งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 40 ประจำปี 2565 จัดขึ้นที่สวนลุมพินีที่ผ่านมา แม้ผู้คนจะไปกันน้อย แต่งานนี้นับว่าได้นำความน่ารักน่าเอ็นดูของ “เกาะเกร็ด”ออกสู่สายตาสาธารณะและนักท่องเที่ยวที่กำลังแสวงหาแหล่งที่ไปที่ใกล้กรุงเทพฯ และเป็นแหล่งเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งในงานนี้ได้นำอัตลักษณ์ของมอญเกาะเกร็ดมาแสดงผ่านร้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ชื่อ “บ้านดินมอญ”
ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าความนิยมเครื่องปั้นดินเผาลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมไปถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ “เกาะเกร็ด” จังหวัดนนทบุรี สาเหตุอาจเป็นเพราะการพัฒนารูปแบบต่างๆ ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ไม่ทันสมัย ยังดูบ้านๆ และในอดีตทำมาอย่างไรก็ยังทำรูปแบบอย่างนั้น ทำให้ผู้ซื้อเกิดความอิ่มตัว ไม่เห็นความแปลกใหม่ นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจจะสานต่องานนี้ ดังนั้น ตำนานเครื่องปั้นดินเผาแห่งเกาะเกร็ด นับวันจึงจืดจางลง ผสมกับเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้คนไม่ซื้อหาและยิ่งไม่มีการผลิตใหม่ๆ เกิดขึ้น
แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ หลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับการท่องเที่ยวในหลายแห่งเริ่มกลับมาคึกคัก เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดจึงได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาใหม่โดยร้าน “บ้านดินมอญ” เป็นการต่อลมหายใจให้เครื่องปั้นดินเผาอีกวาระหนึ่ง “พงษ์พันธุ์ ไชยนิล” เจ้าของร้านบ้านดินมอญ กล่าวเล่าเรื่องนี้ว่าบ้านดินมอญผลิตเครื่องปั้นดินเผาสืบทอดต่อเนื่องกันยาวนานเป็นเวลาราว 200 ปีได้ โดยงานของรุ่นปู่รุ่นย่าผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากคุณย่าเป็นชาวมอญที่อพยพมาอยู่เมืองไทย ส่วนคุณปู่อพยพมาจากเมืองจีน ทำให้ได้งานเครื่องปั้นดินเผาแบบพิเศษไม่เหมือนใคร
เมื่อมาถึงรุ่นหลาน มีการปรับรูปแบบการผลิตและลวดลายใหม่ โดยนำลวดลายไทยมาผสม เพิ่มลวดลายไทยสีดำบนพื้นทอง อีกทั้งแต่ละชิ้นงานจะผลิตด้วยความประณีตอย่างมาก บางชิ้นใช้เวลาถึง 2-3 เดือนกว่าจะเสร็จเป็นชิ้นออกมา ซึ่งต้องบอกว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลกอย่างแท้จริง พงษ์พันธุ์บอกว่าจากการปรับรูปแบบการทำใหม่ และออกแบบลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าอย่างมาก ปัจจุบันราคาขายตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงราคา 10,000 บาท หรือมากกว่านั้น ซึ่งในแต่ละปีจะผลิตสินค้าได้ประมาณ 100 ชิ้น ทุกชิ้นงานเป็นการผลิตแบบแฮนด์เมด จึงต้องใช้เวลา
“ที่บ้านดินมอญจะมีลายพิเศษ คือลายก้างปลาซึ่งมีที่นี่ที่เดียว การที่ผมกลับมาพัฒนาของพวกนี้เพราะไม่อยากให้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดต้องสูญหาย ผมจึงตั้งใจกลับมาช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ สานต่อความตั้งใจของบรรพบุรุษ ทำให้คนรุ่นใหม่ได้แรงบันดาลใจว่าถ้าผลงานเราดีจริง ย่อมมีตลาดรองรับแน่นอน” เจ้าของร้านกล่าว และว่าหากใครสนใจไปเที่ยวที่เกาะเกร็ด ที่ร้านบ้านดินมอญ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่สวยงามแล้ว ทางร้านยังจัดทำพิพิธภัณฑ์ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชมประวัติการทำเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งได้เห็นลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาใหม่ๆ ที่ทางร้านได้ออกแบบ และยังมีโชว์รูมของทางร้านเปิดให้เข้าชมผลิตภัณฑ์ด้วย
ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผา “ร้านบ้านดินมอญ” มีวางจำหน่ายในโอเรียนเต็ล และร้านโอท็อป เฮอร์ริเทจ ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมถึงที่ร้าน “วังดิน” ตลาดน้ำสี่ภาค พัทยา จังหวัดชลบุรี ใครสนใจสินค้าแวะชมเลือกซื้อหาได้
สำหรับชนชาติ “มอญ” ได้ชื่อว่าเป็นชนชาติหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันโดดเด่น ครั้งหนึ่งชนชาติมอญเคยมีดินแดนเป็นของตนเอง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์ แต่ความจำเป็นบางอย่างทำให้ต้องอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวมอญที่อพยพมาที่เกาะเกร็ดนั้นมีชื่อกลุ่มว่า “กวานอาม่าน” หรือ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา จำพวกโอ่ง อ่าง สำหรับใส่เหล้าสาโท ไหสำหรับเหล้ากะแช่ที่ทำจากข้าวหมาก ทำให้ปัจจุบันเกาะเกร็ดจึงเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องปั้นดินเผาแบบมอญ
แต่ถึงแม้จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย รวมถึงโดนกระแสสังคมเมืองจนได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมอญดั้งเดิม แต่มอญที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทุบรี ก็ยังคงสามารถประพฤติปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของตนได้เป็นอย่างดี ชุมชนมอญเกาะเกร็ดจึงถือเป็นตัวอย่างชุมชนมอญแห่งหนึ่งที่ยังคงมีการอนุรักษ์รักษาประเพณีวัฒนธรรมให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี