดับ
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี