เมื่อรักจะเที่ยวก็ต้องมีความรู้คู่กันไปด้วย…
เวลาไปเที่ยวยังโบราณสถานหรือวัง วัด ต่างๆ ตามอุทยานประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ในเมืองที่เป็นเมืองเก่า เช่น พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ กำแพงเพชร ฯลฯ สิ่งที่มักจะเห็นกันทั่วไปก็คือแผนผังของวัดที่ประกอบไปด้วยพระอุโบสถ พระวิหาร หรือเจดีย์ต่างๆ ซึ่งบางครั้งดูแล้วก็แยกกันไม่ออกว่าอันไหนคือพระอุโบสถ อันไหนคือพระวิหาร
ถ้าว่ากันตามคติโบราณแล้ว “พระวิหาร” จะถือเป็นสิ่งที่สำคัญในวัด สำคัญกว่าพระอุโบสถ โดยสังเกตจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง มักสร้างพระวิหารหลวงใหญ่อยู่หน้าเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถมีขนาดเล็กกว่า และแยกไปอยู่ห่างออกไปจากพระวิหาร
สมัยสุโขทัย พระวิหารหลวงจะสร้างอยู่หน้าวัด หน้าสถูปเจดีย์ อันเป็นหลักของวัด พอมาสมัยอยุธยาตอนต้น การสร้างพระอุโบสถจะอยู่หลังวัด โดยมีแปลนดังนี้คือ พระวิหารอยู่ข้างหน้า ถัดไปในแนวเดียวกันคือสถูปอยู่หลังพระวิหาร ส่วนพระอุโบสถอยู่ถัดสถูปออกไป โดยพระอุโบสถหันหน้าออกทางหลังวัด ดังเช่นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพุทไธศวรรย์ ที่พระนครศรีอยุธยา
สำหรับวัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จะมีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่มากอยู่หน้าพระเจดีย์ 3 องค์ ส่วนพระอุโบสถเขยิบมาอยู่ข้างหน้า เยื้องไปทางขวามือมีขนาดเล็กกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่าแปลนการสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้เปลี่ยนเอาพระอุโบสถมาไว้ข้างหน้า แต่ก็อยู่ในที่ที่ไม่สำคัญ คือไม่ใช่แกนหลักของวัด อย่างไรก็ตาม ข้อนี้อาจจะเป็นการยกเว้นเฉพาะวัดนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระแก้วในปัจจุบัน