Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” กษัตริย์อีกองค์ในสมัย ร.4 กรมศิลปากรจัดงานรำลึกพระเกียรติคุณ

พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ หน้าโรงละครแห่งชาติ

เป็นเรื่องที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าเมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประเทศไทยหรือสยาม มีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศถึง 2 พระองค์

นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกพระองค์ ซึ่งเป็นพระอนุชาธิราชของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 กรมศิลปากร ร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิธีถวายราชสักการะ รำลึกถึงพระเกียรติคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ บริเวณโรงละครแห่งชาติ และบำเพ็ญกุศลถวายที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ยังจัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภา ที่หน้าพระบวรราชานุสาวรีย์  โรงละครแห่งชาติด้วย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี   พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2351 ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2394  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายพระนาม “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกของไทย นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์  ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า “ปี่พาทย์เครื่องใหญ่” เบื้องปลายพระชนม์ชีพประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2408

หากจะว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  เสด็จขึ้นครองราชย์ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

กล่าวคือพระองค์ได้รับการกราบทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์ พร้อมกับ “เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์” หรือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ก็ไม่มีการบอกถึงสาเหตุของการสถาปนากษัตริย์ขึ้นพร้อมกันถึง 2 พระองค์ในครั้งนั้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องแรกก็ยังไม่ทรงทราบถึงสาเหตุดังกล่าว กระทั่งมาทราบความเอาเมื่อล่วงถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จากคำบอกเล่าของ “เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี” (ท้วม บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี/นิทานที่ 19 เรื่อง “เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์”  ว่า “…เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ)  ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วย  เพราะพระชาตาแรงนัก…ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล…”

คำบอกเล่าข้างต้น ใส่หมายเหตุไว้ด้วยว่า “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงรับฟังต่อมาจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ อีกที  มิได้มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยตรง”

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว(ขวา)ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4(ซ้าย)
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดการแสดงและบรรเลงปี่พาทย์เสภา ที่หน้าพระบวรราชานุสาวรีย์ โรงละครแห่งชาติ
การเล่นประกอบระนาดแบบเดิม รวมเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า ปี่พาทย์เครื่องใหญ่
คณะของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

อย่างไรก็ตาม มีผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์ต่อมาภายหลังกล่าวว่าพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ไม่อาจแข่งรัศมีกับพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เลย แต่มีลักษณะที่ส่งเสริมกันมากกว่า

เหตุผลที่มีความเป็นไปได้มาก ว่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์ร่วมกับพระองค์ก็คือ พระองค์ทรงบวชอยู่นาน มีความเก่งกล้าทางวิชาการ แต่ขาดกำลัง จึงต้องตั้งพระอนุชาให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพื่อคานอำนาจของตระกูลบุนนาค  เนื่องจาก พระปิ่นเกล้าฯ เป็นเจ้าชายนักเลงโต มีสมัครพรรคพวกมาก

เท็จจริงประการใดเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ เพราะเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์  แต่ถึงอย่างไรการบริหารแผ่นดินของทั้งสองพระองค์ก็ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของประเทศในยุคต่อๆ มา

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

อธิบดีกรมศิลปากร ถวายราชสักการะและพวงมาลา ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ บริเวณโรงละครแห่งชาติ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมบำเพ็ญกุศลถวายที่พระที่นั่งพุทไธ สวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร