Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“หมา” เป็น “บรรพบุรุษ” ของมนุษย์ ในอุษาคเนย์ ยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ชาวอุษาคเนย์อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีตำนาน นิทาน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่กล่าวถึงน้ำท่วมโลกเลย อย่างดีก็แค่น้ำท่วมเมือง จมเมืองทั้งเมืองหายลับไปอยู่ใต้บาดาลพิภพ อย่างนิทานเรื่องเวียงหนองล่ม อะไรเทือกๆ นั้น

จนดูเหมือนว่าเรื่องของน้ำท่วมโลกที่คนอุษาคเนย์ โดยเฉพาะคนไทยรู้จัก จะเป็นเรื่องที่อิมพอร์ตมาจากที่อื่นอย่าง โนอาห์ของฝรั่ง หรือพระมนูของพวกพราหมณ์ เท่านั้น

ที่จริงแล้ว ในอุษาคเนย์ก็มีตำนานว่าด้วยน้ำท่วมโลกอยู่ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรื่องราวที่ถูกนำมาเน้นย้ำไม่ใช่ฉากตอนเกิดมหาอุทกภัยอะไรนั่น หากเป็นเรื่องราวอันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากภัยพิบัตินั้นต่างหาก

นิทานหลายเรื่องของกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ทางตอนใต้ของจีน ทางเหนือของเวียดนาม และลาว อย่างเผ่าตะเรียง และเผ่ากะตู เล่าไว้คล้ายๆ กันว่า เมื่อหลังน้ำท่วมโลก มีเพียงหมาตัวผู้ กับหญิงสาวชาวมนุษย์ ติดเกาะกันอยู่บนยอดเขาสูงชัน ที่น้ำท่วมขึ้นไปไม่ถึงแค่หนึ่งคน กับอีกหนึ่งตัว และมองไปข้างบนก็มีแต่ฟ้า แลมาข้างล่างก็เห็นแต่น้ำ มองไปข้างๆ ก็เจอแต่สายตาของกันและกัน แล้วจะให้มัวพูดพล่ามทำเพลงเรื่องอะไรกันอีกล่ะครับ?

ทั้งคู่จึงได้อยู่กินด้วยกันมาจนมีลูกมีหลาน แต่ลูกหลานที่ว่าดันเป็น “มนุษย์” อย่างเดียว แต่ไม่เห็นมีพูดถึงที่เกิดมาเป็นน้องหมานี่สิ

นิทานเรื่องนี้พยายามจะบอกกับคนฟังว่า “หมา” นี่แหละเป็นบรรพบุรุษของ “มนุษย์” เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องมนุษย์มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ (หรือสัญลักษณ์ชนิดอื่นๆ) ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีศัพท์วิชาการเรียกความเชื่อทำนองนี้ว่า “ลัทธิโทเทม” (Totemism, มาจากศัพท์ว่า “dodaem” ในภาษาโอชิปเว ของพวกอเมริกันอินเดียน ที่นักมานุษยวิทยาได้เริ่มศึกษาแนวคิดแบบนี้ และใช้ศัพท์คำที่ว่าเรียกลัทธิการบูชาบรรพบุรุษแบบนี้ทั่วทั้งโลกว่า ลัทธิโทเทม เหมือกันไปหมด)

ในขณะเดียวกัน หมาก็เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เพราะทำให้เกิดผลิตผลคือ ลูกหลาน ซึ่งหมายถึงแรงงาน ทั้งยังผูกโยงกับหลักประกันของผลิตผลต่างๆ แปลความอีกอย่างได้ว่า ในสังคมดั้งเดิม (primitive society) ของชนชาวอุษาคเนย์ไม่นับญาติข้างพ่อ (จะให้นับอย่างไร ก็ในเมื่อญาติข้างพ่อเป็นหมาไปเสียฉิบ) ในสังคมแบบนี้จึงมี “ผู้หญิง” เป็นใหญ่ในสังคม

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าการที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ในสังคม ผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ไปรบทัพจับศึก เหมือนชนเผ่าอเมซอนเนสตามปรัมปราคติของพวกกรีก ที่หนังฮอลลีวู้ดชอบนำมาผลิตซ้ำให้เราดู ผู้หญิงที่เป็นใหญ่ในสังคมแบบนี้จะเป็นผู้ครอบครองความรู้ หรือศาสตร์บางอย่างที่ถูกสงวนไว้ให้เป็นความลับสำหรับผู้เป็นหัวหน้า และสายตระกูล

“ความรู้” ที่เป็น “ความลับ” แบบนี้แหละครับคือ “อำนาจ”

ข้อเข้าใจผิดประการหนึ่งที่พบเห็นได้อยู่เสมอคือในสังคมดั้งเดิมแบบล่าสัตว์-หาของป่า (hunting-gathering society) ภาระหนักจะตกไปอยู่กับกลุ่มชนผู้ล่าสัตว์ ซึ่งโดยเหตุผลทางด้านสรีระแล้ว หน้าที่ดังกล่าวคงจะหนีไม่พ้นต้องเป็นของ “ผู้ชาย”

แต่ผู้ชายกลุ่มไหนจะล่าหมีป่า หมูป่า หรือกระจง ละอง ละมั่ง กันได้ทุกวันกันล่ะครับ เมนูอาหารอุดมไปด้วยโปรตีนเหล่านี้ไม่ใช่ของที่จะหากันมาได้เป็นประจำจนกระทั่งเริ่มมีการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบ มนุษย์ในยุคโบราณจึงพยายามที่จะมีการถนอมอาหารไม่ว่าจะด้วยการ ตากแห้ง ดองให้เค็ม หมักจนเหม็น หรืออีกสารพัดสารพันวิธีการ

หน้าที่ที่ถูกละเลยไปจนกลายเป็นตัวประกอบจึงกลายเป็นบทของ “การหาของป่า” ซึ่งที่จริงแล้วก็จำเป็นต้องใช้ “ความรู้” เป็นอย่างมาก

“ความรู้” ที่ว่าไม่ได้ได้มาง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะจำเป็นต้องสั่งสม “ประสบการณ์” กันมาอย่างยาวนาน ประสบการณ์ที่ว่ามีทั้งที่ลองผิดลองถูกมากมายเต็มไปหมด กว่าเราจะรู้ว่าเห็ดชนิดไหนกินได้ กินไม่ได้ ไม่รู้บรรพบุรุษนั่งเมา หรือนั่งหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่คนเดียวไปเท่าไหร่

นี่ยังไม่นับที่ดวงตกกินเห็ดพิษตายไปอย่างไม่เคยมีใครจดสถิติไว้

 “ความรู้” ที่ว่าก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความรู้ในการเก็บสะสมเสบียงกรังเท่านั้น ยังมีความรู้ในการจัดการบริหารชุมชนอยู่อีก เพียงแต่การจัดการบริหารที่ว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีหลักสูตรเปิดสอนกันให้เกร่ออยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในขณะนี้ แต่เป็นการจัดการบริหารความเชื่อ ก็ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ที่ปัจจุบันเราเหมารวมว่าเป็นไสยศาสตร์กันไปหมดนั่นแหละ

หน้าที่ในการติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้ล้วนแต่เคยเป็นเรื่องเฉพาะของ “ผู้หญิง” มาก่อนทั้งสิ้น ดูง่ายๆ ก็จาก รำผีฟ้า รำแม่สี ที่จะพูดให้ง่ายเข้าก็คือการเข้าทรงประเภทหนึ่ง ก็ล้วนแต่มีคนทรงเป็นผู้หญิงทั้งนั้น

จึงไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเลยที่ คำนำหน้าตำแหน่ง หรืออะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่ในภาษาไทยจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แม่ทัพ แม่น้ำ แม่พิมพ์ ไม่เคยมีคำไหนที่ขึ้นด้วยคำว่า “พ่อ” ซ้ำร้ายกลับเรียกผู้ชายที่แต่งงานว่า “เจ้าบ่าว”

ก็ “บ่าว” น่ะแปลว่า “คนรับใช้” ไม่ใช่รึ?

