Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาล่องใต้ไปรู้จักเมืองโบราณปัตตานี!!

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเพื่อเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต “เมืองโบราณจังหวัดปัตตานี” เป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญสวยงาม ซึ่งเมืองโบราณแห่งนี้มีมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “เมืองยะรัง” ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-18 สันนิษฐานว่าอาจเป็นบ้านเมืองที่เรียกว่า “หลังยาซูว” หรือ” ลังกาสุกะ”

เมืองโบราณยะรัง

“ยะรัง” เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีความเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคใต้ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อําเภอยะรังในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียง(พ.ศ.1045-1099) กล่าวว่าอาณาจักรนี้ตั้งมาแล้วกว่า 400 ปี กรมศิลปากรพบหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองยะรัง ประกอบด้วยเมืองโบราณ 3 แห่ง คือ บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว เมืองโบราณแต่ละแห่งที่ยะรังมีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทั้งภายในและภายนอกเมืองมีโบราณสถานกระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งกรมศิลปากรได้สำรวจและขุดแต่งบ้างแล้วบางส่วน

จากการสํารวจและขุดค้นของกรมศิลปากร ทําให้พบหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในด้านศาสนา ที่มีทั้งการเจริญขึ้นของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ฮินดู สอดคล้องกับบทบาทของลังกาสุกะ ในฐานะเมืองท่าค้าขายในสมัยศรีวิชัย ต่อมาเมื่อสภาพทางภูมิศาสตร์บริเวณอ่าวปัตตานีเปลี่ยนแปลงไป ทําให้เมืองยะรังหมดความสําคัญลง จึงมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น คือ “กรือเซะ-บานา” โดยเมืองใหม่นี้ยังคงมีบทบาททางเศรษฐกิจในการเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งตรงกับช่วงสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 21-23

วังจะบังติกอ ในเมืองโบราณยะรัง
ตึกขาวหรือตึกเดชะปัตตยานุกูลที่จะต้องบูรณะ

ในช่วงสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองปัตตานีมีปัญหาขัดแย้งกับทางกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานครเสมอๆ จนนําไปสู่การย้ายเมืองอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ.2388-2399 เมืองเก่าที่ “จะบังติกอ” จึงถูกสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของดินแดนแถบนี้ ทั้งเจ้าเมือง พ่อค้าและประชาชนทั่วไป ต่างย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้ โดยมี “มัสยิดกลาง” ที่เพิ่งสร้างขึ้น เป็นศาสนสถานหลักของชาวมุสลิม ขณะที่ชาวไทยเชื้อสายจีนมี “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เป็นที่เคารพสักการะ และทั้งสองแห่งนี้รวมทั้งมัสยิดกรือเซะ ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สําคัญของจังหวัดปัตตานีนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม มีทั้งโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลามและพุทธศาสนา ขณะที่ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ คือ วังจะบังติกอ มัสยิดกลางปัตตานี และ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

โบราณสถานในเขตเมืองเก่าปัตตานี ได้แก่ ตึกขาวหรือตึกเดชะปัตตนายากูล และวังจะบังติกอ

ศาสนสถาน ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกลางปัตตานี

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี
มัสยิดกรือเซะ

มีตลาดย่านการค้า ชุมชนเมืองปัตตานี มีประชากรเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น พ่อค้านักธุรกิจชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีนนั้นเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด บริเวณที่ชาวจีนมาสร้างบ้านเรือนเรียกว่า “หมู่บ้านชาวจีน” หรือ “ตลาดจีน” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานีในบริเวณที่เรียกว่า “หัวตลาด”

ช่วง พ.ศ.2338-2399 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มีการขยายเมืองจากกรือเซะ-บานา บริเวณอ่าวปัตตานีมายังบริเวณจะบังติกอ บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปัตตานีและขยายชุมชนข้ามไปยังฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเทศบาลเมือง และเป็นศูนย์กลางทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ ขอบเขตเมืองเก่าปัตตานียังไม่มีความชัดเจนปรากฏให้เห็นในลักษณะของกําแพงเมือง-คูเมือง แต่มีองค์ประกอบของเมืองเก่าที่สําคัญ คือ วังเก่าจะบังติกอ มัสยิด บ้านเรือนรูปแบบมลายูสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โครงข่ายถนน และตึกแถวเก่าสองข้างถนนปัตตานีภิรมย์ ตึกแถวเก่าสองข้างถนนอาเนาะรู ศาลเจ้า และตึกแถวเก่าสองข้างถนนฤาดี จนมีลักษณะย่านจีนที่เรียกว่า “ชิโนกัมปุง” เกาะกลุ่มเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นลักษณะเมืองเก่าที่มีเอกลักษณ์