Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

รอบๆ ภูพนมรุ้ง ความสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (พิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๒ (เมษายน - มิถุนายน ๒๔๒๙)

บริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลซึ่งมีทั้งที่ราบลุ่มและที่สูงไปจรดเทือกเขาพนมดงรักอันเป็นทิวเขาที่กั้นแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชานั้น มีภูเขาลูกเตี้ยตั้งอยู่ประปรายตั้งแต่เขตจังหวัดบุรีรัมย์จนถึงสุรินทร์ ภูเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ยังมีบริเวณที่เป็นปล่องซึ่งบางแห่งก็เป็นแอ่งน้ำ มีน้ำขัง แต่บางแห่งก็ตื้นเขิน มีต้นไม้ปกคลุม

ภูเขาไฟคงดับไปนานแล้วก่อนที่มนุษย์ในภาคอีสานจะมีพัฒนาการในการตั้งแหล่งที่อยู่อาศัยขึ้น ไม่ทราบว่าคนโบราณแต่ก่อนนี้จะรู้หรือเปล่าว่าภูเขาเตี้ยๆ เหล่านี้คือภูเขาไฟ แต่ในการสำรวจชุมชนโบราณของข้าพเจ้าในเขตจังหวัดสุรินทร์ เคยพบเครื่องมือหินที่ทำจากหินภูเขาไฟ ยิ่งกว่านั้นมักพบโบราณสถานบนยอดภูเขาไฟเหล่านี้ ส่วนมากเป็นปราสาทแบบขอมซึ่งอาศัยขอบปล่องภูเขาไฟตอนที่สูงสุดเป็นที่ตั้งศาสนสถาน

ถ้าพิจารณาจากสภาพแวดล้อมก็อาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งแหล่งศาสนสถานบนยอดเขาภูเขาไฟนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ว่าเป็นภูเขาไฟหรือไม่ เหตุผลที่สำคัญก็คือว่าบนภูเขาไฟเป็นบริเวณที่เหมาะสม ประการแรก เป็นบริเวณที่ไม่สูงจนเกินไป การขึ้นลงสะดวก อีกทั้งมีปล่องที่กลายเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติให้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้

ประการที่สอง บริเวณรอบๆ ภูเขาไฟเป็นที่ราบลุ่ม ทำการเพาะปลูกได้ มีดินอุดมสมบูรณ์อันเกิดจากการสลายตัวของหินภูเขาไฟกับพวกวัชพืชต่างๆ เปิดโอกาสให้มนุษย์มาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ศาสนสถานที่เกิดขึ้นบนภูเขาไฟจึงมีความหมายและความสัมพันธ์กัน เท่าที่พบเห็นมา ศาสนสถานบนยอดภูเขาไฟในเขตจังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์ นั้นมักมีขนาดเล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อสังคมในท้องถิ่นที่อยู่รอบๆ โดยตรง จะมีอยู่แห่งเดียวที่ใหญ่โตก็คือ ศาสนสถานที่ภูพนมรุ้ง ภูเขาไฟแห่งนี้มีลักษณะสูงใหญ่กว่าแห่งอื่นๆ อีกทั้งมีความโดดเด่นในการที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับเขาลูกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ ภูปลายบัด และภูอังคาร จึงมีลักษณะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นประธาน

กระนั้นก็ดี ร่องรอยการก่อสร้างบนภูพนมรุ้ง ซึ่งพบชากปราสาทอิฐขนาดเล็กก่อนการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่นั้น ก็แสดงให้เห็นว่าในระยะแรกๆ ศาสนสถานบนเขาพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพิธีกรรมของชุมชนในท้องถิ่นที่อยู่รอบๆ การพัฒนาขึ้นเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เหนือระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องที่น่าจะเกี่ยวกับสังคมและการ เมืองระหว่างผู้นำของชุมชนในภูมิภาคนี้กับเมืองพระนครในเขมรต่ำ

เรื่องนี้ก็มีหลักฐานทั้งด้านเอกสารประเภทจารึกและโบราณสถาน โบราณวัตถุ แสดงให้เห็นอยู่แล้วเป็นอย่างดี ดังเช่นศิลาจารึก กล่าวถึงกษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า หิรัณยวรมัน ทรงเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองพระนคร เช่น พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ยิ่งกว่านั้นศิลาจารีกเองก็ระบุชื่อภูเขานี้ว่า วนํรุง ซึ่งก็หมายถึง พนมรุ้ง นั่นเอง

การสร้างปราสาทขึ้นนั้นมีความมุ่งหมายที่จะถวายกุศลแต่ กมรเตงชคตวนํรุง ซึ่งหมายถึงพระศิวะ ก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทขึ้นถวายพระศิวะนั้น บริเวณยอดเขาพนมรุ้งคงเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่นนี้ อาจจะเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าประจำถิ่นก็ได้ แต่เมื่อผู้นำท้องถิ่นเกิดมีความสำคัญจนถึงขนาดเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของพระมหากษัตริย์แห่งเมืองพระนคร การเปลี่ยนแปลงฐานะของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าประจำห้องถิ่นก็เกิดขึ้นตามมา นั่นก็คือการยกฐานะขึ้นเป็นเทวาลัยของศิวเทพ และเทพประจำถิ่นก็กลายเป็นสาวกของพระศิวะไป

