Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ศักราชสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโกษาปาน

ภูธร ภูมะธน

ค.ศ.1662/ พ.ศ.2205 – โกษาปานรับราชการใน กรมพระคลังกับพี่ชาย (โกษาเหล็ก)

ค.ศ.1670/ พ.ศ.2213 – โกษาปานออกสงครามตีเชียงใหม่ร่วมกับพี่ชาย (โกษาเหล็ก)

ค.ศ.1683/ พ.ศ.2226 – โกษาเหล็ก (พี่ชายโกษาปาน) ถึงแก่กรรม

ค.ศ.1685/พ.ศ.2228 – 22 ธ.ค. คณะราชทูตสยามนำโดยโกษาปานออกเดินทางจากสันดอนปากแม่น้ำไปยังฝรั่งเศส

ค.ศ.1686/พ.ศ.2229 – 18 มิ.ย. คณะราชทูตสยามถึงเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส

– 23 มิ.ย. คณะราชทูตสยามขึ้นจากเรือ ได้รับการแห่แหนให้พำนักที่บ้านรับรองที่เมืองแบรสต์

– 9 ก.ค. ออกเดินทางจากเมืองแบรสต์ไปยังกรุงปารีส

– 12 ส.ค. คณะราชทูตสยามเดินทางเข้ากรุงปารีส

– 1 ก.ย. คณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อถวายพระราชสาส์นพระนารายณ์ที่พระราชวังแวร์ซายส์

– 14 ต.ค.- 21 พ.ย. คณะราชทูตสยามเดินทางไปเยือนแคว้นทางเหนือของฝรั่งเศส

 

ค.ศ.1687/ พ.ศ.2230

– 1 มี.ค . คณะราชทูตสยาม พร้อมราชทูตพิเศษฝรั่งเศส (ม.เดอ ลาลูแบร์ ม.เซเบเรต์) และทหารฝรั่งเศส 636 นาย ภายใต้การควบคุมของนายพลเดส์ฟาร์จ ออกเดินทางจากเมืองแบรสต์มายังสยาม

– 26 ก.ย. เรือโดยสารคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางถึงสันดอนปากแม่น้ำ

– 6 ต.ค. เรือโดยสารคณะราชทูตสยาม (โกษาปาน) ถึงสันดอนปากแม่น้ำ

– 18 ต.ค. กองกำลังทหารฝรั่งเศสขึ้นบกไปประจำการที่บางกอก (ป้อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก) เหลือทหารรอดชีวิต 492 นาย

– 2 พ.ย. ม.เดอ ลาลูแบร์ และ ม.เซเบเรต์ เข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระนครศรีอยุธยา

– 11 ธ.ค. ทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสครั้งที่ 2 ลงนามโดย ม.เดอ ลาลูแบร์ ม. เซเบเรต์และประทับตราเจ้าพระยาพระคลัง “ตราบัวแก้ว”

– 17 ธ.ค. โกษาปานออกเดินทางจากบางกอกเพื่อไปส่ง ม. เซเบเรต์กลับฝรั่งเศสโดยไปทางเมืองมะริด

ค.ศ.1688/ พ.ศ.2231

– 1 ม.ค. ม. เซเบเรต์และโกษาปานเดินทางถึงเมืองมะริด

– 3 ม.ค. ม.เดอ ลาลูแบร์ออกเดินทางจากสันดอนปากแม่น้ำกลับประเทศฝรั่งเศส

– ก.พ. พระนารายณ์ประชวร

– 17 ก.พ. ม. ดู บรูอ็อง นำทหารฝรั่งเศสจำนวน 112 นาย จากป้อมบางกอกไปประจำการที่เมืองมะริด

– 31 มี.ค. ฟอลคอนเรียกตัวนายพลเดส์ฟาร์จมาที่เมืองลพบุรีเพื่อปรึกษาแผนการขจัดอำนาจพระเพทราชา นายพลเดส์ฟาร์จรับปากว่าจะช่วย

– 14 เม.ย. นายพลเดส์ฟาร์จพร้อมทหาร 80 นาย เดินทางจากบางกอกเพื่อไปเมืองลพบุรี ได้แวะที่พระนครศรีอยุธยา และได้รับคำแนะนำจาก ม. เวเรต์ และบาทหลวงเดอ ลิยอนน์ว่าไม่ควรขึ้นไปเมืองลพบุรี นายพลเดส์ฟาร์จตัดสินใจกลับบางกอก

– 18 พ.ค. พระเพทราชาล้อมพระราชวังเมืองลพบุรี ฟอลคอนพร้อมสู้ นำกำลังเข้าไปในพระราชวัง ฟอลคอนถูกจับ

– 25 พ.ค. โกษาปานพร้อมบาทหลวงเดอ ลิยอนน์ได้รับมอบหมายจากพระเพทราชา ให้ไปที่บางกอกเพื่อแจ้งให้นายพลเดส์ฟาร์จขึ้นมาพบที่เมืองลพบุรี

– 31 พ.ค. นายพลเดส์ฟาร์จพร้อมโกษาปานออกจากป้อมบางกอกขึ้นไปเมืองลพบุรี

– 2 มิ.ย. นายพลเดส์ฟาร์จถึงเมืองลพบุรี พระเพทราชาขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสส่งกำลังทหารช่วยสยามรบกับลาว และขอให้เรียกทหารฝรั่งเศสจากเมืองมะริดมาสมทบ นายพลเดส์ฟาร์จตอบตกลง แต่ขอกลับไปสั่งการด้วยตนเองที่บางกอก แต่ในที่สุดได้ตัดสินใจไม่ร่วมมือกับสยาม

– ต้น มิ.ย. ฝ่ายสยามเริ่มโจมตีกองกำลังฝรั่งเศสที่เมืองมะริด

– 5 มิ.ย. ฟอลคอนถูกประหารชีวิต

– 6 มิ.ย. ฝ่ายฝรั่งเศสที่บางกอกพร้อมสู้กับฝ่ายสยามโดยทำลายป้อมฝั่งตะวันตก รวมพลอาวุธและเสบียงตั้งมั่นในป้อมฝั่งตะวันออก

– ต้น มิ.ย.-ต้น ก.ค. โกษาปานมาประจำอยู่ที่ป้อมบางกอกเพื่อหาทางตกลงกับฝ่ายฝรั่งเศสที่ถูกฝ่ายสยามปิดล้อม

– 11 ก.ค. พระนารายณ์สวรรคตที่พระราชวังเมืองลพบุรี พระเพทราชาขึ้นครองราชย์

– ราวกลางปี โกษาปานได้รับตำแหน่งที่เจ้าพระยาพระคลัง

– 7 ก.ย. ร้อยโทเดอ ริวิแยร์ ผู้แทนกองกำลังฝรั่งเศสขึ้นไปที่พระนครศรีอยุธยาขอพบโกษาปาน เพื่อเจรจาทำความเข้าใจต่อหน้า ม. เวเรต์ ผู้อำนวยการบริษัทฯ ฝรั่งเศสในสยาม โกษาปานให้คำตอบในเชิงไม่ต้องการให้ความขัดแย้งบานปลาย

– 9 ก.ย. กำลังหนุนจากฝรั่งเศส 200 นาย และชายผู้มีตระกูล 50 คน ที่ฝ่ายฝรั่งเศสส่งมาเสริมเดินทางมาถึงสันดอนปากแม่น้ำโดยเรือลอริฟลาม

– 4 ต.ค. มาดามฟอลคอนพร้อมบุตรและคริสตัง 3 คน หนีมาพึ่งกองทหารฝรั่งเศสที่บางกอก นายพลเดส์ฟาร์จทำหนังสือถึงโกษาปานขอส่งตัวคืน

– 18 ต.ค. ทำหนังสือสัญญาระหว่างฝ่ายสยามและฝ่ายฝรั่งเศส ตกลงว่าฝ่ายฝรั่งเศสยอมถอนทหารจากบางกอกไปยังเมืองป็องดิเชอรี ฝ่ายสยามจัดเรือ 2 ลำ นำไปส่ง

– 2 พ.ย. กองกำลังทหารฝรั่งเศสทั้งหมด (รวมทั้งเรือที่เพิ่งมาถึง) ถอนตัวจากบางกอกเพื่อไปยังเมืองป็อนดิเชอรี แต่ได้ยึดตัวประกันชาวสยามติดไปกับเรือด้วย ฝ่ายสยามเห็นว่าเป็นการบิดพลิ้วสัญญา จึงจับตัวสังฆราชลาโนและนักบวชฝรั่งเศสอื่นๆ เข้าคุก

ค.ศ.1689/ พ.ศ.2232

– 31 ม.ค. เรือขนกองกำลังทหารฝรั่งเศส 2 ลำที่ฝ่ายสยามให้ยืม คือเรือสยามและเรือละโว้เดินทางถึงเมืองป็อนดิเชอรี

– 7 ก.พ. เรือขนกองกำลังทหารฝรั่งเศสอีก 1 ลำ คือเรือลอริฟลามเดินทางถึงเมืองป็อนดิเชอรี

– มี.ค. เผาศพมารดาโกษาปาน (เจ้าแม่วัดดุสิต)

– 10 เม.ย. นายพลเดส์ฟาร์จกับทหารฝรั่งเศสตัดสินใจกลับมายังสยามอีกครั้งเพื่อยึดครองเกาะภูเก็ต จึงออกเดินทางจากเมืองป็อนดิเชอรี

– ส.ค. เมื่อถึงเกาะภูเก็ต ฝ่ายฝรั่งเศสส่งตัวประกันสยามที่ยึดตัวไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนคืนหนึ่งคน

– 16 ต.ค. ฝ่ายฝรั่งเศสปล่อยตัวออกหลวงกัลยสราชไมตรี ตัวประกันสยามคืนอีกหนึ่งคน กองกำลังฝ่ายฝรั่งเศสตัดสินใจไม่เดินหน้ายึดครองเกาะภูเก็ต แต่เดินทางกลับเมืองป็อนดิเชอรี

– 9 พ.ย. โกษาปานเรียกตัว ม. โปมา ผู้เคยเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระนารายณ์มาซักถามว่า เมื่อพวกฝรั่งเศสออกจากภูเก็ตแล้วไปไหน

– ปลายปี ราชสำนักฝรั่งเศสทราบเรื่องการยึดอำนาจในสยามและเรื่องฟอลคอนถูกประหารชีวิต

ค.ศ.1690/ พ.ศ.2233

– มี.ค. นายพลเดส์ฟาร์จและกองทหารฝรั่งเศสที่กลับจากภูเก็ตไปพักที่เมืองป็อนดิเชอรีถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศส

– 6 มิ.ย. หมอแกมป์เฟอร์มาถึงพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าพบโกษาปานและได้เที่ยวชมวัดพระยาพระคลัง (โกษาปานสร้าง) ที่วิจิตรบรรจง

– 12 มิ.ย. พระเพทราชาพระราชทานเพลิงศพแม่นมโกษาปานที่วัดริมแม่น้ำนอกเมืองพระนครศรีอยุธยา

– 1 ส.ค. โกษาปานแจ้งกับ ม.โปมาว่า พระเพทราชาโปรดฯ ให้ปล่อยมิชชันนารีและนักเรียนโรงเรียนสามเณรที่ถูกจับกุมทั้งหมด

– 15 ส.ค. มิชชันนารี 9 คน และนักเรียนโรงเรียนสามเณร 14 คน ได้รับการปล่อยตัวจากคุกหลังจากถูกจองจำ 21 เดือน (นับแต่เดือน พฤศจิกายน ค.ศ.1688)

– 21 ส.ค. สังฆราชลาโนได้ไปพบโกษาปานเพื่อขอบคุณที่ได้ปล่อยมิชชันนารีและนักเรียนให้พ้นโทษ โกษาปานแจ้งว่าที่พวกฝรั่งเศสต้องติดคุกต้องโทษพวกฝรั่งเศสด้วยกัน

– 27 พ.ย. บาทหลวงตาชารด์มีจุดหมายถึงโกษาปานว่าจะคอยอยู่ที่เบงกอลเพื่อรับพระราชกระแส

จากพระเจ้ากรุงสยามให้เข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อพระเพทราชา

ค.ศ.1691/ พ.ศ.2234

– ม.ค. ฝ่ายสยามปล่อยตัวนักโทษชาวฝรั่งเศสที่ไม่ได้เป็นนักพรตทั้งหมด โกษาปานได้รับจดหมายบาทหลวงเดอ ลาแชส เขียนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1689 แสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง รวมทั้งแจ้งว่าได้รับข่าวจากพวกฮอลันดา เรื่องสยามจับตัวบาทหลวงคุมขังอย่างผู้ร้ายและขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากสยาม จึงขอให้โกษาปานดำเนินการให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ชี้แจงเหตุผลต่อกษัตริย์ฝรั่งเศส

– 27 ก.พ. นายพลเดส์ฟาร์จตายในระหว่างการเดินทาง ส่วนเรือที่กองทหารฝรั่งเศสใช้โดยสารกลับฝรั่งเศสล่มที่ชายฝั่งแคว้นเบรอตาญจน์ ทหารทั้งหมดเสียชีวิต

ค.ศ.1673/ พ.ศ.2236 – โกษาปานตอบจดหมายบาทหลวงตาชารด์ว่าขอให้เชิญพระราชสาส์นมาโดยเรือจากยุโรป จะทรงยินดีในอภินิหารและอานุภาพพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โกษาปานตอบจดหมายบาทหลวงเดอ ลาแชสว่ากรณีบาดหมางระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นเพราะฝ่ายฝรั่งเศสในสยามไม่เชื่อคำแนะนำของตนและสังฆราชลาโน

– 27 ธ.ค. โกษาปานตอบจดหมายบาทหลวงบริซาซิเยร์ (ผู้อำนวยการสำนักมิสซังต่างประเทศ) ว่าเป็นความผิดของชาวฝรั่งเศสจึงก่อให้เกิดความบาดหมาง

ค.ศ.1697/ พ.ศ.2240

– ม.ค. บาทหลวงตาชารด์ออกเดินทางจากเบงกอลมายังเมืองมะริดโดยเรือแขกมัวร์

– 5 ก.พ. บาทหลวงตาชารด์โดยสารขึ้นบกแดนสยามที่เมืองมะริดเพื่อนำพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ทรงมีมาถึงกษัตริย์สยามตั้งแต่ ค.ศ.1687 (พ.ศ.2230) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเพทราชา แต่โกษาปานปฏิเสธการต้อนรับ โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ราชทูตจากประเทศใหญ่เชิญพระราชสาส์นมาโดยเรือพื้นเมือง

– 26 มี.ค. จดหมายบาทหลวงตาชารด์ถึงโกษาปานตำหนิว่าเป็นคนหลอกลวงด้วยเมื่อตนติดต่อขอเข้ามาถวายพระราชสาส์นก็ได้รับคำตอบว่าให้เข้ามาได้แต่เมื่อมาถึงเมืองมะริดกลับได้รับแจ้งว่าให้กลับไป พร้อมกับได้สบประมาทว่า การที่ได้รับการขัดขวางก็เพราะเกรงว่าตนเองจะรู้ว่าการเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับไทยในเวลาที่ฝรั่งเศสจะยกออกจากบางกอกนั้นเป็นด้วยโกษาปานเป็นต้นเหตุ

– ปลาย มี.ค. บาทหลวงตาชารด์กลับไปเบงกอลโดยเรือแขกมัวร์ลำที่โดยสารมา พระเพทราชาไม่พอพระทัยโกษาปานด้วยไม่กราบบังคมทูลเรื่องบาทหลวงตาชารด์ขอเข้าเฝ้า

– 23 ส.ค. ม.โปรด์ มีจดหมายถึงบาทหลวงบริซาซิเยร์ ผู้อำนวยการสำนักมิสซังต่างประเทศว่าเป็นเรื่องถูกต้องที่โกษาปานไม่ต้อนรับบาทหลวงตาชารด์

ค.ศ.1698/ พ.ศ.2241

– พ.ย. บาทหลวงตาชารด์กลับมาที่เมืองมะริดอีกครั้งโดยเรือรบฝรั่งเศส เพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อพระเพทราชา คราวนี้โกษาปานตอบว่ายินดีต้อนรับ ด้วยเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามประเพณีตะวันออก

ค.ศ.1699/ พ.ศ.2242

– 29 ม.ค. พระเพทราชามีพระบรมราชานุญาตให้บาทหลวงตาชารด์ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระนครศรีอยุธยา โกษาถูกลงอาญาโบย พระเพทราชาทรงฟันจมูกโกษาปานขาด

ค.ศ.1700/ พ.ศ.2243

– มิ.ย. หรือ พ.ย. โกษาปานถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัดระหว่างถูกลงอาญาโบยหรือแทงตัวตาย