จึงไม่น่าประหลาดใจอีกเช่นกันที่ชนเผ่ามูซู และนาซี แถบมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน (ซึ่งหากจำแนกทางวัฒนธรรมแล้วเป็นชาวอุษาคเนย์ ไม่ใช่พวกจีนฮั่น) ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่าง “ชาย” และ “หญิง” ไม่จำเป็นจะต้องผูกมัดด้วยการแต่งงานกัน

เด็กที่เติบโตขึ้นมาในชนเผ่าทั้งสองนี้จะไม่รู้จักว่าใครคือพ่อของพวกเขา บางครั้งแม่ของเด็กเองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าใครเป็นพ่อของเด็กคนนั้น เพราะผู้ชายไม่ใช่สิ่งสำคัญในการให้กำเนิด และเลี้ยงดูเด็กๆ “แม่” ต่างหากล่ะ ที่สามารถให้น้ำนม และเลี้ยงดูเด็กๆ ซึ่งหมายถึง แรงงาน ผลผลิต และความอยู่รอดของเผ่าได้

ในสังคมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ “ผู้ชาย” ดูจะมีบทบาททางสังคมน้อยกว่า “ผู้หญิง” อย่างเห็นได้ชัด

และกว่าที่ผู้ชายจะมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าผู้หญิงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่ ก็นู่นแหละเมื่อรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากชมพูทวีปเข้ามาแล้ว

จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากอินเดีย อายุ 3,000-2,500 ปีมาแล้ว เขียนรูปหมาแสดงเครื่องเพศ อยู่คู่กับภาพผู้หญิงกำลังคลอดบุตร ที่ถ้ำเขาจันทน์งาม (ที่จริงเป็น เพิงผา ไม่ใช่ถ้ำ) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

นิทานอีกเรื่องที่เป็นหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องหมาเป็นบรรพบุรุษ ลัทธิโทเทมในอุษาคเนย์ และการที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในสังคม อาจจะเห็นได้จากนิทานของชาวไทลื้อเรื่องหนึ่งที่ว่า ครั้งหนึ่งหมารอให้มนุษย์นำอาหารมาให้ แต่หมาต้องรอคอยมานาน เพราะมนุษย์กำลังทำการบ้านอยู่กับเมียของตนเอง

หมารอจนทนไม่ไหวจนต้องขึ้นเรือนไปบอกมนุษย์ผู้นั้นว่าให้นำอวัยวะเพศมาแลกกัน เพื่อที่มนุษย์ผู้ชายจะได้มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และนำอาหารมาให้ตนได้เร็วขึ้น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมาจึงใช้เวลามีเพศสัมพันธ์นานกว่ามนุษย์

แต่ทั้ง “หมา” ในนิทานเรื่องนี้ และในนิทานน้ำท่วมโลก กลายมาเป็น “บรรพบุรุษมนุษย์” ในสังคมอุษาคเนย์แบบดั้งเดิม “หมา” ไม่ใช่สัญลักษณ์ของเพศ “ชาย” เลย

เพราะในสังคมที่ “ผู้หญิง” เป็นใหญ่ “หมา” ที่ศักดิ์สิทธิ์จะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “เพศชาย” ที่มีสถานภาพเป็นเพียงแค่ “ผู้บ่าว” ได้อย่างไรกัน?

ก็ขนาดจะสังวาสกันผู้ชายยังไม่มีสิทธิ์ ต้องให้ “หมา” มาเป็นผู้มาเสพเพศรสแทนเลยนี่ครับ หมาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในโลกนี้ต่างหาก

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี