อโยธยา
ใครที่มองหาสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จังหวัด “พระนครศรีอยุธยา” ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ หลายคนยังคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มักจะเห็นผ่านตาในละครหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สะท้อนความรุ่งเรืองของกรุงเก่า แต่แท้จริงแล้วก่อน กรุงศรีอยุธยาจะถูกสถาปนาเป็นราชธานีที่มีประวัติยาวนานกว่า 417 ปีนั้น ได้มีเมืองที่ชื่อว่า “อโยธยา” เกิดขึ้นก่อน วันนี้ ทัวร์มติชน อคาเดมี จะพาไปแกะรอยอารยธรรม มนต์เสน่ห์ของเมือง “อโยธยา” ที่ซ้อนอยู่ภายใต้เงากรุงศรีอยุธยา ผ่าน 6 โบราณสถาน ได้แก่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดกุฎีดาว, วัดอโยธยา, วัดมเหยงคณ์, วัดหันตรา แวะลิ้มรสอาหารฝีมือชาวกรุงเก่าที่ร้านคลองบ้านม้า ร้านอาหารเล็กๆ อยู่ติดริมคลองบ้านม้า
โดยทริปนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับหน้าที่ไกด์ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์พอสังเขปของ “อโยธยาศรีรามเทพนคร หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อโยธยา” บ้านเมืองระดับนครรัฐที่มีอายุเก่าแก่ก่อนกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม สืบต่อจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) โดยเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา คนละฟากแม่น้ำป่าสัก
ทำเลที่ตั้ง
ในทางสภาพภูมิศาสตร์ เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นทางแยกของลำน้ำ หรือเรียกว่า ทางแพรก ประกอบด้วยคลองหันตราและคลองโพ มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดราว 1,600 x 2,800 เมตร ลักษณะคล้ายกับเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองสุพรรณบุรี เมืองอโยธยาจึงตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีลักษณะเป็นทุ่งกว้างระหว่างลำน้ำหันตรากับลำคลองโพ เป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลลงมาจากแม่น้ำป่าสักและลำน้ำอื่นๆ จากเทือกเขาทางเพชรบูรณ์และที่ราบสูงทางตะวันออกเฉียงเหนือ
- ทิศเหนือ ใช้ลำน้ำหันตราที่ไหลผ่านเป็นคูเมือง
- ทิศใต้ ใช้คลองปากข้าวสารที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดพนัญเชิงเป็นคูเมือง
- ทิศตะวันออก ใช้คลองวัดกุฎีดาว ซึ่งรับน้ำจากลำน้ำหันตราเป็นคูเมือง
- ทิศตะวันตก มีการขุดคูขื่อหน้าเชื่อมลำน้ำหันตรากับลำน้ำลพบุรี ตั้งแต่ตำบลหัวรอลงมาสบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางกะจะ (บริเวณหน้าป้อมเพชร) จึงเป็นคูเมืองของด้านนี้
- ทางทิศใต้ ของตัวเมืองยังมีสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยแนวคันดินและวัดพระนอน ซึ่งอยู่ติดกันเท่านั้น และมีท้องทุ่งสำคัญคือ ทุ่งหันตราและทุ่งพระอุทัย
จากทำเลที่ตั้งทำให้สันนิษฐานว่า อโยธยา เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง น่าจะมีการติดต่อค้าขายกับเพื่อนบ้านทั้งทางเหนือและทางใต้ รวมทั้งทำการค้ากับต่างชาติด้วย โดยเฉพาะอินเดีย เปอร์เซีย และจีน จึงก่อให้เกิดรูปแบบศิลปกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์บางท่านเรียกว่า ศิลปะอู่ทองหรือศิลปะอโยธยา ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบเนื่องมาจากศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลาย
การล่มสลายของอโยธยา
การล่มสลายของเมืองอโยธยา มิได้มาจากการแพ้สงครามดั่งเช่นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดจากโรคระบาดทำให้ผู้คนจำต้องทิ้งเมือง ดั่งที่ปรากฎหลักฐานใน พระราชพงศาวดารเหนือ ว่า หลังรัชกาลพระยาแกรก 3 ชั่วกษัตริย์ เจ้าอู่ทองได้ครองราชย์ต่อมาอีก 7 ปี เกิดโรคห่า ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และ “…พระยาอู่ทองตรัสแก่เสนาบดีว่า พระตำหนักเวียงเหล็ก ให้หาที่ไชยภูมิจะสร้างเมืองใหญ่ จึงให้อำมาตย์ข้ามไปฝั่ง ที่ฝั่งเกาะตรงวังข้ามเกณฑ์ไพร่ถางแผ้ว” จากข้อความดังกล่าวนี้สันนิษฐานได้ว่า เมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายพระราชฐานมาอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็ก และโปรดให้สร้างเมืองใหม่ที่ฝั่งตรงข้ามกับพระตำหนัก คือบริเวณริมหนองโสนในเกาะเมืองอยุธยาในปัจจุบัน
นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ร้ายแรงว่า “ทรงพระกรุณาตรัสว่า เจ้าแก้ว เจ้าไทย ออกอหิวาตกโรคตาย ให้ขุดขึ้นเผาเสีย และที่ปลงศพนั้น ให้สถาปนาพระเจดีย์และวิหาร เป็นพระอาราม และให้นามชื่อ วัดป่าแก้ว” แสดงให้เห็นว่า เมื่ออโยธยาเกิดโรคระบาดกระทั่งแม้แต่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ยังสิ้นพระชนม์จากโรคระบาด เมื่อจัดงานพระศพเสร็จทรงโปรดเกล้าฯ ให้บริเวณที่ปลงศพสถาปนาเป็นพระอารามและโปรดพระราชทานชื่อว่า วัดป่าแก้ว หรือต่อมารู้จักในชื่อ วัดใหญ่ชัยมงคล
ลัดเลาะเส้นทางอยุธยาฝั่งตะวันออก ค้นหาเสน่ห์ เมือง “อโยธยา” ผ่าน 6 โบราณสถาน
วัดพนัญเชิงวรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า ‘บางกะจะ’ ซึ่งเป็นแม่น้ำ 2 สาย แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกันจึงทำให้บริเวณนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการกำเนิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ด้านในประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือหลวงพ่อโต หรือเจ้าพ่อซำปอกง พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยศิลปะอู่ทองตอนปลาย ลงรักปิดทองที่มีขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย ซึ่งในพระราชพงศาวดารฯ กล่าวว่า สร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ทั้งนี้ตามคำให้การชาวกรุงเก่ายังบันทึกไว้ว่า เมื่อคราวจะเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 หลวงพ่อโตมีน้ำตาไหลออกมาเป็นสาย เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
นอกจากนี้ภายในยังมี ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก อนุสรณ์แห่งความรัก ซึ่งเป็นตำนานของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์เมืองอโยธยา และพระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาเจ้ากรุงจีนที่กลั้นพระทัยจนสิ้นพระชนม์ด้วยความน้อยใจ พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงโปรดให้พระราชทานเพลิงพระศพที่บริเวณแหลมบางกะจะ แล้วสถาปนาบริเวณที่ถวายพระเพลิงเป็นวัดชื่อ พระเจ้าพระนางเชิง หรือวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน
วัดใหญ่ชัยมงคล
เดิมชื่อ ‘วัดป่าแก้ว’ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่เมืองอโยธยายังเจริญรุ่งเรือง โดยในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดศพของเจ้าแก้ว เจ้าไทย ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยโรคอหิวาตกโรคขึ้นเผาเสีย และที่ปลงศพนั้นให้สถาปนาพระเจดีย์และวิหารเป็นพระอาราม และโปรดพระราชทานชื่อว่า ‘วัดป่าแก้ว’ และยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจาก อุโบสถของวัดเคยเป็นที่ซึ่งพระเฑียรราชาและคณะผู้ก่อการบางส่วน คิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์มาประชุมเสี่ยงเทียนอธิษฐาน
วัดกุฎีดาว
ประวัติการก่อสร้างวัดกุฎีดาวไม่ชัดเจน ปรากฏในหนังสือ พงศาวดารเหนือ ว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้าง เมื่อจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสี ของพระองค์ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นคู่กัน นอกจากนี้มีข้อสันนิษฐานว่า วัดกุฎีดาว อาจจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวัดมเหยงคณ์ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญวัดหนึ่งของ “อโยธยา” เมืองเก่าที่เกิดก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ อีกไม่กี่ปีต่อมาสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามขึ้นบ้าง เป็นการดำเนินตามแบบอย่างของสมเด็จพระเชษฐาธิราช
วัดอโยธยา
วัดอโยธยา หรือ วัดเดิม ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของเขตการอนุรักษ์เมืองเก่าอโยธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2486 ปัจจุบันยังคงสภาพเป็นโบราณสถาน และในส่วนที่ได้รับบูรณะขึ้นใหม่ ตามตำนานพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า วัดนี้เคยเป็นพระราชวังสมัยอโยธยา ต่อมาได้สร้างพระราชวังแห่งใหม่ขึ้นทางตอนใต้ของเมือง จึงถวายพื้นที่นี้ให้สร้างเป็นวัดและมีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายองค์เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
วัดหันตรา
วัดเก่าแก่สมัยอโยธยา ตั้งอยู่ริมคลองหันตรา หรือ แม่น้ำป่าสักสายเก่า แต่เดิมที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า ทุ่งหันตรา หรือ ทุ่งอุทัย ซึ่งเป็นที่นาของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา ซึ่งเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ เพื่อขอความเจริญในพืชพันธุ์ และข้าวปลาอาหารของราชอาณาจักรและยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอีกด้วย ทั้งนี้ โบสถ์ของวัดเป็นแบบมหาอุตม์ กล่าวคือ ไม่มีประตูด้านหลังและไม่เจาะช่องหน้าต่าง เชื่อกันว่าใช้เป็นที่ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังที่ศักดิ์สิทธิ
วัดมเหยงคณ์
วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ตะวันตกของคลองหันตรา สายน้ำสำคัญของอโยธาซึ่งไหลมาจากแม่น้ำป่าสัก โดยชื่อ มเหยงคณ์ อาจมาจากรากภาษาบาลี คำว่า มหิยังค์ แปลว่าภูเขาหรือเนินดิน ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรม เจดีย์ประทานทรงระฆังศิลปะแบบอยุธยา ซึ่งที่ฐานประดับประติมากรรมช้างล้อม น่าจะมีต้นแบบมาจาก มหิยังคณเจดีย์ แห่งลังกาทวีป
สำหรับผู้สนใจร่วมทริปแกะรอยมนต์เสน่ห์ แห่ง “อโยธยา” เมืองเก่า ที่ซ้อนอยู่ภายใต้เงา กรุงศรีอยุธยา สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 08-2993-9097, 08-2993-9105 หรือ Line OA : @matichon-tour และ Facebook : Matichon Academy – มติชนอคาเดมี