เป็นเพราะวันนี้หมาที่เลี้ยงไว้ตัวหนึ่งตายลงด้วยความแก่ชรา ทำให้ เข้าใจถึงความรู้สึกของคนสูญเสียหมาว่าเป็นอย่างไร…!!
จึงถือโอกาสพาไปรู้จักความรักระหว่าง “หมา” กับ “คน” ซึ่งคนในที่นี้หมายถึงผู้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสุนัขทรงเลี้ยง “ย่าเหล” ซึ่งมีอนุสาวรีย์อยู่ที่ด้านหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
เรื่องราวแรกพบระหว่างรัชกาลที่ 6 และ ย่าเหล เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง เดือนหนึ่งของปี 2448 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจการชุมนุมซ้อมรบของกองเสือป่า ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ระหว่างที่กำลังเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลเสือป่าอยู่นั้น ก็ปรากฏมีสุนัขพันทางขนปุย สีขาวดำด่าง หูตก ตัวหนึ่ง วิ่งฝ่าผู้คนและพลเสือป่า ตรงไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และก็ยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหนแม้ว่าทหารรักษาพระองค์จะพากันไล่อย่างไรสุนัขตัวนั้นก็ไม่ยอมไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงชื่นชอบสุนัขตัวนี้มาก จึงทรงนำไปเลี้ยงและตั้งชื่อว่า “ย่าเหล” มาจากชื่อตัวละครเอก เอมิล ยาร์เลต์ ในบทละครฝรั่งเศสเรื่อง “My friend Jarlet”
ที่จริงย่าเหลเดิมเป็นสุนัขพันทางเกิดในเรือนจำนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพ เคหะนันทน์) ตำแหน่งพะทำมะรงหรือผู้ควบคุมนักโทษ ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์ เมื่อเห็นว่ารัชกาลที่ 6 ทรงโปรดสุนัขตัวนี้ หลวงไชยราษฎร์รักษาจึงได้ถวายไป
ย่าเหลเป็นสุนัขที่ฉลาดแสนรู้ และช่างประจบ คอยถวายความจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหนก็ติดตามไปไม่ห่าง เสมือนเป็นทหารรักษาพระองค์ ก็ยิ่งทำให้ทรงโปรดปรานจนสร้างความอิจฉาและเกลียดในหมู่ข้าราชบริพารบางคน เมื่อเห็นว่าครั้งไหนที่รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินโดยลำพัง ไม่ทรงนำยาเหลไปด้วย เมื่อนั้นย่าเหลก็จะถูกมหาดเล็กบางคนคอยทำร้ายเอาก็มี หรือคอยแกล้งอยู่เสมอ เล่ากันว่าย่าเหลมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือชอบหนีออกไปเที่ยวนอกวัง เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 6 ต้องทรงตามหาอยู่หลายครั้ง ภายหลังจึงโปรดฯ ให้ทำป้ายแขวนคอยาเหล เป็นแผ่นทองคำลงยา เพื่อว่าเมื่อย่าเหลหนีออกไปนอกวัง จะได้มีผู้พบเห็นนำมาคืน และจะได้รับพระราชทานรางวัล
ในปีที่ 5 ที่ย่าเหลเข้ามาอยู่ในวัง (ราว พ.ศ.2458) คะเนอายุ 9-11 ปี วันหนึ่งมีผู้ไปพบย่าเหลถูกปืนยิงนอนตายอยู่ข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านวัดโพธิ์ ท่าเตียน เชื่อกันว่าคนที่ฆ่าย่าเหลต้องมิใช่มหาดเล็กธรรมดา เพราะผู้ที่มีปืนในสมัยนั้นจะต้องมียศฐาชั้นเจ้าคุณขึ้นไป หรือเป็นชั้นเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนี่ง และปืนที่ใช้ก็เป็นปืนราคาแพง ไม่ใช่ของคนทั่วไปที่จะมี ที่สำคัญร้านที่สั่งปืนชนิดนี้เข้ามาขายในตอนนั้นมีเพียงไม่กี่กระบอก จึงพอคาดเดาได้ว่าคนที่ฆ่าย่าเหลเป็นใคร
รัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพที่ลานหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ โปรดให้มีหีบใส่ศพอย่างดีปิดทองที่มุมโลง และโปรดฯ ให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลงด้วย
ทั้งยังให้มหาดเล็กแต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิดเข้าร่วมขบวนแห่ศพ และพระราชทานของที่ระลึกเป็นผ้าเช็ดหน้าพิมพ์รูปย่าเหล มีตรา“วชิระ” ที่มุมด้านขวาแก่ทุกคนที่ไปร่วมงานย่าเหล ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลหล่อด้วยทองแดง ตั้งไว้ที่ด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ด้านหน้าอนุสาวรีย์นี้ ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัยแก่ย่าเหลด้วย
ปัจจุบันหีบทองลายสลักบรรจุศพย่าเหลยังคงเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งอยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ หากใครมีโอกาสไปเที่ยววัดหรือแวะไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วล่ะก็ อย่าพลาดไปชม !!
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี