Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยว “ตลาดหัวรอ” ตลาดสำคัญครั้งกรุงเก่า

ตลาดหัวรอ ด้านริมแม่น้ำป่าสัก สมัยรัชกาลที่ 5 ราษฎรลงเรือรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงในงานพระราชกุศลรัชมงคล ระหว่าง 29 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม พ.ศ. 2450

ตลาดหัวรอ

กรุงศรีอยุธยาในอดีตเมื่อ 400 ปี ยังมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเรื่อง “ทำนบรอ” (อ่าน ทำ-นบ-รอ) ซึ่งก็คือทำนบกั้นน้ำนั่นเอง  ในสมัยนั้นทำนบรอจะอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง บริเวณนี้มีลำน้ำสายใหญ่ 2 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำลพบุรี กับ แม่น้ำป่าสัก   แต่ด้วยเหตุที่กระแสน้ำมักไหลไปทางตะวันออกมากกว่าไปทางเหนือ ดังนั้น จึงต้องสร้างทำนบเพื่อชะลอกระแสน้ำให้ไหลไปทั้ง 2 ทางพร้อมๆ กัน ทำนบที่สร้างขึ้นนี้ก็คือ ทำนบรอ นั่นเอง

ด้วยว่าบริเวณทำนบรอเป็นริมฝั่งแม่น้ำ และเป็นชุมทางแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกัน จึงทำให้เกิดการตั้งเรือนแพค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นคนจีน กลายเป็น “ตลาดน้ำหัวรอ” ที่มีผู้คนมาซื้อขายสินค้ากันอย่างคับคั่ง  เส้นทางนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปในเมืองอื่นๆ ได้ อาทิ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี จึงกลายเป็นจุดการค้าที่สำคัญ อีกทั้งตลาดน้ำหัวรอยังตั้งอยู่ใกล้กับที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ในพระราชวังจันทรเกษม รวมถึงสถานที่ราชการอื่นๆ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ว่าการศาล หอทะเบียนที่ดิน จึงยิ่งทำให้ตลาดน้ำหัวรอเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีแพค้าขายรวมถึงเรือสินค้าเข้ามาอยู่เต็ม

ปี พ.ศ.2460 ตลาดน้ำหัวรอเริ่มมีการพัฒนาไปสู่การค้าทางบก โดยสร้างเป็นห้องแถวไม้หลังคามุงสังกะสี นอกจากร้านค้าแล้วยังมีโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ และโรงแรม เลยกลายเป็นศูนย์กลางของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ตลาดหัวรออยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายในตลาดยังคงมีร้านค้าทั้งเก่าและใหม่เกิดขึ้น ร้านค้าเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง เสื้อผ้า ตลาดเปิดขายตั้งแต่เช้าจนถึงราว 4 โมงเย็น ที่บริเวณท้ายตลาดมี “ศาลเจ้าแม่ต้นจัน” ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวชุมชนแห่งนี้

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย บอกเล่าเกี่ยวกับ “ตลาดหัวรอ” ว่า ยุคอยุธยา ในพระนครศรีอยุธยามีทำนบเบี่ยงเบนกระแสน้ำในแม่น้ำ แล้วยังใช้ประโยชน์เป็นสะพานข้ามแม่น้ำด้วย เรียกว่า “ทำนบรอ” ทุกวันนี้เรียก “หัวรอ”  ทางราชการยุคอยุธยาสร้างทำนบรอไว้ตรงหัวมุมเกาะเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่มีป้อมมหาไชย (ใกล้วังหน้า) เพื่อชะลอกระแสน้ำให้เฉลี่ยไหลไปทั้งสองทางพร้อมกัน ภายหลังต่อมาเรียกว่า “ตำบลหัวรอ” จนถึงทุกวันนี้ แต่ไม่มี “ทำนบรอ” ให้เห็นแล้ว

สุจิตต์ยังเล่าอีกว่า เอกสารจากหอหลวง (ยุคอยุธยา) ระบุว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ทำนบรอกว้าง 3 วา หรือราว 6 เมตร มีช่องกลางแม่น้ำสำหรับเรือใหญ่น้อยผ่านไปมา เป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฟาก ตรงกลางที่มีช่องให้เรือผ่าน ปูกระดานเป็นสะพานช้าง ชักเข้า-ออกได้ เพื่อให้สมณ ชีพราหมณ์ผู้คนทั่วไป รวมทั้งช้าง ม้า และเกวียนราชการผ่านเข้าออกพระนคร แล้วมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามช้างม้าวัวควายเกวียนของราษฎรเดินข้ามเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินข้ามได้ แต่ต้องมีใบบอกมาบอกก่อน

สองฝั่งแม่น้ำลพบุรีบริเวณตลาดหัวรอปัจจุบัน
ด้านหน้าทางเข้าตลาด
ห้องแถวไม้หลังคามุงสังกะสี เป็นร้านค้าตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ตลาดหัวรออยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายในตลาดยังคงมีร้านค้าทั้งเก่าและใหม่เกิดขึ้น ร้านค้าเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี

ทำนบรอนี้พวกมอญในกองทัพหงสาวดีสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2099 ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงสาวดียกกองทัพมาทำสงครามล้อมกรุง แล้วมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเป็นทำนบรอ ถมดินทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำยกเข้ากรุง ภายหลังต่อมาไม่ได้ทำลายรื้อถอน เอาไว้ใช้เป็นสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้โดยสะดวก เมื่อทำนบรอเก่าของพวกมอญนั้นผุพังไป ฝ่ายไทยก็ซ่อมแปลงผลัดเปลี่ยนต่อมาเนืองๆ จนเป็นสะพานใหญ่

สิ่งที่สุจิตต์ต้องการสะท้อนให้เห็นก็คือ “..วิถีชีวิตในประวัติศาสตร์สังคมยุคอยุธยาที่ยกมานี้ ไม่มีบอกในประวัติศาสตร์แห่งชาติ และไม่มีแสดงไว้ที่ไหนๆ ทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (อยุธยา)และบริเวณตลาดสดหัวรอ (ที่รื้อป้อมมหาไชยออกไปสร้างตลาดแทน) ก็ไม่มีหุ่นจำลองไว้ให้คนรู้…”

ร้านค้าในตลาดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง เสื้อผ้า ตลาดเปิดขายตั้งแต่เช้าจนถึงราว 4 โมงเย็น

ความเห็นของสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอีกมุมมองหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ ที่อยากแบ่งปันความรู้ไปสู่สาธารณะในแบบที่มองเห็นทะลุปรุโปร่งและเข้าใจที่มาที่ไปของสถานที่นั้นๆ ซึ่งที่จริงเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์  อย่างไรก็ดี หากไปถึงตลาดหัวรอ หลังเสร็จสิ้นการเดินสำรวจแล้ว อย่าลืมแวะหาของอร่อยรับประทาน

เขาว่าที่ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของกินราคาถูกและดี มีทั้งก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ผลไม้ และขนมนมเนยสารพัด 

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ศาลเจ้าแม่ต้นจัน ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวชุมชนแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บริเวณท้ายตลาด
ทางเดินข้ามแม่น้ำ เป็นสะพานคอนกรีต สามารถเดินจากตลาดหัวรอ ไปวัดแม่นางปลื้มได้
ภายในตลาดมองเห็นทางไปวัดแม่นางปลื้ม สามารถเดินไปได้สบายๆ
สภาพและบรรยากาศบริเวณตลาดหัวรอในอดีต เครดิตภาพเก่า: ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าแจ๋ว