เหตุนี้จึงปรากฎจารึกที่เป็นโศลกภาษาสันสกฤต กล่าวสรรเสริญบูชาพระศิวะ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาชั้นสูงที่ศักดิ์สิทธิ์ของราชสำนักในเวลานั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีจารึกที่เป็นภาษาขอมควบคู่อยู่ เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับให้กับผู้คนในท้องถิ่น โดยเหตุนี้ในจารึกภาษาขอมจึงมีการกล่าวถึงการถวายอาหารแด่พระศิวะว่ามีการถวายสุรารวมอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้จะไม่พบในจารึกภาษาสันสกฤต

นอกจากจารึกแล้ว ลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมของศาสนสถานแห่งนี้ก็แสดงให้เห็นประจักษ์ว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยของพระศิวะ ภาพสลักตามทิศสำคัญโดยเฉพาะทิศตะวันออกแสดงพระศิวนาฎราชและพระศิวะปางเป็นพระมหาฤๅษี เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาปราสาทขอมอื่นๆ ในดินแดนอีสานแล้ว ก็กล่าวได้ว่าปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างหลวง มีความงดงามทัดเทียมกับบรรตาปราสาทที่พบในเมืองพระนครทีเดียว เพราะฉะนั้น ศาสนสถานแห่งนี้จึงมีความหมายความสำคัญเหนือระดับท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นความพยายามของพระมหากษัตริย์แห่งเมืองพระนครในการที่จะสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมืองระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองสำคัญ หรือรัฐที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ด้วยอย่างเด่นชัด

สิ่งที่ข้าพเจ้าใคร่แสดงในที่นี้ก็คือ อยากจะมอง อยากจะคิดให้ลึกมากไปกว่าหลักฐานที่ปรากฎจากจารีกและศิลปะสถาปัตยกรรมตามที่กล่าวมาแล้ว นั่นก็คือ อะไรที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางเครือญาติขึ้นระหว่างกษัตริย์แห่งเมืองพระนครกับเจ้านายในท้องถิ่นพนมรุ้งในภาคอีสานของประเทศไทย

ข้อความในจารึกก็ดีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมของปราสาทพนมรุ้งก็ดี ไม่มีอะไรที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความสัมพันธ์ด้วยการปราบปรามและการปกครองที่เคร่งครัด เพราะฉะนั้นการมองการรวมอำนาจการปกครองไว้ที่ศูนย์กลางที่เกี่ยวกับอาณาจักรเมืองพระนครนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง

สิ่งที่จะช่วยประกอบการพิจารณาที่สำคัญก็คือ การมองภูมิหลังทางด้านสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เชื่อว่าได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในราชอาณาเขต หรือภายใต้อำนาจทางการเมืองของเมืองพระนคร

ในการนี้ข้าพเจ้าเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งในทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นก่อนว่าอยู่ในลักษณะเช่นใด มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับบริเวณที่เป็นบ้านเมืองและศูนย์อำนาจอย่างไรบ้าง ต่อจากนั้นก็ศึกษาลักษณะรูปแบบและความหมายของโบราณสถานวัตถุที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อหาความกระจ่างและความสัมพันธ์กับหลักฐานทางด้านจารึกและเอกสารอื่นๆ ข้าพเจ้ากำหนดอย่างกว้างๆ ว่าบริเวณภูพนมรุ้ง นับเนื่องเป็นเขตชุมชนในบริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำมูล อาจแบ่งตามสภาพภูมิประเทศออกเป็นสองบริเวณใหญ่ๆ คือ

บริเวณที่ราบลุ่มใกล้กับลำแม่น้ำมูล มีลำน้ำสายเล็กๆ ซึ่งไหลมาแต่ทางทิศใต้ จากเทือกเขาพนมดงรักไหลผ่านมาสมทบกับแม่น้ำมูล เช่น ลำจักราช ลำปลายมาศ และลำชี เป็นต้น บริเวณนี้กว้างใหญ่เป็นที่ราบลุ่มที่เรียกว่าที่ราบขั้นบันได มีบริเวณที่สูงและภูเขาลูกเตี้ยๆ สลับเป็นบางตอน กิน อาณาเขตมาจนจรดสายโชคชัย-เดชอุดม ซึ่งตัดผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ไปยังอุบลราชธานี

บริเวณที่ลาดสูง เริ่มแต่ฝั่งใต้ของถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ไปจนจรดเทือกเขาพนมดงรัก เป็นบริเวณที่มีที่ราบสลับกับเขาเล็กๆ ซึ่งส่วนมากเป็นภูเขาไฟเช่นบริเวณรอบๆ เขาพนมรุ้ง เป็นต้น ความแตกต่างกันในด้านโบราณคดีระหว่างบริเวณทั้งสองนี้ ก็คือ บริเวณแรก พบแหล่งชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี โดยเฉพาะในสมัยทวารวดีซึ่งเป็นยุคต้นประวัติศาสตร์นั้น พบแหล่งชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบ กระจายอยู่ทั่วไป โบราณสถานวัตถุที่พบ เช่น โคกเนินที่เนื่องในการฝังศพ และเศษภาชนะดินเผาแสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่องของกลุ่มชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาถึงสมัยทวารวดีและลพบุรีตามลำดับ

แผนที่แสดงที่ตั้งศาสนสถานรอบๆ ภูพนมรุ้ง

ส่วนบริเวณหลัง ซึ่งอยู่ในเขตที่ลาดลงมาจากเทือกเขาพนมดงรักนั้น พบร่องรอยของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีน้อยแห่ง จนเกือบจะกล่าวได้ว่า บรรดาโบราณสถานวัตถุส่วนใหญ่ล้วนเป็นของตั้งแต่สมัยลพบุรีลงมา หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการตั้งหลักแหล่งของชุมชนโบราณในสมัยหลังๆ ที่ได้รับอารยธรรมจากขอมเมืองพระนครแล้ว

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า บริเวณหลังคือที่ลาดเชิงเขาพนมดงรักนั้น นับเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ได้รับอารยธรรมและความเจริญทางเทคโนโลยีจากเมืองพระนครโดยตรง เป็นบริเวณที่พบปราสาทขนาดใหญ่น้อยกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งมีสะน้ำ อ่างเก็บน้ำ บาราย คันดินและถนนที่เนื่องในการระบายน้ำและการคมนาคมอยู่ทั่วบริเวณ

กระนั้นก็ดี บริเวณที่ลาดเชิงเขานี้เมื่อพิจารณาศึกษาลักษณะทางวัฒนธรรมจากโบราณสถานวัตถุแล้ว ก็อาจวิเคราะห์ได้เป็นสองบริเวณจากตะวันตกไปตะวันออก บริเวณตอนตะวันตก คลุมพื้นที่ตั้งแต่เขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มายังอำเภอนางรอง ประโคนชัย ละหานทราย และบ้านกรวดในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นบริเวณที่มีลำมูล ลำจักราช ลำปลายมาศ และลำนางรองไหลหล่อเลี้ยง

บริเวณตอนตะวันออก คือตั้งแต่เขตอำเภอปราสาท อำเภอสังขละ จังหวัดสุรินทร์ ไปจนถึงเขตจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี ตามลำดับ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสองบริเวณนี้ก็คือ บริเวณแรกพบโบราณสถานวัตถุที่เป็นของเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานปะปนอยู่กับของในศาสนาฮินดู ผิดกับบริเวณตอนตะวันออกซึ่งมีการสืบเนื่องของศาสนสถานและศาสนวัตถุที่เป็นศาสนาฮินดูโดยตลอด เห็นได้ชัดจากสิ่งที่ปรากฎอยู่ เช่น ปราสาทภูมิโพน ในเขตตำบลบ้านโดม อำเภอสังขละ ซึ่งเป็นปราสาทที่มีอายุสมัยก่อนเมืองพระนครเป็นอาทิ มาถึงปราสาทอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ในสมัยเมืองพระนครลงมา เช่น ปราสาทยายเหงา เป็นต้น

ตอนนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญที่ว่าในบริเวณที่ลาดตอนตะวันตกหรืออีกนัยหนึ่งบริเวณรอบๆ เขาพนมรุ้ง พบร่องรอยของศาสนสถานวัตถุทั้งในลัทธิศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายานนั้นมีอะไรบ้าง แต่ก่อนๆ นี้มีผู้พบเทวรูปพระโพธิสัตว์และนางปรัชญาปารมีตาสัมฤทธิ์ ตามกรุในปราสาทขอม ในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา อำเภอนางรองและประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันมากก็คือจากกรุใต้ปราสาทบนยอดเขาปลายบัด ในเขตอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พบทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายสิบองค์ ล้วนเป็นของที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ทั้งสิ้น เป็นของที่มีรูปแบบศิลปกรรมที่มีฝีมือช่างสูง ผู้ลอบขุดได้ขายออกไปนอกประเทศเป็นจำนวนมาก และมีหลายองค์ทีเดียวที่กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ

การพบเทวรูปในลัทธิมหายานในปราสาทขอม ซึ่งเป็นของเนื่องในศาสนาฮินดูที่สร้างขึ้นอย่างน้อยก็ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลงมานั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นการเคลื่อนย้ายจากสถานที่ใดที่หนึ่งมาบรรจุไว้ในกรุใต้ฐานปราสาทในสมัยเมืองพระนคร

ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าเทวรูปเหล่านั้นเคลื่อนย้ายมาจากที่ใด

ข้าพเจ้าเคยถกปัญหาเรื่องนี้ไว้ในที่อื่นๆ มานานแล้วว่า บริเวณที่เคลื่อนย้ายเทวรูปเหล่านี้มาน่าจะอยู่ในเขตใกล้เคียงสองแห่ง คือบริเวณเขมรต่ำทางตอนใต้ ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และบริเวณลุ่มน้ำลำปลายมาศและนางรองทางเหนือตั้งแต่เขตอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ลงไปจนถึงอำเภอห้วยแถลง อำเภอโนนสูง และอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพราะทั้งสองบริเวณนี้มักพบโบราณวัตถุที่เนื่องในพระพุทธศาสนาคติมหายานอยู่เนื่องๆ

โดยเฉพาะบริเวณหลัง ซึ่งอยู่ในที่ราบสูงโคราชนั้น เห็นได้ชัดเจนจากการพบเทวรูปพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่และมีฝีมือช่างงดงาม เช่น ที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และเมืองฝ้าย ในเขตอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ลักษณะศิลปกรรมของประติมากรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นของตัวเองจนนักปราชญ์บางท่านให้ข้อคิดว่า น่าจะเป็นศิลปะของรัฐที่เรียกว่า ศรีจนาศะ ซึ่งมีศิลาจารึกกล่าวถึง

ในทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่า ประติมากรรมเหล่านี้จะเป็นของรัฐศรีจนาศะหรือไม่นั้นไม่ไช่ประเด็นที่จะถกเถียงกันในตอนนี้ แต่เหตุผลที่ได้จากการแสดงข้อคิดเห็นนี้ย่อมบ่งชัดเจนว่า เพราะประติมากรรมดังกล่าวมีรูปแบบที่เฉพาะตนเอง ไม่เหมือนกับที่อื่น

สิ่งที่น่สังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า บริเวณลุ่มน้ำมูลฝั่งใต้ในเขตนี้เป็นแหล่งของการนับถือพุทธศาสนาคติมหายานที่สืบเนื่องมาช้านานก็คือ การมีปราสาทหินพิมายซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในคติมหายานนั่นเอง เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนอีสาน สร้างขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เพราะฉะนั้นถ้าหากบุคคลสำคัญและผู้คนส่วนใหญ่ในเขตนี้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้อย่างมั่นคงแล้วก็ไม่น่าจะมีการสร้างขึ้น ควรเป็นของในศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาหลักของเมืองพระนครมากกว่า

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าให้ความสนใจต่อการสำรวจศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนทางฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลเป็นพิเศษ เพราะได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการผสมผสานของหลักฐานทางโบราณคดีที่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ประการแรก บริเวณแถบนี้ไม่พบประเพณีการปักเสมาหินที่เนื่องในพุทธศาสนาแบบหินยานหนาแน่นอย่างที่พบตามแหล่งชุมชนต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำชีซึ่งอยู่ทางเหนือ แสดงให้เห็นว่า มีความแตกต่างกันในรูปแบบทางวัฒนธรรม

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บริเวณนี้ไม่เคยได้นับถือหรือรับวัฒนธรรมจากกลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายหินยานจากที่อื่น เพราะปรากฎมีหลักฐานการแพร่หลายของศาสนสถานและวัตถุเคารพของลัทธิหินยานเข้ามาในระยะแรกๆ เช่น ซากพระสถูปทำด้วยอิฐในเขตเมืองฝ้ายและเมืองโบราณที่บ้านกงรถ พระพุทธรูปและเสมาธรรมจักรแบบทวารวดีในเขตอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่บ้านโตนดเองก็พบเสมาหิน แต่ว่ามีจำนวนน้อยและมีรูปแบบแตกต่างไปจากทางเขตลุ่มน้ำชี

ยิ่งกว่านั้นในบริเวณลุ่มน้ำล้ำตะคอง ตอนต้นของแม่น้ำมูล ซึ่งนับได้ว่าเป็นบริเวณที่สัมพันธ์กันก็พบศิลาจารึกที่ตำบลบ่ออีกา กล่าวถึงดินแดนที่ถูกละทิ้ง “นอกกัมพุชเทศ” และเรื่องราวของกษัตริย์แห่งรัฐศรีจนาศะที่ทรงบำเพ็ญกรณียกิจในทางศาสนา พอตีความได้ว่า ได้มีการขยายขอบเขตทางวัฒนธรรมและการเมืองของรัฐ ศรีจนาศะเข้ามาในบริเวณต้นแม่น้ำมูล

การพบเมืองโบราณขนาดใหญ่ เช่น เมืองเสมา ซึ่งมีซากพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป และเสมาธรรมจักรแบบทวารวดีนั้น ย่อมเป็นหลักฐานที่สนับสนุนให้เห็นเป็นอย่างดี แน่นอนการแพร่หลายวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาลัทธิหินยานคงมาจากรัฐศรีจนาศะ แล้วได้กระจายไปทั่วบริเวณจนถึงลุ่มน้ำลำปลายมาศทางฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลด้วย

คำว่าดินแดนที่ถูกละทิ้งนอกกัมพุชเทศนั้น ดูเหมือนมีความหมายมาก เพราะในสมัยหลังๆ ลงมาทางเมืองพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางของกัมพุชาเทศไม่ได้ละทิ้ง ได้พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาเหมือนกัน ดังปรากฎให้เห็นจากการมีปราสาทพนมวันและปราสาทเมืองแขก ซึ่งเป็นของเนื่องในศาสนาฮินดูที่มีอายุก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีพุทธศาสนาฝ่ายหินยานและศาสนาฮินดูแพร่หลายเข้ามา แต่ลัทธิศาสนาที่นับถือกันอย่างมั่นคงในบริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลก็น่าจะเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเห็นประจักษ์จากการสร้างปราสาทหินพิมายเพื่อเป็นศูนย์กลางในระบบความเชื่อที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ในการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าเมื่อเร็วๆ นี้ พบหลักฐานที่สนับสนุนให้เห็นถึงความเด่นชัดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของบริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลเป็นการเพิ่มเติม กล่าวคือ

