วาร์ปเที่ยวอินทร์บุรีที่ "บ้านคูเมือง" เมืองโบราณที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
พื้นที่ราบเจ้าพระยามีเมืองโบราณสมัยทวาราวดีอยู่หลายเมือง เมืองหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นั่นคืออำเภออินทร์บุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณชื่อ “บ้านคูเมือง” ขับรถแค่ชั่วโมงเศษๆ ก็ไปถึงที่หมายแล้ว
ก่อนถึงเมืองโบราณบ้านคูเมืองเราผ่านตัวอำเภออินทร์บุรี สภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ยังคงเหมือนเดิม สงบและค่อนข้างเงียบ โดยเฉพาะในช่วงไวรัสระบาด แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน ถึงแม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง รวมทั้งโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ก็เปิดให้บริการตามปกติแล้ว
แหล่งโบราณสถานบ้านคูเมืองซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่สารภาพว่ายังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเลยตั้งแต่โควิดระบาดรอบ 3 เป็นต้นมา เพิ่งมีคณะของเราเป็นคณะแรก น้องเจ้าหน้าที่จึงดีใจนักหนาที่มีคนมาฟังเธอบอกเล่าเรื่องราวของบ้านคูเมือง
นับตั้งแต่มีการขุดค้นสำรวจชั้นดินภายในตัวเมืองและการขุดแต่งโบราณสถานนอกตัวเมือง สรุปได้ว่าแหล่งโบราณสถานบ้านคูเมือง ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี มีคนอยู่อาศัยถึง 4 ระยะ นับตั้งแต่สมัยช่วงประวัติศาสตร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 12-16) หลักฐานคือภาชนะดินเผา เครื่องใช้สอยต่างๆ เป็นแบบเดียวกับที่นิยมใช้ในเมืองโบราณที่มีอายุร่วมสมัยกัน เช่น เมืองโบราณนครชัยศรี จ.นครปฐม เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี เมืองคูบัว ราชบุรี เมืองจันเสน นครสวรรค์
หลักฐานชั้นต่อมาเป็นหลักฐานที่ได้จากการขุดชั้นดินที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่าบ้านคูเมืองมีความเจริญมาโดยไม่ขาดช่วง ปรากฏหลักฐานพวกเครื่องถ้วยราชวงศ์ของจีน อาทิ ซ่งตอนปลาย, ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สถานที่แห่งนี้มีการขุดค้นทางโบราณคดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 พบโบราณวัตถุมากมาย และชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะโบราณ ของทั้งหมดที่ค้นพบและขุดได้ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และบางส่วนยังคงเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์บ้านคูเมือง แต่ไม่มากนัก
การมาเยือนอินทร์บุรีครั้งนี้ เราเดินทางออกจากเมืองโบราณจุดที่เป็นศูนย์กลางชุมชนไปตามทุ่งนารอบนอก นาข้าวเขียวขจีโอบล้อมเส้นทางดินเล็กๆ ที่นำเราไปสู่ “วัดโคก” หรือชาวบ้านเรียกเนินดินนี้ว่า “โคกวัด” เป็นเพียงโบราณสถานแห่งเดียวที่ยังหลงเหลือให้เห็นร่องรอยของความเป็นเมืองทวาราวดีที่มีอายุมากกว่า 1200 ปี
กองอิฐแผ่นใหญ่ทับถมกันสูงขึ้นไปจากพื้นเกือบๆ 10 เมตร ก้อนอิฐกระจัดกระจายทั่วไป บางก้อนยังสมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่แตกหัก อิฐที่พบดูจากส่วนผสมที่เป็นแกลบข้าวเห็นชัดเจนว่าเป็นอิฐสมัยทวาราวดี กรมศิลปากรไปขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการสำรวจขุดค้น เลยทำให้มีการไปบุกรุกพื้นที่ ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ย่อยๆ ขึ้น คาดว่าอีกไม่นานอาจจะไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็น เนื่องจากพระท่านสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นในบริเวณดังกล่าวมากมาย
รอบๆบริเวณเนินดินนี้เป็นนาข้าว ฐานของกองอิฐค่อนข้างกว้าง หากหลับตานึกย้อนไปในอดีตพอสันนิษฐานได้ว่า กองอิฐนี้น่าจะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และสูงมาก สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลๆ เมื่อไต่ขึ้นไปบนกองอิฐชั้นสูงสุดพบว่ามีการลักลอบขุดเจาะหาสมบัติจนเป็นโพรงกว้างประมาณ 2 เมตร ก็ได้แต่นึกในใจว่าหากปล่อยทิ้งไว้ให้โดยไม่มีการจัดการ บอกได้คำเดียวว่า “น่าเสียดายอย่างยิ่ง”
เมืองโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี จัดอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีคูน้ำ แต่ไม่มีคันดิน มีการขุดคลองจำนวนมากเชื่อมโยงกับคูเมืองและลำนำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำเชื่อมโยงกันไปทั่ว ทำให้สะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่และติดต่อค้าขาย จนเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต