Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เมื่อรัชกาลที่ 6 ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่

เมื่อรัชกาลที่ 6 ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังทรงเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ กลับพระนครในปลาย พ.ศ. 2445 และได้ทรงผนวชใน พ.ศ. 2447 แล้ว พระองค์ก็ยังทรงครองพระองค์เป็นโสดต่อมา หาได้มีวี่แววว่าจะทรงเลือกหญิงใดมาเป็นคู่ครอง จนพระชนมายุ 30 พรรษา

จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงวิตกว่าจะไม่มีพระราชโอรสเพื่อสืบราชตระกูล สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชประสงค์ให้ทรงเลือกคู่ และออกพระโอษฐ์กับพระองค์อยู่บ่อยครั้งว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้พระองค์มีพระชายา เจ้าฟ้าหญิงที่ทรงเลือกให้นั้น เป็นเจ้าฟ้าหญิงพระราชธิดาของทูลกระหม่อมรัชกาลที่ 5 กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระนามว่า “เจ้าฟ้าหญิงน้อย” (สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล) ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น

แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่มีพระราชประสงค์จะเลือกพระขนิษฐาของพระองค์เป็นพระชายา ข้อนี้พระองค์ทรงพระราชปรารภตั้งแต่ครั้งเสด็จฯ กลับจากยุโรป ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า………

“ในวันที่ 17 ตุลาคมนั้นได้มีเรื่องเนื่องด้วยตัวฉันซึ่งจะเล่าให้เธอทราบ(เจ้าพระยารามราฆพ-(เฟื้อ พึ่งบุญ ) คือฉันได้ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ เวลาบ่ายวันที่ 17 นั้นได้มีงานที่วังสราญรมย์เปน 2 อย่างรวมกัน อย่าง 1 คือ เสด็จแม่ทรงทำบุญพระบรมอัษฐิทูลกระหม่อมปู่ และอีกอย่าง 1 มีสวดมนตร์ในการทรงหล่อพระสมาธิ ที่จะได้ไปประดิษฐานในศาลาที่บรรจุพระอังคารของพระชนนี (คือสมเด็จพระปิยามาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ที่วัดราชาธิวาศ ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย

ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ 1 และทรงแนะนำว่าหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล) เปนผู้ที่ทรงเห็นเหมาะ แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด”

เหตุที่พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์เช่นนั้น สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงจบการศึกษามาจากยุโรป ประเพณีการแต่งงานกับน้องสาวนั้นชาวยุโรปไม่นิยมกัน และพระองค์น่าจะทรงกังวลในด้านหลักของการแพทย์ด้วย เพราะถ้าบุคคลที่เป็นสายเลือดเดียวกันมาแต่งงานกัน พอมีบุตรจะส่งผลร้ายต่อบุตรเสี่ยงที่จะผิดปกติ อาจจะมีความพิการทางด้านร่างกาย หรือพิการทางสมอง ดังนั้นสาเหตุนี้เองพระองค์จึงไม่มีพระราชประสงค์จะเลือกพระขนิษฐาของพระองค์มาเป็นพระชายาอย่างแน่วแน่ในพระราชหฤทัย ดังความในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“ส่วนตัวฉันไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเดิมเลย คงดื้อดันมั่นอยู่ว่าไม่ยอมเลือกน้องเปนเมีย ในข้อนี้ฉันต้องเถียงกับใครๆ มากมายจนเหลือที่จะจดจำ บางคนขู่ว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะนับว่า  เปนอันผิดราชประเพณี แต่ในข้อนี้ฉันชี้แจงว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงได้น้องเปนพระชายาก็เคยมีมา 2 พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเปนพระมเหษีพระองค์ 1, กับทูลกระหม่อมของฉันอีกพระองค์ 1. (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)”

_____________________________________________________________________

บทความจาก วรชาติ มีชูบท “เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2558)

_____________________________________________________________________

หมายเหตุรูป:ภาพต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ลงสีโดย เซบัสเตียน พีท

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล