Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

รู้จัก “พระร่วง” ญาติเยอะ ที่สุโขทัย จากคำบอกเล่าของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน บริเวณที่เป็นตัวเมืองนี้มิใช่กรุงสุโขทัยที่เป็นราชธานีมาแต่เดิม  แต่เป็น “เมืองสุโขทัย” ที่รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายผู้คนทั้งหมดจากสุโขทัยมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยมเมื่อ พ.ศ. 2336 โดยห่างจากตัวเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นราชธานี 12 กิโลเมตร   ครั้งนั้นมีพระราชดำริว่าเมืองสุโขทัยเป็นเมืองใหม่ ไม่มีผู้คนพอจะต่อสู้รักษาให้พ้นจากการรุกรานจากพม่าข้าศึกได้

เมืองสุโขทัยเคยถูกยุบเป็นอำเภอ มีชื่อว่า “อำเภอธานี” ขึ้นกับอำเภอสวรรคโลกเมื่อปี พ.ศ. 2475 จนกระทั่งปี พ.ศ.2482 ทางการจึงได้ยกฐานะเป็นจังหวัดดังปรากฏอยู่ปัจจุบัน

การเชื่อมโยง “พระร่วง” กับการสืบเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยค่อนข้างมีความคลุมเครือ เพราะในทางประวัติศาสตร์ถือว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สถาปนารัฐสุโขทัย

จากการศึกษาจารึกสมัยสุโขทัยที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์  มีการใช้คำว่าพระร่วงเรียกชื่อสถานที่โบราณต่างๆ อาทิ  “โตรกพระร่วงลองพระขรรค์” ซึ่งเป็นร่องน้ำธรรมชาติที่ตำนานกล่าวว่าพระร่วงใช้พระขรรค์ฟันหินตรงนั้นให้แตกออกเป็นร่องน้ำเพื่อให้น้ำจากเทือกเขาไหลลงไปยังเมืองสุโขทัยได้   “ท่อปู่พญาร่วง” ท่อส่งน้ำไปยังเมืองสุโขทัย  คำว่า “ปู่พญา” ที่ปรากฏในจารึกสุโขทัยมักหมายถึงบรรพบุรุษที่กษัตริย์ให้ความเคารพนบนอบ ชื่อเรียกสถานที่โบราณเหล่านี้เป็นการแสดงถึงการรับรู้ถึงตำนานหรือความเป็นวีรบุรุษของพระร่วงในสังคมโบราณ

ตำนานพระร่วงปรากฏเป็นมุขปาถะ และนิทานชาวบ้านของกลุ่มคนไทยในหลายๆ ภูมิภาค  จากการสรุปของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สำนักศิลปากร มีว่า  พระร่วงเป็นชื่อวีรบุรุษในตำนาน พบมากบริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน หรือภาคกลางตอนบน (แต่ทางการเรียกภาคเหนือตอนล่าง)

นักปราชญ์ไทยสมัยก่อนๆ บอกว่าหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ที่ครองรัฐสุโขทัย จึงไม่หมายถึงองค์ใดองค์หนึ่งตามที่มักมีผู้รู้อ้างกัน แม้เป็นตำนานวีรบุรุษอยู่เหนือเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ โดยไม่มีตัวตนจริง และ “ไม่ไทย” เพราะไม่พบตรงไหนบอกว่าพระร่วงเป็น “คนไทย”  แต่พระร่วงถูกยกย่องจากคนชั้นนำสืบเนื่องหลายยุคหลายสมัย จนนักโบราณคดีทางการก็พากันอ้างราวกับว่าเป็นเรื่องจริงทุกอย่างในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

หลังจากเมืองสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจของรัฐอยุธยา ชาวเมืองสุโขทัยจึงเรียกตนเองว่าไทย (หมายถึง ไม่ลาว) ในความหมายเดียวกับคนไทยในรัฐอยุธยา พบหลักฐานนี้ในสมุทรโฆษคำฉันท์ วรรณกรรมสมัยต้นอยุธยา

พระร่วง ชื่อจริงว่า ร่วง ส่วนคำว่า พระ เติมข้างหน้าเพื่อยกย่อง หมายถึง เจ้านาย

“ร่วง”  คำเดียวกับ “รุ่ง”  แปลว่า สว่าง, แจ้ง (รุ่ง แผลงได้เป็น ร่วง, โล่ง ) โดยปริยายหมายถึง เจริญก้าวหน้า จึงมักใช้ควบคู่กันทั่วไปว่า รุ่งเรือง, รุ่งโรจน์

พระร่วง ตรงกับ พระรุ่ง ความหมายเดียวกับ ท้าวฮุ่ง ในชื่อ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง  “วีรบุรุษทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์สองฝั่งโขง”

ภาพจากกรมศิลปากร จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน มิใช่กรุงสุโขทัยที่เป็นราชธานีแต่เดิม
ขอมดำดิน ในตำนานพระร่วง ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัย

ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นองค์เดียวกันของคน 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มภาษาไต-ไท เรียก ท้าวฮุ่ง (2) กลุ่มภาษามอญ-เขมร เรียก ท้าวเจือง (เจือง แปลว่า จอม) ตำนานเล่าว่าท้าวเจืองเกิดที่เมืองพะเยา ลุ่มน้ำอิง เป็นบรรพชนพญางำเมือง ญาติสหายพระร่วงและพญามังราย

บ้านเมืองแถบลุ่มน้ำยม-น่าน บริเวณศรีสัชนาลัยสุโขทัย มีเครือข่ายเครือญาติถึงเมืองเชียงแสน, เมืองพะเยา, เมืองลาว (อยู่ในจารึกวัดศรีชุม หรือจารึกสุโขทัย หลักที่ 2)นอกจากนั้นยังเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับเมืองน่าน, เมืองหลวงพระบาง (หลักฐานสำคัญอยู่ในจารึกปู่หลานสบถกัน หรือจารึกสุโขทัย หลักที่ 45)  พบในตำนานว่าพระร่วงมีญาติสหายสำคัญคือ พญามังราย กับ พญางำเมือง แต่ต่อมาพระร่วงเป็นชู้เมียพญางำเมือง (เมืองพะเยา) พญามังรายต้องเป็นคนกลางชำระคดี  จึงรำพึงในใจว่าพระร่วงมีอานุภาพเพราะมีญาติมาก ถึงเมืองนครศรีธรรมราชและกรุงศรีอยุธยา

พบร่องรอยต่างๆ ดังนี้ เมืองพระนครหลวง กัมพูชา พบตำนานอยู่ในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ว่าพระร่วงเป็นลูกนางนาค อรรคมเหสีพระเจ้ากรุงกัมพูชา เกิดจากไข่นางนาค เลยถูกเอาไปทิ้งเพราะเป็นเสนียดจัญไร ต่อมาเจ้าเมืองละโว้เก็บไข่นางนาคไปฟักออกมาเป็นลูกชายชื่อ นายร่วง จนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัย

“พระร่วงมีแยะ ผมสรุปออกมาประมาณหนึ่ง พระร่วงมีแม่คนเดียวชื่อ นางนาค ไม่ใช่มาจากนางนาคพระโขนง นางนาคคนนี้เป็นผีบรรพชนเพศหญิง แผ่นดินแม่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บรรพชนเพศหญิงชื่อ นางนาค เหมือนกันหมด พฤติกรรมเหมือนกันหมด นิทานกลุ่มแรกพระร่วงมีพ่อเป็นมอญ มาจากเมืองลำพูนหรือหริภุญไชย เจ้าเมืองหริภุญไชยซึ่งเป็นมอญ รำคาญข้าราชการทะเลาะเบาะแว้ง ชิงดีชิงเด่น ริษยาอาฆาต เลยออกบวชเป็นฤาษี จะมาถือศีลที่เขาหลวง เดินมาจากหริภุญไชย ระหว่างทางเห็นงูกัดกัน(กำลังผสมพันธุ์)จึงเอาไม้เท้าเขี่ย งูตัวเมียโกรธไปฟ้องพ่อที่เมืองบาดาล พ่อบอกว่าไม่รู้หรือว่าเป็นกษัตริย์ออกมาบวช จึงให้นางนาคไปรับใช้ ต่อมานางนาคท้องและต้องกลับเมืองบาดาล จึงสำรองลูกในท้องไปฝากไว้ที่ท้องคางคก คางคกอยู่ริมหนองน้ำก็สำรอกออกมาเป็นเด็ก ตาแก่ยายแก่ไปหาของป่าเห็นเข้าจึงเก็บเด็กมาเลี้ยง เอาเด็กใส่ในตะกร้า แต่ด้วยความที่เด็กซนจึงร่วงจากตะกร้าตลอด เลยเรียก”ร่วง” กลายมาเป็นพระร่วง

อีกตำนานนางนาคคนเดียวกันหรือเปล่าไม่ทราบ เป็นมเหสีของกษัตริย์เขมร ออกลูกคนโตมาเป็นไข่   โหราพยากรณ์ว่าเป็นกาลีบ้านกาลีเมืองต้องเอาไปฆ่า เลยเอาไปทิ้งไว้แถวๆ โตนเลสาบ ต่อมามีลูกคนน้องอีกแต่เป็นคน คนโตที่ออกมาเป็นฟองตอนหลังกระเทาะเปลือกออกมาเป็นคน ก็มีตาแก่ยายแก่เก็บมาเลี้ยงอีก ต่อมากลายเป็นกษัตริย์ของสุโขทัย ลูกคนน้องที่เป็นคนอยู่ที่กรุงกัมพูชา เป็นกษัตริย์อยู่กรุงกัมพูชา ชื่อพระปทุมสุริวงศ์ ส่วนคนโตที่เป็นไข่ชื่อพระร่วง สรุปแล้วสองคนเป็นพี่น้องกัน แต่อยู่คนละที่ คนหนึ่งอยู่เขมร คนหนึ่งอยู่สุโขทัย

ทีนี้พระร่วงสายลาว คำว่า ร่วง ตรงกับคำว่า รุ่ง ร่วงนี้ไม่ใช่ร่วงหล่น แต่เป็นร่วง คือรุ่ง  รุ่งโรจน์  คำว่า “รุ่ง” ตรงกับ “ท้าวฮุ่ง”  ก็คือ ท้าวฮุ่งขุนเจือง นั่นแหละ เขาเป็นญาติดองกันเชื้อสายเดียวกัน บรรพชนของพระร่วงก็คือท้าวฮุ่ง

ทั้งหมดเป็นเครื่องบอกว่า สุโขทัยเติบโตด้วยคนหลายๆ เผ่าพันธุ์  นานาเผ่าพันธุ์..”

บริเวณวัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี