Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาล่องใต้ไปสิชล ดูู “ศิวลึงค์ทองคำ” แห่ง..เขาพลีเมือง #ปักษ์ใต้บ้านเรา

ไม่ผิดแน่นอน! อ่านว่า “ศิวลึงค์ทองคำ” เพราะเป็นทองคำจริงๆ ทำเป็นรูปศิวลึงค์ขนาดจิ๋ว ขุดพบราวปี 2557 ที่ถ้ำบนเขาพลีเมือง ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพบทั้งหมด 4 องค์  แต่มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน  ส่วนศิวลึงค์อีก 2 องค์  นายเสกสันต์ นาคกลัด ผู้ขุดพบเล่าว่าเอกชนได้ซื้อไปแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 12 กรมศิลปากร กำหนดอายุของศิวลึงค์อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 หรืออายุประมาณ 1000 ปีมาแล้ว

ศิวลึงค์ทองคำ หรือ สุวรรณลิงคะ พบที่เขาพลีเมืองนี้ พบร่วมกับผอบเงิน แผ่นทอง ฐานโยนีทำด้วยเงิน ผงเถ้าและดิน ผอบอิฐ ผอบหิน และแผ่นอิฐล้อมรอบ  จากคำบอกเล่าของนายเสกสันต์ ว่าพบศิวลึงค์ทองคำเพราะไปขุดหาขี้ค้างคาวในถ้ำเขาพลีเมือง โดยพบแผ่นอิฐขนาด 16 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตรเรียงกันอยู่ ด้านล่างมีอิฐแผ่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อยกอิฐขึ้นมีผอบทำด้วยโลหะ เมื่อเปิดฝาออกจึงพบศิวลึงค์ทองคำ

ครั้งแรกพบองค์ที่ 1 ก่อน จากนั้นหลายปีต่อมาจึงพบศิวลึงค์ทองคำองค์ที่ 2 และอีกหลายปีต่อมาจึงพบศิวลึงค์ทองคำองค์ที่ 3 และ 4  ปัจจุบันศิวลึงค์ทองคำองค์ที่ 3 และ 4 อยู่ในความครอบครองของเอกชน โดย ศิวลึงค์ทองคำที่พบมีขนาดความสูง 2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 เซนติเมตร น้ำหนัก 12.7 กรัม ส่วนองค์ที่ 2 ส่วนสูง 2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เซนติเมตร น้ำหนัก 19 กรัม

สำหรับเขาพลีเมือง เป็นเขาลูกโดดในบริเวณทุ่งพลีเมือง ริมคลองท่ารังไทร(คลองวังภัย) กับบ้านจอมทอง ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งบนเขาพลีเมืองมีถ้ำสองถ้ำ  โดยถ้ำทางทิศตะวันออกเป็นถ้ำที่พบศิวลึงค์ทองคำ ปัจจุบันเรียกถ้ำเขาพลีเมือง ส่วนถ้ำทางทิศตะวันตกเรียกถ้ำพระ  ส่วนคลองท่ารังไทร หรือคลองวังภัยนั้น มาสิ้นสุดที่บริเวณตีนเขาพลีเมืองด้านถ้ำพระ  ดังนั้น ตำแหน่งของคลองจึงอยู่ด้านทิศตะวันตกของถ้ำที่พบศิวลึงค์ทองคำ คลองท่ารังไทรไหลไปเชื่อมต่อกับคลองออ โดยไหลไปทางตะวันออกสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำสิชล

การขุดพบศิวลึงค์ทองคำในถ้ำบนเขา เป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธาของนักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นความเชื่อตามคัมภีร์ วิษณุโมตตระปุราณะ ที่กล่าวว่า “การประดิษฐานรูปเคารพนั้น ควรประดิษฐานไว้ในกำแพงเมือง ในเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ ในใจกลางหรือจุดรวมของย่าน หรือถนนที่มีร้านค้า ในหมู่บ้านหรือชุมชนเกษตรที่ไม่มีร้านค้า ริมฝั่งน้ำในสวนป่า ในสวนใกล้สระน้ำ บนยอดเนินในหุบเขาอันงดงาม และที่ดีที่สุดคือ ถ้ำ ที่สำคัญที่สุดคือสถานที่นั้นๆ ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะในสถานที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำพระเจ้าจะไม่มาปรากฏองค์..”

