ตลอดปี 2566 มติชนอคาเดมี ยังคงรังสรรค์เส้นทางทัวร์ศิลปวัฒนธรรม เอาใจสายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วยคอนเซ็ปต์ “เข้าชมยาก..แต่อยากพาไป” เน้นเมืองผ่าน & เมืองรอง
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มติชนอคาเดมีได้จัดเส้นทางทัวร์ศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เพื่อเป็นความรู้ทางเลือกในมิติใหม่ๆทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง และเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทำให้เส้นทางทัวร์ของเรามีความแตกต่างและน่าสนใจ จึงเป็นจุดขายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ในปี 2566 นี้ ทางมติชนอคาเดมีได้เน้นเส้นทางเมืองผ่าน และเมืองรอง ที่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักใช้เป็นเส้นทางผ่านสู่จังหวัดใหญ่ๆ หรือแค่แวะเที่ยวไม่กี่แห่ง โดยยังคงคอนเซ็ปต์ “เข้าชมยาก…แต่อยากพาไป” โดยได้เลือกจังหวัดและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มาเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจมากขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เริ่มที่ต้นปี เราพาทุกท่านไปไหว้พระขอพรพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่แดนล้านนาตะวันออก จ.แพร่-น่าน โดยไฮไลต์คือ พระธาตุช่อแฮ และพระธาตุแช่แห้ง นอกจากนั้นยังได้เข้าชมคุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) โดยได้เจ้าสมปรารถนา ณ น่าน ทายาทสายตรงเป็นผู้นำชมและเล่าเรื่องราวของเจ้านายฝ่ายเหนือ ปิดท้ายด้วยประวัติศาสตร์ในอีกมุมของ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ที่อาจเปิดมุมมองใหม่ในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ต่อมาในเดือนแห่งความรักและช่วงสงกรานต์ เราได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกเพื่อสัมผัส 2 เรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือชมงานพุทธศิลป์อยุธยาที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเริ่มกันที่หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา ที่แกะสลักจากหินทราย ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้น จากนั้นชมจิตรกรรมกลุ่มสกุลช่างบางปลาสร้อย จ.ชลบุรี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตน อีกประเด็นคือเรื่องของวัฒนธรรม ‘ไทย-ลาว-จีน’ ที่เมืองแปดริ้ว ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวท้องถิ่นที่ไม่ถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ในปีนี้เรายังพาเดินทางสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่นอกจากจะโดดเด่นและมีอัตลักษณ์ของตนแล้ว รสชาติของอาหารการกินและการต้อนรับแขกผู้มาเยือนของที่นั่น ก็มีมนต์สเน่ห์ชวนให้กลับไปเยือนอยู่เสมอ
เข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม เราได้พาทุกท่านไปร่วมหาคำตอบในประเด็น “ขอมคือใคร?” ที่เมืองลพบุรี โดยพาไปชมสถานที่สำคัญ เช่น ศาลพระกาฬ วัดนครโกษา พระปรางค์สามยอด วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี เทวสถานปรางค์แขก พร้อมพาชมโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งก็เต็มอิ่มทั้งความรู้ และความสนุกตลอดการเดินทาง
ตามด้วยทัวร์ เส้นทางโบราณพันปี ที่เมืองพระบาง จ.นครสวรรค์ และทัวร์ เที่ยวเมืองพิจิตรเก่า…แลเงาพระเจ้าเสือ จ.พิจิตร ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้มักเป็นเมืองผ่านและเมืองรองเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ แต่ทั้งสองจังหวัดนี้กลับมีเรื่องราวที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไท) บนวัดวรนาถบรรพต หรือวัดเขากบ จ.นครสวรรค์ หรือวัดโพธิ์ประทับช้าง อนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระเจ้าเสือ หรือที่เรารู้จักพระองค์ในนาม ‘หลวงสรศักดิ์’ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
นอกจากนี้เรายังเดินทางลงใต้อีกครั้ง เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ ‘ตามพรลิงค์’ รัฐโบราณแห่งคาบสมุทรใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยได้พาไปสักการะ ‘พระบรมธาตุ’ เมืองนครฯ พร้อมทั้งชมสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตและพัฒนาการเป็นบ้านเมืองบนคาบสมุทรของที่นี่ พร้อมทั้งยังพาไปมูสถานที่ดังของเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ เจ้าของที่มาของคำว่า “ขอได้ ไหว้รับ” นั่นเอง
ลงใต้แล้วเราพาขึ้นเหนือไปยัง จ.สุโขทัย เพื่อติดตามเรื่องราวของ “เมืองบางขลัง” เมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนแนวถนนพระร่วงระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย ทั้งยังเป็นจุดที่สองพ่อขุนคือพ่อขุนบานเมือง กับพ่อขุนบางกลางหาวได้นำทัพมาบรรจบกัน ก่อนจะร่วมกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกจากเมืองสุโขทัย
ปิดท้ายกันที่ประเทศกัมพูชา ที่เราได้พาไปชมกลุ่มปราสาทเกาะแกร์ มรดกโลกแห่งล่าสุดของที่นั่น พร้อมทั้งชมปราสาทพระวิหาร ปราสาทหินที่ยังมีมนต์เสน่ห์เสมอเมื่อได้ไปสัมผัส
สำหรับปี 2567 เรายังคงมุ่งเน้นจัดเส้นทางทัวร์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ความรู้และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป แต่จะไปที่ไหนบ้างนั้น ต้องติดตาม…..