ประมาณ ๓ ปีที่แล้วมา ข้าพเจ้าขึ้นไปบนภูอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกหนึ่งอยู่ทางตะวันตกของภูพนมรุ้ง บนยอดเขาลูกนี้มีวัดที่มีรอยพระพุทธบาทที่ชาวบ้านขึ้นมากราบไหว้กันเป็นประจำ ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาว่า มีผู้ขุดพบของเก่าและเทวรูป แต่ก็ไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าคงเป็นของแบบขอมในสมัยลพบุรีเหมือนกับที่พบตามแหล่งอื่นๆ ในบริเวณนี้ เพราะฉะนั้นการขึ้นไปภูอังคารคราวนี้จึงไม่คิดที่จะดูโบราณสถานวัตถุ เพราะเชื่อแน่ว่ารอยพระพุทธบาทเองก็คงเป็นของที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ต้องการจะไปดูปล่องภูเขาไฟซึ่งมีลักษณะการระเบิดซ้อนกันมากกว่า กล่าวคือ บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟของภูอังคารนั้นมีเขาเล็กๆ ผุดขึ้นตรงกลาง แสดงการระเบิดปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูแปลกกว่าที่อื่นๆ

ขณะที่เดินอยู่รอบบริเวณวัดพระพุทธบาทซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารใหม่อย่างสวยงามนั้น ข้าพเจ้าพบเสมาหินกลุ่มหนึ่งปักอยู่รอบๆ วิหารของวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ล้วนเป็นเสมาที่ทำขึ้นจากหินภูเขาไฟทั้งสิ้นบางหลักสลักด้านหลังเป็นรูปสถูปแบบเดียวกันกับที่พบในเขตลุ่มน้ำชี แต่เกือบทุกหลักสลักเป็นภาพเทวรูปยืนถือดอกบัว ลักษณะการแต่งกายโดยเฉพาะท่อนล่างเป็นแบบท้องถิ่นที่ไม่เคยพบเห็นในที่อื่นๆ ด้านบนของเทวรูปสลักเป็นรูปฉัตร ส่วนตอนล่างบางหลักก็มีฐานดอกบัวเช่นเสมาอื่นๆ โดยทั่วไป ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเสมาหินกลุ่มนี้ปักแสดงเขตศาสนสถานโบราณบนยอดภูอังคารมาแต่เดิม และคงเป็นของเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นที่น่าเสียดายว่าพระพักตร์ของเทวรูปเหล่านั้นถูกคนร้ายสกัดไปเสียแล้ว ทางวัดได้ซ่อมใหม่โดยทำปูนปั้นพระพักตร์ใหม่เพิ่มเข้าไป แต่ก็มีหลักหนึ่ง ซึ่งยังเห็นเค้าโครงหน้าชัดเจนเป็นหน้าค่อนข้างสี่เหลี่ยม เป็นแบบทวารวดีท้องถิ่นในภาคนี้ ซึ่งถ้าจะคาดคะเนแล้วก็คงเป็นของที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมาเป็นอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม การพบครั้งนั้นไม่มีเวลาพอที่จะได้ศึกษารายละเอียด จนกระทั่งในเดือนธันวาคมที่แล้วมานี้ ข้าพเจ้าก็ได้ขึ้นไปบนยอดภูอังคารอีกครั้งหนึ่ง กับ น. ณ ปากน้ำ และคณะผู้จัดทำวารสารเมืองโบราณ ในคราวนี้ได้มีเวลาศึกษาและพิจารณาบรรดาเสมาหินที่นั่นอย่างละเอียด เพราะทางวัดได้จัดตั้งใหม่ทำให้เห็นชัดเจน รวมทั้งนำหลักที่ไม่ได้ถูกคนร้ายทำลายพระพักตร์เทวรูปไปตั้งไว้ในศาลาให้คนมากราบไหว้ด้วย

เสมาหินที่พบในที่นี้เท่าที่นับได้มีจำนวน ๑๐ หลัก ส่วนใหญ่จะปักเป็นคู่ๆ เข้าใจว่าแต่เดิมคงปักในตำแหน่งแปดทิศตามประเพณีการปักเสมาโบสถ์ในทางพระพุทธศาสนา เป็นเสมาที่ทำจากหินภูเขาไฟทั้งสิ้น พอแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ

แบบแรก สลักเป็นรูปเทวรูปถือดอกบัวยืนอยู่ใต้ฉัตร บางองค์ยืนอยู่เหนือฐานดอกบัวและมีสถูปขนาบอยู่สองข้าง แต่มีหลักหนึ่งซึ่งพระพักตร์ไม่ถูกทำลายนั้นไม่ถือดอกบัว แต่มีเครื่องสูงประดับอยู่สองข้าง ทางวัดถือเป็นหลักศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานไว้ในศาล ให้คนกราบไหว้

แบบหลัง มักสลักรูปดอกบัวตรงโคนเสมา มีภาพสถูปอยู่ตอนบน พบหลักหนึ่งสลักด้วยเสมาธรรมจักรแทนรูปสถูป และมีอีกหลักหนึ่งที่สลักเป็นรูปเทวรูปยืน แต่การนุ่งผ้าคลุมลงมาเกือบถึงข้อเท้า แตกต่างไปจากการนุ่งผ้าของเทวรูปในแบบแรก ลักษณะลวดลายของพระสถูป เสมาธรรมจักร เทวรูปที่นุ่งผ้ายาวมาเกือบถึงข้อเท้าและฐานดอกบัว ละม้ายมาทางรูปแบบที่พบในบรรดาเสมาหินแถบลุ่มน้ำชี

สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเสมาหินทั้งสองแบบนี้มีอายุต่างกันก็คือ พบเสมาหลักหนึ่ง ด้านหลังสลักเป็นรูปสถูปเหนือฐานดอกบัว แต่อยู่ในสภาพกลับหัวลง ส่วนด้านหน้าสลักเป็นรูปเทวรูปยืนถือดอกบัว แสดงให้เห็นว่าภาพด้านหน้าสลักเป็นรูปเทวรูปถือดอกบัวนั้นทำขึ้นทีหลังโดยใช้เสมาที่สลักเป็นรูปสถูปแต่เดิมมาสลักเพิ่มเติม การกระทำเช่นนี้ก็คงเนื่องมาจากความเชื่อถือและเคารพของที่มีมาแต่เดิมว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรทำลายแต่ควรสืบเนื่อง ทำนองเดียวกับการสลักรูปเคารพเดิมให้เป็นพระพุทธรูปในหลายๆ แห่งนั่นเอง

จากสิ่งที่พบเห็นดังกล่าวอาจตีความในขณะนี้ได้ว่า บรรดาเสมาหินแบบหลังที่สลักรูปสถูปธรรมจักรและเทวรูปยืนนุ่งผ้าปล่อยชายนั้น ควรเป็นอิทธิพลของในพุทธศาสนาฝ่ายหินยานที่แพร่หลายมาจากทางลุ่มน้ำชี ส่วนแบบแรกที่สลักด้วยรูปเทวรูปยืนถือดอกบัวนั้นเป็นของทีหลังที่ทำเนื่องในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ลักษณะรูปร่างหน้าตาตลอดจนประเพณีการนุ่งผ้าของเทวรูปแบบแรกนั้น แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นของท้องถิ่นเพราะมีลักษณะเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนกับในแห่งอื่นๆ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า บริเวณที่ลาดเชิงเขาพนมดงรัก รอบๆ ภูอังคารและบริเวณใกล้เคียง เคยมีศาสนสถานที่เนื่องในพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานและมหายานมาก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทขอมในลัทธิศาสนาฮินดูขึ้น โดยเฉพาะการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น น่าจะมีความสัมพันธ์กับบริเวณตอนปลายของลุ่มน้ำลำปลายมาศ ซึ่งอยู่ในที่ราบใกล้ลำแม่น้ำมูล ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการพบเทวรูปพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์เนื่องในลัทธิมหายานหลายแห่ง

แต่การพบเสมาหินที่มีภาพสลักเทวรูปที่แสดงออกถึงลักษณะท้องถิ่นอย่างแท้จริงนี้ ย่อมเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่าบริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำมูลมีการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างสืบเนื่อง จนกระทั่งถึงสมัยที่มีการสร้างปราสาทหินพิมายขึ้น อันนับเป็นการแสดงความรุ่งเรืองของลัทธิถึงขีดสุดในบริเวณนี้

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างบริเวณที่ราบใกล้ฝั่งน้ำมูลกับบริเวณที่ลาดจากเทือกเขาพนมดงรักในเขตภูอังคาร-พนมรุ้งนั้น อยู่ที่บริเวณแรกมีการสืบเนื่องของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานตลอดมา ดังเห็นได้จากการสร้างปราสาทหินพิมายขึ้น ส่วนบริเวณหลังได้เปลี่ยนมาเป็นศาสนาฮินดู ดังเห็นได้จากการสร้างปราสาทพนมรุ้ง และการนำเอาเทวรูปในลัทธิมหายานบรรจุไว้ตามปราสาทในสมัยหลังๆ เช่น ปราสาทบนยอดเขาปลายบัด เป็นต้น

ในด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งปราสาทหินพิมายและปราสาทพนมรุ้งต่างก็เป็นปราสาทขอมด้วยกัน มีความสัมพันธ์กับทางเมืองพระนครเหมือนกัน แต่ปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นเพื่อถวายพระอาทิพุทธเจ้าและถวายพระนามว่า กมรเตงชคตวิมายะ ซึ่งเห็นได้จากการสร้างรูปพระพุทธรูปนาคปรกขึ้นบูชาภายในปราสาท ส่วนปราสาทพนมรุ้งนั้นเป็นการสถาปนากมรเตงชคตวนํรงให้เป็นพระศิวะ

การกระทำดังกล่าวนี้นับเป็นกุศโลบายที่แยบยลของพระมหากษัตริย์แห่งเมืองพระนครเป็นอย่างมาก คือทั้งเอาใจและยกย่องเจ้านายหรือผู้นำของท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างการยอมรับในอำนาจทางการเมืองและอารยธรรมของเมืองพระนครไปในตัว

นโยบายแบบนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีในจารึกที่พบที่ศาลสูงเมืองลพบุรีที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับเมืองพระนคร จารึกระบุถึงการให้การทำนุบำรุงทั้งศาสนาฮินดู พุทธทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน เมื่อมาถึงตอนนี้ปัญหาก็จะมีอยู่ว่า ในเมื่อทั้งสองบริเวณคือบริเวณที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำมูลกับบริเวณที่ลาดในเขตภูอังคาร-พนมรุ้ง ต่างก็มีความสัมพันธ์กับเมืองพระนครเป็นอย่างดี ทำไมปราสาทพนมรุ้งจึงเป็นศาสนสถานทางฮินดู แทนที่จะเป็นของพุทธฝ่ายมหายานเช่นเดียวกับทางปราสาทพิมาย

คำตอบในเรื่องนี้อาจมองได้สองทาง ทางแรก ก็คือ บริเวณที่ลาดเชิงเทือกเขาพนมดงรักนี้เป็นบริเวณที่พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองในระยะหลังๆ เพิ่งมาเริ่มเกิดเอาในสมัยทวารวดีตอนปลาย จะมาเจริญขึ้นก็คงเมื่อมีการติดต่อใกล้ชิดและได้รับอารยธรรมจากเมืองพระนคร จึงง่ายต่อการรับวัฒนธรรมและระบบความเชื่อจากทางเมืองพระนคร ในขณะที่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้กับแม่น้ำมูลเป็นแหล่งบ้านเมืองหนาแน่นสืบกันมาช้านาน พุทธศาสนาฝ่ายมหายานฝังรกรากอยู่อย่างมั่นคง จึงเป็นการยากที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดู

อีกทางหนึ่งที่น่าเป็นไปได้ก็คือ บริเวณที่ลาดในเขตภูพนมรุ้งและภูอังคารเป็นแหล่งกำเนิดของผู้นำท้องถิ่นที่สำคัญ โดยเฉพาะหิรัณยวรมัน ซึ่งในจารึกระบุว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ การสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นจึงทำเพื่อเกียรติคุณของหิรัณยวรมันซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่นโดยตรง

นอกจากเหตุผลทั้งสองทางที่กล่าวมานี้ ก็ยังมีอีกทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้กว่าทั้งสองทางที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ บริเวณที่ลาดเชิงเทือกเขาพนมดงรักนั้นมีความสำคัญในตัวเองอันเนื่องมาจากอยู่ในตำแหน่งบนเส้นทางการคมนาคมระหว่างที่ราบสูงโคราชกับเมืองพระนครและรัฐใกล้เคียงในที่ราบเขมรต่ำ เพราะมีช่องทางผ่านเทือกเขาพนมดงรักที่สะดวกสบายไม่จำเป็นต้องปีนป่ายเขาสูงชัน ช่องทางผ่านเหล่านี้ได้แก่ ช่องตะโก ในเขตอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ไปออกที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ช่องโอบก ช่องแบแบก และช่องไซตะกู ในเขตอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ไปออกที่ราบลุ่มเขมรต่ำ ถัดไปก็เป็น ช่องตาเหมือน ในเขตอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งไปออกเขมรต่ำเช่นกัน

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าช่องทางเหล่านี้เป็นเส้นทางผ่านแต่โบราณก็คือ พบแหล่งชุมชนหรือไม่ก็ศาสนสถาน เช่น ปราสาท บ่อน้ำ สระน้ำ ระหว่างทางเป็นระยะๆ ไป ได้มีนักปราชญ์หลายท่านกล่าวว่า มีการสร้างถนนตัดจากเมืองพระนครเข้ามาในที่ราบสูงโคราช แต่ในการสำรวจศึกษาของข้าพเจ้าไม่เคยพบร่องรอยของถนนดังกล่าว นอกจากคันดินที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับชุมชนในบางแห่งเท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ เขาพนมรุ้งจะพบมาก

ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างบริเวณที่ลาดเชิงเขาพนมดงรักในบริเวณโดยรอบภูพนมรุ้ง กับเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงโคราชกับดินแดนเขมรต่ำแล้ว ก็จะแลเห็นความสำคัญของปราสาทพนมรุ้งและบริเวณโดยรอบอย่างชัดเจน ว่าเป็นบริเวณที่มีความสำคัญทางด้านการคมนาคมเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ที่ทางเมืองพระนครต้องสนใจ โดยเหตุนี้จึงร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการตั้งแหล่งชุมชน สร้างศาสนสถาน ขุดอ่างเก็บน้ำ (บาราย) และส่งเสริมตำแหน่งสำคัญๆ ให้เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ เป็นต้น

ข้าพเจ้าใคร่เสนอว่า ถ้าหากมองในด้านศิลปวัฒนธรรมแล้วบริเวณที่ลาดเชิงเทือกเขาพนมดงรักรอบๆ ภูพนมรุ้งเป็นทั้งแหล่งชุมชนโบราณและแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ อีกทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม มีทั้งที่ราบลุ่มที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม สลับด้วยที่สูง เช่น ภูเขาไฟลูกเตี้ยๆ ที่มีปราสาท ศาสนสถานและวัด สร้างมาแต่โบราณ เมื่อขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเหล่านี้ก็สามารถมองดูภูมิประเทศ ทุ่งนา ป่าเขา อ่างเก็บน้ำโบราณ รวมทั้งหมูบ้านในปัจจุบันได้โดยรอบ เป็นทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะเมื่อมองออกไปทางด้านตะวันออก แลเห็นเทือกเขาพนมดงรักซึ่งกั้นแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างชัดเจน แต่ถ้ามองไกลไปทางเหนือก็แลเห็นที่ราบลุ่มของแม่น้ำมูลในสภาพเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นบริเวณที่ทางราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบรรดาผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ผู้มีจิตสำนึกในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของประเทศชาติ ควรให้ความสนใจและหาทางทั้งในด้านอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งทางวัฒนธรรมที่บรรดาประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มาศึกษาและมาเที่ยวหย่อนใจ ผลที่ตามมาก็จะได้ทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนความงอกงามทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกและภายในเข้ามาชมอีกด้วย

ในทัศนะของข้าพเจ้า การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมให้เป็นสถานที่ทัศนศึกษานั้นไม่ควรเน้นเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งจนเกินไป เช่น การให้ความสนใจเฉพาะการบูรณะตกแต่งปราสาทพนมรุ้งเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสนใจกับสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติของบริเวณนั้นด้วย นั่นก็คือการดูว่าบริเวณนั้น จุดนั้น มีความสัมพันธ์เชิงเอกภาพกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างไร ตำแหน่งปราสาทตั้งอยู่มีลักษณะภูมิประเทศเช่นใด เพราะเหตุใดจึงมาเลือกตั้งในตำแหน่งนี้

บริเวณที่ตั้งปราสาทอยู่ในตำแหน่งที่สูงสุดของภูเขา ต่ำลงไปเป็นแอ่งซึ่งเป็นบริเวณปล่องภูเขาไฟ ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่เก็บน้ำที่เรียกว่า สระสรง มีการก่อสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมลงบนแอ่งน้ำธรรมชาติแต่เดิม จากสระน้ำที่มีธารน้ำไหลวกร้อมเขาลงไปทางตะวันออกสูที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดชุมชนขึ้นตามธารน้ำนี้เป็นระยะๆ ไป สิ่งนี้สอดคล้องกับการตั้งศาสนสถานตั้งแต่ปราสาทพนมรุ้งไปจนถึงปราสาทเมืองต่ำ กล่าวคือปราสาทพนมรุ้งนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตามคติทางศาสนา มีการแผ้วถางทำบันไดและถนนปูลาดด้วยแผ่นศิลาลงจากปราสาทผ่านสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่าโรงช้างเผือกลงไปสู่ที่ราบลุ่มเชิงเขา ซึ่งมีสระบารายซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เก็บน้ำจากธารน้ำที่ไหลลงจากเขา มีปราสาทขนาดเล็กอยู่ใกล้ๆ และมีแนวคันดินที่เป็นทั้งถนนและคันชักน้ำขนานไปกับธารน้ำที่มาจากยอดเขาพนมรุ้งไปยังชุมชนที่เมืองต่ำ ซึ่งมีสระบารายขนาดใหญ่รองรับน้ำที่ไหลมาจากพนมรุ้ง

ชุมชนนี้คงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะนอกจากมีปราสาทเมืองต่ำซึ่งเป็นปราสาทขนาดใหญ่ตั้งอยู่แล้ว ยังมีร่องรอยการใช้ที่ดิน เห็นได้จากร่องรอยของคันนา คันชักน้ำ สระน้ำ กระจายอยู่ทั่วบริเวณ การจัดการบูรณะฟื้นฟูที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นความนึกคิดและการสร้างภาพพจน์ในการศึกษาเพื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของวัฒนธรรมในอดีตได้หลายแง่หลายมุมแก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวทัศนศึกษา ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงรูปแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม หรือทิวทัศน์ทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทางอื่นๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี เกษตรกรรม ระบบความเชื่อ เศรษฐกิจและการเมืองอีกด้วย

ถ้าหากจะมองให้กว้างไปกว่าความสัมพันธ์ทางสภาพแวดล้อม ทางธรรมชาติกับวัฒนธรรมระหว่างปราสาทพนมรุ้งกับปราสาทเมืองต่ำแล้ว ก็อาจจะดูในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่างภูเขาไฟกับบริเวณที่ราบลุ่มในเขตนี้

บริเวณที่ราบรอบเขาพนมรุ้งนั้นไม่ได้มีภูเขาไฟแต่เพียงภูพนมรุ้งแห่งเดียว หากมีภูอังคารและภูปลายบัดขนาบอยู่ห่างๆ ทั้งทางตะวันออกและทางทิศใต้ แต่ละแห่งก็มีศาสนสถานโบราณบนยอดเขาด้วยกัน อีกทั้งบริเวณที่ราบลุ่มรอบๆ เขาก็มีชุมชน ศาสนสถาน ไร่นา สระน้ำและอ่างเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้เห็นภาพพจน์ว่าเป็นแหล่งของบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมเดียวกันอย่างชัดเจน ศาสนสถาน สระน้ำ ตลอดจนแหล่งชุมชนโบราณทั้งที่พบบยอดเขาและในที่ราบลุ่มควรได้รับการบูรณะหรืออนุรักษ์ให้เหมาะสม แล้วจัดทำเป็นบริเวณให้แลเห็นตำแหน่งที่ตั้งที่สัมพันธ์กัน ควรมีการกำหนดเส้นทางและจัดทำคำอธิบายให้สอดคล้องกับเรื่องราวในอดีต รวมทั้งการพัฒนาสถานที่บางแห่งให้เป็นที่ค้าขาย ตลอดจนการพักพิงระหว่างทางให้เหมาะสมด้วย