เทวสถานปรางค์แขก หรือ ปราสาทปรางค์แขก ตั้งอยู่ในตัวเมืองลพบุรี ถือเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นหลักฐานของปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองลพบุรี (รวมทั้งในบริเวณภาคกลางของไทยด้วย) ก่อนหน้าที่อิทธิพลทางการเมืองของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จะเข้ามาถึงเมืองลพบุรี ซึ่งยังคงเป็นบ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีอยู่
สำหรับชื่อของโบราณสถานแห่งนี้ อาจมีหลักฐานเก่าที่สุดคือ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองลพบุรีเมื่อปี พ.ศ.2421 ซึ่งเวลานั้นเมืองลพบุรีรวมอยู่ในมณฑลกรุงเก่า พระองค์ทรงเรียกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า “เทวสถาน” ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า “พระปรางค์แขก” โดยจากบันทึกของพันตรี ลูเนต์ เดอ ลาฌองกีแยร์ ชาวฝรั่งเศสผู้จัดทำบัญชีรายชื่อโบราณสถานขอม รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ก็ทำให้ทราบว่าชื่อนี้ถูกเรียกติดปากกันมาอย่างน้อยเกือบ 100 ปีแล้ว
ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทอิฐ 3 องค์ สร้างบนฐานเดียวกันเรียงในแนวเหนือ–ใต้ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทองค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีกสององค์ พบร่องรอยการปฏิสังขรณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย เช่น อิฐบางส่วนมีร่องรอยของการใช้ปูนสอ ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบมากในช่วงกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังมีการสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 2 หลัง ที่มีรูปแบบศิลปกรรมในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภายในคูหาปราสาทองค์กลาง ได้พบฐานรูปเคารพหรือสนานโทรณี จึงมีการสันนิษฐานโดยนักวิชาการว่า น่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาก่อน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักวิชาการยังเห็นต่างกันในการกำหนดอายุเมื่อครั้งแรกสร้างของปราสาทหลังนี้ บางท่านสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 แต่บางท่านสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16