ขณะที่ประเด็นเรื่อง “เสาไฟฟ้า” กำลังฮอตติดชาร์ตเป็นข่าวใหญ่ในโลกโซเชียล ก็บังเอิญว่าเรากำลังเดินทางอยู่ที่ จ.สิงห์บุรี จังหวัดซึ่งเคยเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ตั้งของ “ค่ายบางระจัน” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2 สิ่งสะดุดตาของเมืองนี้เป็นเสาไฟฟ้าที่มี “ไหสี่หู” ตั้งอยู่ด้านบนเสา ขณะเดียวกันไหสี่หูยังเป็นสัญลักษณ์ของ จ.สิงห์บุรีอีกด้วย จึงน่าสนใจว่าทำไมต้องเป็นไหสี่หู
จากการสำรวจตรวจสอบ “ไหสี่หู” เป็นโบราณวัตถุที่พบภายในแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นเตาเผาพวกเครื่องปั้นดินเผาในสมัยอยุธยา ผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาแห่งนี้ไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกเหมือนเครื่องสังคโลก สุโขทัย หรือเครื่องเคลือบของจีน
เนื่องด้วยเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยมีเนื้อดินและเทคนิคที่ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องสังคโลก สุโขทัย เครื่องถ้วยจีน หรือเครื่องถ้วยเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง มีความแข็งแรงกว่าเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน สุพรรณบุรี ก็ตาม ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยน่าจะผลิตออกมาเพื่อเป็น “บรรจุภัณฑ์” ทำหน้าที่บรรจุสินค้าส่งออกมากกว่าเป็นสินค้าหลัก
เพราะตามแหล่งที่พบไหสี่หู โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเส้นทางค้าขายบริเวณที่เรือจมในอดีต จะพบไหสี่หูภายในเรือและโบราณวัตถุประเภทหม้อข้าว, หม้อทะนนคอแคบยาว โดยในหม้อทะนนยังพบไข่เป็ดอยู่ภายในอีกด้วย
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-24 ถือเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อย (สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา) ในท้องที่ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ผลิตภัณฑ์ที่เตาแม่น้ำน้อยผลิตออกมาจะมีเนื้อหนาและหยาบ ส่วนมากไม่เคลือบผิว เป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งมาก เนื่องจากใช้ไฟแรงสูง
สำหรับ “ไหสี่หู” พบหลักฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย นิยมผลิตกันมาก ส่วนใหญ่จะเป็นไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาลดำ มีตั้งแต่ไหสี่หูขนาดเล็กไปจนถึงไหสี่หูขนาดใหญ่ รูปแบบของไหสี่หูแต่ละขนาดมีลักษณะโดยรวมคือ เป็นไหทรงสูงรูปไข่ ไหล่กว้างกว่าช่วงก้น บริเวณก้นแบนเรียบ คอแคบ ช่วงรอยต่อระหว่างคอกับไหล่มีสันเล็กๆ ขอบปากบานออก บริเวณไหล่มีหูแปะอยู่สี่หู มีขนาดใหญ่ ซึ่งหูทั้งสี่ที่แปะทับลงบนแถบร่องบริเวณไหล่
นอกจากไหสี่หูแล้วแหล่งเตาแม่น้ำน้อยยังพบภาชนะประเภท กระปุก 2 หู รูปทรงคล้ายมะละกอ ช่วงปากบานออก คอแคบมาก ช่วงไหล่ถึงตัวกว้างออก มีหูแปะที่ไหล่ทั้งสองด้าน ชายหูลาดยาวลงตามลำตัวของภาชนะ เนื้อดินมีลักษณะเดียวกับไหสี่หู หม้อทะนนทรงสูง คอแคบยาว พบไข่เป็ดบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งสอดรับกับปัจจัยเรื่องการขนส่งที่จำเป็นต้องมีภาชนะรองรับสินค้า และบางไหก็บรรจุสินค้าประเภทของเหลวมีการปิดฝามิดชิดป้องกันน้ำเข้า เช่น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำตาล ยางไม้ ฯลฯ จึงทำให้ไหสี่หูเป็น “ภาชนะบรรจุ” มากกว่าเป็น “สินค้า”
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยนี้ นับเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกรุงศรีอยุธยา การผลิตมีทั้งเพื่อใช้ในราชสำนักและส่งเป็นสินค้าขายทั้งในและนอกประเทศ จากความเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางการค้าของกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรือสำเภาจากที่ต่างๆ เดินทางเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก
ภาชนะจากเตาแม่น้ำน้อยยังใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่เสบียงอาหารและน้ำสำหรับเก็บตุนไว้ใช้ในเรือคราวละมากๆ เมื่อต้องเดินเรือค้าขายเป็นเวลานานในแต่ละครั้ง ความต้องการผลิตภัณฑ์จากเตาแม่น้ำน้อยสำหรับการค้าจึงมีมาก ถึงแม้ไม่ได้เป็นสินค้าโดยตรงก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์จากเตาแม่น้ำน้อยก็นับว่ามีบทบาทในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ช่วง พุทธศตวรรษที่ 20-24โดยเฉพาะภาชนะไห 4 หู