จึงกล่าวได้ว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีกลุ่มพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย ลัทธิปาศุปตะ ในบริเวณพื้นที่อำเภอท่าศาลา, อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้เลือกพื้นที่เขาพลีเมือง ซึ่งอยู่ริมคลองท่ารังไทร ให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประหนึ่งเขาไกรลาสและแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดีย เพื่อประกอบพิธีกรรมอภิเษกให้สถานที่แห่งนี้เป็น “เทวาลัยแห่งพระศิวะ” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการสักการะบูชาและการจาริกแสวงบุญของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย ลัทธิปาศุปตะ ในบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง

217349658_4237879002939974_8522488491935390337_n

การจะเลือกสถานที่แห่งไหนเป็น “เทวาลัยพระศิวะ” นั้น ต้องเป็นไปตาม “ตีรถะ” ซึ่งกล่าวไว้ในพฤหัสตสํหิตา และ ภวิษยะปุราณะ ว่า  “…ละเมาะไม้ที่ใกล้แม่น้ำ ภูเขาแลน้ำพุ เป็นที่ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายอภิรมย์ยินดีที่จะมาสิงสถิต การปรากฏของแม่น้ำลำธารใกล้แหล่งที่เป็นสัญลักษณ์ของตีรถะ หรือน้ำที่จะอาบชำระให้ร่างกายบริสุทธิ์  น้ำจึงเทียบได้กับสัจธรรม ซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ เทียบได้กับความรู้แจ้งในพรหมัน หรือสัจภาวะสูงสุด  เมื่อมีการประดิษฐานรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่ริมฝั่งแม่น้ำ สถานที่นั้นจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  และตามขนบของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในอินเดียเรียกว่าตีรถะ ดังนั้น เขาพลีเมืองซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จึงเป็นทำเลที่เหมาะสมในการประดิษฐานศิวลึงค์ และถูกสมมุติให้เป็น ตีรถะ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในเวลาต่อมา

ส่วนที่สร้างเป็น “ศิวลึงค์ทองคำ” ก็เพราะทองคำเทียบได้กับไข่ทองคำของพรหมา เรียกว่า “หิรัณยะครรภ” ซึ่งจะต้องอยู่ในตำแหน่งกลางสุดหรือในสุด   ดังนั้น จึงถือว่าการวางศิวลึงค์ในผอบหินและมีอิฐล้อมรอบเปรียบเทียบได้กับเทวาลัย หรือเทวสถานองค์หนึ่ง และการนำศิวลึงค์มาฝังไว้ในถ้ำ โดยการประกอบพิธีเสมือนการประดิษฐานเทวาลัยให้ศิวลึงค์ตามตำแหน่งละทิศที่สร้างเป็น วาสตุปุรุษะมณฑล 

การสร้างศิวลึงค์เป็นทองคำ การฝังในผอบเงิน อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์เพื่อให้ถึงการไปรวมอยู่กับพระเจ้าสูงสุด คือ พระศิวะ ซึ่งเป็นพรหมันตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย ลัทธิปาศุปตะ นั่นเอง

สำหรับพื้นที่ในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดี พบว่ามีเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง กระจายอยู่ในที่ต่างๆบนเขา ที่ผ่านมาพบศิวลึงค์ในเขตอำเภอสิชลแล้ว 24 องค์ แต่ศิวลึงค์ทองคำที่พบถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างสูง แสดงถึงความศรัทธาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและความรุ่งเรืองทางการค้าของนครศรีธรรมราชโบราณ

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี