“พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” เรียกอีกอย่างว่า “พระแก้วขาว” หรือ “พระแก้วผลึก” เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “…งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้…” และยังเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญ มีความงามเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่หมายปองของหลายดินแดน
หาก พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งอัญเชิญในการพระราชพิธีใหญ่ต่างๆ แล้ว ยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญขึ้นเทียบชั้นกัน โปรดให้อัญเชิญตั้งเป็นประธานในพิธีแทนพระแก้วมรกตก็คือ “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” หรือ “พระแก้วผลึกหมอก” หรือ “พระแก้วขาว” นั่นเอง
พุทธลักษณะของพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย กรมศิลปากร บรรยายว่ามีลักษณะปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 15.2 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา
เรื่องราวของพระแก้วขาว ปรากฏในพงศาวดารโยนก ว่าพระอรหันต์ได้แก้วขาวมาจากจันทรเทวบุตร จึงขอให้พระวิษณุกรรมแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แล้วบรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ และพระโอษฐ์ พระแก้วขาวนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้ จนกระทั่งพระนางจามเทวีอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญจากเมืองหริภุญไชยไปเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานคู่กับพระแก้วมรกตเป็นเวลา 84 ปี
จากนั้นในปี พ.ศ. 2093 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อัญเชิญพระแก้วขาวและพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปที่เวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2107 นั้น ไม่ปรากฏว่าได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปพร้อมกับพระแก้วมรกต จึงสันนิษฐานว่าคงเคลื่อนย้ายไปซ่อนไว้ ณ ถ้ำเขาส้มป่อย ดังที่ปรากฏในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน
ส่วนในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่า “…พระพุทธบุษยรัตน์พระองค์นี้ เปนพระแก้วผลึกอย่างที่ช่างเรียกว่า เพ็ชรน้ำค้าง หรือบุษย์น้ำขาว เนื้อแก้วสนิทแลเปนแท่งขนาดใหญ่ยังไม่เคยมีเหมือน ทรวดทรงพระพุทธปฏิมาทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกัน แม้ขนาดย่อมๆ ซึ่งได้เคยมีมา วัดขนาดมีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ 12 นิ้ว 2 กระเบียดอัษฎางค์ น่าตักวัดแต่พระชาณุทั้ง 2 เก้านิ้ว กับ 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระกรรปุระทั้งสอง 6 นิ้ว 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระอังสกูฏ 4 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์ ประมาณพระเศียรแต่ปลายพระหณุขึ้นไปถึงที่สุดพระจุฬาธาตุ 4 นิ้วกึ่งกับ 2 กระเบียดอัษฎางค์ กว้างพระภักตร์วัดในระหว่างพระกรรณทั้ง 2 ข้าง 2 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์…”
ปริศนาที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจน คือต้นกำเนิดและผู้สร้างพระพุทธรูป ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน มีแต่เป็นตำนานที่เล่ากันมาในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่าด้วย “ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์” กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าตำนานที่สอดคล้องกับพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์ ว่า
…พระพุทธปฏิมาแก้วผลึกพระองค์นี้ มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมื่อปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพราน 2 คน ชื่อพรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่า ไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำ พรานทั้งสองรู้ว่าเป็นของวิเศษ ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปแต่คิดว่าเป็นเทวรูป จึงทำการบวงสรวงบนบานตามวิสัยพรานป่า ภายหลังพรานทั้งสองเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยว เกรงว่าใครมาพบเข้าก็จะขโมยไป จึงเชิญมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน โดยใช้เชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยมากับคันหน้าไม้ ระหว่างที่เดินมานั้น แก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบคันหน้าไม้บิ่นไปหน่อยหนึ่ง พรานทึงพรานเทิงเวลาไปยิงได้สัตว์ป่ากลับมาก็คิดว่าเป็นเพราะอำนาจที่ได้บนบานพระแก้วไว้ จึงเอาโลหิตแต้มอยู่เสมอ
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าไชยกุมารเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ทราบจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังซื้อเขาสัตวป่าตามบ้านพราน ว่าพรานทึงพรานเทิงมีพระแก้ววิเศษอยู่องค์หนึ่ง เจ้าไชยกุมารจึงให้ไปนำพระแก้วจากพรานทั้งสองมา เมื่อเห็นว่าเป็นพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จึงให้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาในเมืองนครจำปาศักดิ์
ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิ์มีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้ ไม่ได้ทราบถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพไทยยกไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต คราวได้พระแก้วมรกตมา ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยพวกเมืองนครจำปาศักดิ์ พากันซ่อนเร้นปิดบัง เมื่อเจ้าไชยกุมารพิราลัย เจ้าหน้าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง แล้วสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ 1
จนเจ้าหน้าพิราลัย ในรัชกาลที่ 2 โปรดให้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าหน้า ข้าหลวงไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้า จึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์ ว่า พระแก้วผลึกนี้เป็นของวิเศษ ไม่ควรจะเอาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ชายเขตแดนพระราชอาณาจักร ซึ่งมีโจรผู้ร้ายเข้าเข้าปล้นเมืองเสมอ ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอีก ของวิเศษอาจจะเป็นอันตรายหายสูญได้ พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก มีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ
มีบันทึกเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาการแห่ เนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจําปาศักดิ์ ซึ่งอธิบายว่า ระหว่างการแห่นั้น รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกอยู่เมืองลาวมีเครื่องประดับ ปลอกทองคำประดับด้วยแก้วต่างๆ รับทับเกษตรอยู่โดยรอบกับเทริดดังศิลปะลาว และมีพระราชดำริว่า “เป็นฝีมือลาวรุงรังนัก กำบังเนื้อแก้ว ไม่งามเวลาแห่” ทรงมีพระราชโองการให้พนักงานนำเครื่องประดับเหล่านั้นออก
เมื่อมาถึงแล้ว รัชกาลที่ 2 ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกไปไว้ที่โรงที่ประชุมช่าง ข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โปรดให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เพื่อเจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่บิ่นให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน กับพระราชทานพระราชดำริ ให้ช่างปั้นฐานต่อองค์พระตามที่พอพระราชหฤทัย แล้วหล่อด้วยทองสำริดแต่งให้เกลี้ยงหุ้มด้วยทองคำ ส่วนยอดพระรัศมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้มส่วนพระเศียร ดุนเป็นเม็ดพระศกต้องตามแบบแผนของพระพุทธรูป ต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดีประดับเพชร ใจกลางหน้าหลังและกลีบต้นพระรัศมี แต่เมื่อถวายสวมเครื่องทองส่วนยอดพระรัศมีแล้ว สีพระพักตร์ไม่ผ่องใสเหมือนสีองค์พระ จึงแก้ไขด้วยการเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิ์แผ่หุ้มก่อนชั้นหนึ่ง ขัดเงินให้เกลี้ยงเป็นเงางามแล้วจึงสวมพระศกทองคำบนแผ่นเงิน ทำให้พระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลเสมอกับพระองค์ แล้วรับสั่งให้ทำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อย สอดในช่องบนพระจุฬาธาตุเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ และนำทองคำลงราชาวดีขาวดำผังแนบพระเนตรให้งดงาม ทำฉัตรทองคำ 5 ชั้น ชั้นต้นเท่าส่วนพระอังสาลงยาราชาวดีประดับพลอย มีใบโพธิ์แก้วห้อยเป็นเครื่องประดับ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า (หอพระสุราลัยพิมาน) ด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลาเช้า-ค่ำมิได้ขาด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2404 โปรดให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” กับทั้งโปรดให้สร้างพระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประดิษฐาน พระราชทานชื่อว่า “พระพุทธรัตนสถาน”
ในเอกสารชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 4 หมวดโบราณสถานและโบราณวัตถุ รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วองค์นี้งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนและเกาะสิงหลลังกาที่เขาว่าทำเป็นแว่นตาหรือรูปพระพุทธปฏิมา และสิ่งอื่นที่ใช้อยู่นั้น เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไป คือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวสู้ไม่ได้เลย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเสร็จแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน หลังพระองค์เสด็จสวรรคต มีการอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน (พระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวัง) กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐานที่หอพระที่นั่งอัมพรสถานอีกครั้ง